‘เราใส่ใจโลก แต่เหมือนเขาไม่ได้ใส่ใจอะไรเลย’ รักษาความสัมพันธ์อย่างไรในวันที่เราให้คุณค่าไม่เหมือนกัน
แม้ทุกวันนี้การใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายดายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน หลายๆ คนเริ่มตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การพกขวดน้ำไปเองไม่ใช่เรื่องแปลก การใช้ถุงผ้าทุกครั้งที่จ่ายตลาดเป็นเรื่องปกติ แฟชันสินค้ามือสองก็กลับมาฮิตอีกครั้ง เรียกได้ว่าการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทบจะเป็นบรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่
เรื่องแบบนี้ถ้าเกิดว่าเราใช้ชีวิตอยู่กับคนไลฟ์สไตล์เหมือนๆ กันก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่จะทำยังไงถ้าเกิดคนรักที่ตัวติดกัน ดันเป็นคนไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จะให้ทำเป็นมองไม่เห็นเลยก็คงไม่ไหว เพราะพฤติกรรมซิงเกิลยูสมันเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน แถมยังมองว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันเป็นเรื่องยากเกินความจำเป็นอีกต่างหาก
ไม่ต่างจากไลฟ์สไตล์เรื่องอื่นๆ ถ้าความเห็นไม่ตรงกันก็สร้างความร้าวฉานได้ง่ายๆ แต่ถ้าไม่นับเรื่องนี้เรากับเขาก็เข้ากันได้ดีทุกอย่าง แล้วจะมีวิธีไหนที่ทำให้ความสัมพันธ์ยังแข็งแรงเหมือนเดิมบ้างนะ
ทำไมเรากับเขาถึงจริงจังสิ่งแวดล้อมต่างกัน
แม้เรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะใส่ใจสิ่งแวดล้อมเหมือนๆ กัน
หลายครั้งที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักตื่นตัวในกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า เช่น กิจกรรมหลายๆ อย่างที่เป็นมิตรกับโลกภายในบ้าน อย่างการแยกขยะ ล้างขวดพลาสติก การซ่อมแซมเสื้อผ้า หรือเลือกวัตถุดิบใส่ตู้เย็น ภาระเหล่านี้มักตกเป็นของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกเหนือไปจากในครัวเรือนแล้ว ชนกลุ่มน้อย ผู้ลี้ภัย หรือคนไร้บ้าน ก็มักเป็นคนที่ได้รับผลจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนอื่นๆ
สอดคล้องกับผลสำรวจของบริษัทวิจัยด้านการตลาด Mintel ในลอนดอนพบว่า 71% ของผู้หญิงพยายามใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ชายที่มีเพียง 59% เท่านั้น โดยพฤติกรรมที่สำรวจรวมถึงการรีไซเคิล การประหยัดน้ำ และการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร
แล้วทำไมการใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่เท่ากันกลายเป็นปัญหานะ? เคที เฮยส์ (Katie Hayes) นักวิจัยด้านสุขภาพจิตและสภาพอากาศ อธิบายว่าบางครั้งการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมก็อาจเพิ่มความเครียดได้เช่นกัน คนที่หมกมุ่นกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การเก็บถุงพลาสติกไว้ใช้ซ้ำมากเกินไป ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งในการรับมือกับความวิตกกังวลด้วยเช่นกัน และยิ่งเจอคู่ที่ไม่ได้ช่วยเหลือด้านนี้ด้วย ก็อาจทำให้ยิ่งรู้สึกเหนื่อยล้าได้มากกว่าเดิม
เป็นเรื่องปกติหากเราและคนรักจะเห็นแตกต่างกันบ้าง เพราะแต่ละคนต่างก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมกลับเป็นประเด็นที่คู่รักมักมีความเห็นที่ต่างกันค่อนข้างมาก งานวิจัยจาก Yale Program on Climate Change Communication ได้สำรวจคู่รักเกี่ยวกับความเชื่อและพฤติกรรมสิ่งแวดล้อม จำนวน 758 คู่ ปรากฏว่ามีเพียง 38% เท่านั้นที่มีความเชื่อเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเหมือนกัน และมีเพียง 31% ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน
จากตัวเลขนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีคู่รักจำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นแตกต่างกันเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และนั่นก็ยังคงทำให้ความอึดอัดใจยังคงเกิดขึ้นกับใครหลายคน เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาที่สำคัญต่อชีวิตคู่จนถึงขนาดต้องบอกเลิกได้เลย
แม้ว่าเขาคนนั้นจะรักการนั่งเครื่องบินบ่อยๆ หรือชอบใช้ผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งเพราะสะดวก แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่ปัญหาที่เกิดผลกระทบขึ้นเร็วๆ นี้สักหน่อย การโฟกัสกับปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญและ (พยายาม) เลิกสนใจเรื่องเล็กๆ เหล่านี้ไป
รักษาความสัมพันธ์อย่างไรถ้าเชื่อไม่เหมือนกัน
การให้คุณค่ากับสิ่งหนึ่งร่วมกันก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นในความสัมพันธ์
เบคกี้ ฮูลสตัน (Becki Houlston) นักจิตบำบัดจากอังกฤษ อธิบายว่าคุณค่า (Values) เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ถ้าคนหนึ่งมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ แต่อีกคนกลับมองว่าเป็นเรื่องเล็ก
ก็อาจทำให้เกิดการทะเลาะตามมาอยู่ดี เพราะเมื่ออีกฝ่ายไม่เคารพ หรือให้คุณค่ากับสิ่งที่เราให้ความสำคัญ ทำให้เรารู้สึกเหินห่างกันได้
เมื่อลองมองให้ดีไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็ไม่ต่างจากปัญหาในชีวิตคู่เรื่องอื่นๆ
ที่แต่ละฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหากัน หากมองแล้วว่านอกจากเรื่องนี้แล้ว ด้านอื่นๆ ของอีกฝ่ายก็ไม่ได้มีข้อเสียอะไร และยังอยากรักษาความสัมพันธ์นี้อยู่ The Ethicalist สื่อไลฟ์สไตล์ด้านความยั่งยืนก็ได้แนะนำวิธีจากผู้เชี่ยวชาญที่ทำให้อีกฝ่ายหันมาเข้าใจเรามากขึ้น
เริ่มจากเรื่องเล็กๆ– ลองชวนให้อีกฝ่ายทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำได้ง่ายๆ เช่น ให้ถุงผ้าสุดเก๋เป็นของขวัญ และให้เขาพกไปไหนมาไหนมาบ่อยๆ วิธีนี้ช่วยให้อีกฝ่ายมีแรงบันดาลใจทำต่อ และไม่สร้างความลำบากใจให้ด้วย
ทำข้อตกลงร่วมกัน – ลองสร้างกติการ่วมกัน ที่ทำให้การใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสนุกขึ้น เช่น ถ้าในระยะทางไม่เกิน 700 เมตร จะเดิน หรือปั่นจักรยานแทนการใช้รถ หรือลองเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องบิน เพื่อรับประสบการณ์ใหม่ ถ้าอีกฝ่ายเห็นว่าการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสนุก เขาอาจจะเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมมากขึ้นก็ได้
ระวังน้ำเสียง – เข้าใจว่าเวลาเราให้ความสำคัญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ เราอาจจะเผลอหงุดหงิดใส่อีกฝ่ายได้ง่าย ถ้าเห็นว่าเขาไม่ได้คิดเหมือนกัน ซึ่งหากใช้อารมณ์พูดคุยก็อาจยิ่งทำให้อีกฝ่ายถอยห่างได้ ทางที่ดีพยายามทำความเข้าใจมุมมองอีกฝ่าย และชักชวนด้วยการอธิบายว่าทำไมการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญกับเขา เช่น ทำให้สุขภาพดีขึ้น หรือลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า
เสนอความช่วยเหลือ – การเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตจากความเคยชินไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แถมเริ่มแรกยังต้องใช้ข้อมูลอย่างมากอีกด้วย จึงไม่แปลกหากอีกฝ่ายจะยังไม่อยากเปลี่ยนทันที ระหว่างนี้เราอาจเสนอตัวช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำร้านค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม วิธีสังเกตประเภทขยะก่อนทิ้ง หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ทำให้การใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมง่ายขึ้น
เข้าร่วมกลุ่ม – สุดท้ายหากเรารู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุน หรืออีกฝ่ายไม่นำไปปรับใช้ได้ง่ายๆ การเข้าร่วมกลุ่มกับคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกันก็อาจทำให้เรารู้สึกดีขึ้น อย่างน้อยก็เป็นการรักษาตัวตนของตัวเองด้วยการเจอคนที่เชื่อสิ่งเดียวกัน ไปพร้อมๆ กับการรักษาความสัมพันธ์ครั้งนี้
หากสุดท้ายแล้วการโน้มน้าวให้อีกฝ่ายมาเชื่อเหมือนกันเป็นเรื่องที่ยากลำบากเกินไป การหันกลับมารักตัวเอง ก็อาจช่วยรักษาใจเราไว้ได้เหมือนกันนะ
อ้างอิง