ความสามารถแข่งขัน IMD ไทยร่วง 5 อันดับ ผู้นำไทย ตามไม่ทันผู้นำโลก
ที่ผ่านมาภาคธุรกิจแบกภาระคะแนนความสามารถในการแข่งขันของชาติ ที่ถูกประเมินโดย IMD มาโดยตลอด บางปีประคองวงอยู่ลำดับเท่าเดิม บางปีเบ่งให้คะแนนเพิ่มขึ้นหลายอันดับ แต่ปีนี้อ่อนแรงแบกไม่ไหวแล้ว ลำดับความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยจึงตกลงมา 5 อันดับ
อะไรที่ผู้นำรัฐบาลไทยไม่ทำ หรือทำไม่สำเร็จ แต่ผู้นำประเทศอื่นทำได้ แซงหน้าเราไปแล้ว
1.การบริหารงานภาครัฐตกต่ำที่สุด การเมืองสร้างปัญหาการจัดการภาครัฐ และข้าราชการร่วมใจประคองวงแบบไม่ทำไม่ผิด นิ่งเฉยเอาตัวรอด ไม่ยอมเสี่ยงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เราไม่สามารถแปลยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติได้จริง ปีที่ผ่านมาเราแทบไม่เห็นผลงานของรัฐบาลที่โดดเด่นช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันของชาติได้เลย ไม่มีโครงการส่งเสริม New S Curve ที่เห็นผล มีแต่เรื่องแจกเงินดิจิทัล แบบกะปริดกะปรอยไม่ถ้วนหน้า และการทุ่มเทผลักดัน “กาสิโน” และ “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ซึ่งมีผู้คัดค้านมากมาย คะแนนที่ลดลงมากสุด 10 อันดับคือ “การบริหารงานภาครัฐ” ที่ขาดประสิทธิภาพ และเต็มไปด้วยทุจริตคอร์รัปชัน ผลรวมคือ ปีนี้ประสิทธิภาพภาครัฐของเราลดลง 8 อันดับแบบดิ่งเหวจากอันดับ 24 สู่อันดับ 32
2.สมรรถนะทางเศรษฐกิจก็ลดลงต่อเนื่อง เครื่องยนต์ดับทั้งส่งออก และท่องเที่ยว ประเทศเพื่อนบ้านชิงตลาดไปแล้ว นักลงทุนไปประเทศที่มีอนาคตกว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างจริงจัง ปล่อย SME ถดถอยเสียความสามารถ การขับเคลื่อนโครงการ Flagship ใหญ่ ๆ ตามที่สัญญาไว้แทบทำไม่ได้เลย ผลคือสมรรถนะทางเศรษฐกิจลดลง 3 อันดับ ซึ่งถูกดึงด้วยการลงทุนระหว่างประเทศจะลดลงมาถึง 10 อันดับ
3.โครงสร้างพื้นฐานสำคัญก็ร่วง จากอันดับที่ต่ำอยู่แล้ว ปีนี้ลดลงมาอีก 4 อันดับ จากอันดับที่ 43 ไปอยู่อันดับที่ 47 โดยเฉพาะเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงสร้างด้านเทคโนโลยี สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ที่มีคุณภาพต่ำมาก การพัฒนาทุนมนุษย์ที่อ่อนด้อยนี่เองจะเป็นตัวถ่วงใหญ่สำหรับอันดับในอนาคต
4.ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจจึงร่วงตามลงมา เพราะนักธุรกิจที่อยู่ด่านหน้าหมดแรง ไม่สามารถแบกรับการขาดประสิทธิภาพของการทำงานของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีแต่สัญญาณถดถอย จึงร่วงลงมา 4 อันดับ จากอันดับที่ 20 ลงมาอยู่อันดับที่ 24 โดยมีปัจจัยสำคัญคือ เรื่องการเงินที่ตกลง 12 อันดับ จากผลของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ดิ่งเหว ฟื้นตัวไม่ขึ้น ขาดความเชื่อมั่น ถึงแม้จะพยายามที่จะแต่งตัวด้านความยั่งยืนด้วย ESG แต่ส่วนใหญ่เป็น ESG แต่เปลือกที่โชว์ไว้ในรายงาน และการประชาสัมพันธ์ ยังไม่ลงไปในยุทธศาสตร์การแข่งขันใน DNA ขององค์กร
ภาพรวมคือ ความสามารถการแข่งขันของชาติปีนี้ร่วงลงมา 5 อันดับจากอันดับที่ 25 ลงมาอันดับที่ 30
แล้วปีหน้า เรามีโอกาสดีดตัวขึ้นไปที่เดิม หรือดีขึ้นได้หรือไม่ คำตอบคือขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำ และโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี ว่ามีอะไรใหม่ มีประวัติการทำงานที่สร้าง New S Curve มาหรือเปล่า หรือเพียงแค่แจกจ่ายเก้าอี้ดนตรี
ปีหน้าหนักกว่าเก่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลก ความเสี่ยงจากภัยสงคราม การแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยี AI และปัญหาความไม่ยั่งยืน SDG ทั้ง 17 มิติ ผู้นำประเทศคนไหนเก่งจริง จะได้รู้กัน
ภาคธุรกิจมีข้อเสนอเร่งด่วนดังนี้
1.ให้ Focus จุดแข็งของประเทศ และลงทุนในอุตสาหกรรมที่จะสร้าง New S Curve ได้รวดเร็ว เช่น การเกษตรมูลค่าสูง อาหารอนาคต การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเขตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แบบยั่งยืน
2.เร่งปรับประสิทธิภาพของระบบราชการไทย เอาจริงกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของข้าราชการ อย่าให้เกียร์ว่างประคองวง กำหนดผู้รับผิดชอบเรื่องความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ชัดเจน สร้าง one stop service บูรณาการควบรวมหน่วยงาน ลดขนาดเพิ่มประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยี AI เพิ่มความสามารถ ที่สำคัญให้ปราบปรามทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง อย่าเพียงยกมือไขว้ถ่ายรูปหมู่เชิงสัญลักษณ์
3.การพัฒนาความสามารถทางธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ให้ความสำคัญกับ SME และห่วงโซ่ธุรกิจ นำนวัตกรรมที่อยู่บนหิ้งมาปั้นเป็นธุรกิจสร้างความสามารถใหม่ Innovation Driven Enterprise (IDE) รวมทั้งลงทุน Reskill/ Upskill คนที่ทำงาน และเตรียมแหล่งทุนใหม่สนับสนุนอุตสาหกรรม New S Curve
4.ลงทุนในโครงส้างพื้นฐาน ทั้งที่เป็นกายภาพต่าง ๆ ทั้งที่ส่งเสริมระบบการทำงานหลัก และที่สำคัญคือ ลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างจริงจัง ให้เก่งพอที่จะแข่งขันกับชาวโลกได้
ฟังดูเหมือนเสียงเอคโคเดิม ๆ ที่ขอกันทุกปี แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง และหลายเรื่องแทบจะเป็นอุดมคติที่ไม่มีผู้นำคนใดกล้าแตะ กล้าเปลี่ยน แปลง ยิ่งเสนอคะแนนยิ่งลดลงทุกปี หรือผู้มีอำนาจให้ความสำคัญกับการแบ่งเค้ก มากกว่าความสามารถการแข่งขันของชาติ.