‘อุตส่าห์ประสบความสำเร็จ แต่ไม่เห็นเพื่อนมากดไลก์’ เหตุใด ‘เพื่อนสนิท’ ไม่คิดอยากดีใจ เมื่อเรากำลังมีความสุขในชีวิต
หลายคนอาจสงสัย ทั้งที่เราลงโพสต์ หรือสตอรีเกี่ยวกับความสุข ความสำเร็จบางอย่าง แต่ทำไมไม่เห็น ‘เพื่อนสนิท’ บางคนมากดไลก์ มาตอบกลับสตอรี หรือมาคอมเมนต์แสดงความยินดีเลย ขณะที่คนอื่นๆ ที่เราอาจไม่ได้สนิทขนาดนั้นกลับมากดไลก์ให้ คอมเมนต์ชื่นชมยินดีกันกระหน่ำ
แบบนี้มันแปลกไหม? ทั้งที่คนที่เรารู้สึกสนิทด้วย และเขาก็สนิทกับเราเหมือนกัน ควรจะเป็นคนแรกๆ ที่มาแสดงความยินดี หรือดีใจด้วย แต่กลับเงียบกริบ ขณะที่โซเชียลของเขาก็ลงโพสต์ หรือแชร์สิ่งอื่นตามปกติที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรา
แต่คิดแบบแฟร์ๆ บางครั้งเราเองก็ทำเช่นนั้นกับเพื่อนเหมือนกันใช่ไหม
ถึงเป็นอย่างนั้น เมื่อเราและเพื่อนได้เจอกัน ทุกอย่างก็กลับเป็นปกติ เรายังสนิทกันเหมือนเดิม อาจจะมีพูดถึงความสำเร็จของต่างคนบ้าง แต่ก็เพียงเท่านั้น เพราะ ‘เรื่องอื่นๆ’ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสุข ความสำเร็จ ยังคงเป็นหัวข้อพูดคุยที่สนุกสนานระหว่างกันเช่นเดิม
ความจริงแล้ว แม้ไม่ได้แปลว่าเพื่อนเกลียดเรา แต่มันก็มีสาเหตุหลายประการที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการกระทำเช่นนี้
แล้วสิ่งเหล่านั้นคืออะไรกันแน่?
อิจฉาเพราะยังทำไม่ได้
สำหรับบางคน การเห็นเพื่อนสนิทประสบความสำเร็จ มันสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเขา ‘ยังไม่มี’ หรือ ‘ยังทำไม่ได้’ เช่น ถ้าเราได้งานใหม่ที่ดี มีความสัมพันธ์ที่มั่นคง หรือแม้กระทั่งอย่างการได้ไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นไปได้ว่าเพื่อนอาจนำไป ‘เปรียบเทียบ’ กับชีวิตตัวเองโดยอัตโนมัติ และรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า หรือไม่ได้ประสบความสำเร็จในแบบเดียวกัน ความรู้สึกนี้อาจทำให้เพื่อน ‘อึดอัด’ ที่จะแสดงความยินดี เพราะลึกๆ แล้วพวกเขารู้สึกพ่ายแพ้ หรือถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยไม่ตั้งใจ
ความรู้สึกขัดแย้งที่ค้างคาในใจ
ในความสัมพันธ์ระยะยาว โดยเฉพาะรูปแบบเพื่อน อาจมีเรื่องเล็กๆ ที่ต่างฝ่ายไม่เคยพูดออกมา อย่างเช่นความรู้สึกว่าสนิทกันอยู่ฝ่ายเดียว หรือเคยรู้สึกถูกอีกฝ่าย ‘เมิน’ ในเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ ความรู้สึกเหล่านี้แหละ ที่อาจสะสมเป็นตะกอนในใจ และเมื่อเราประสบความสำเร็จ มันจึงกระตุ้นอารมณ์ด้านลบเหล่านั้นให้ฟุ้งขึ้นมา ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกห่างเหิน หรือไม่เต็มใจจะร่วมยินดี ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เกลียดเราก็ตาม
ความรู้สึกของคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ลองนึกภาพว่ามีเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มก้าวหน้าในเรื่องการงาน ได้ปรับตำแหน่งเป็นหัวหน้า ได้รับมอบหมายงานที่ใหญ่และมีผลกระทบต่อระดับสังคม บางคนอาจได้แต่งงาน สร้างครอบครัว หรือประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่ง อาจมีเพื่อนบางคนที่รู้สึกเหมือน ‘ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’ ขณะที่คนหนึ่งมุ่งไปข้างหน้า แม้เขาอาจไม่ได้อิจฉาเราโดยตรง แต่อาจรู้สึกโดดเดี่ยว หรือกลัวว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนจะเปลี่ยนไป เช่น เราอาจไม่มีเวลาให้เขาอีกแล้ว จึงเลือกที่จะขอ ‘ถอยห่าง’ แบบเงียบๆ โดยไม่แสดงความยินดีต่ออะไรเลยแทน
ปัญหาชีวิตส่วนตัวที่ไม่มีใครรู้
แน่นอนว่าแต่ละคนย่อมมีเงื่อนไข หรือปัญหาเฉพาะตัวที่แม้กระทั่งบางเรื่องเราเองก็ยังไม่รู้ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล คิดเยอะ หรืออาจกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากในชีวิต จึงไม่สามารถแสดงความรู้สึกดีใจกับความสำเร็จของเราได้ แม้จะอยากทำก็ตาม เพราะบางครั้งแม้กระทั่ง ‘รอยยิ้ม’ ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากสำหรับพวกเขา ดังนั้นการไม่แสดงออกอาจไม่ได้แปลว่าเขาไม่แคร์ แต่เขาแค่กำลังต่อสู้กับสิ่งที่เราอาจมองไม่เห็นเท่านั้น
มุมมองต่อความสำเร็จที่ต่างกัน
ความสำเร็จถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล ขณะที่เราอาจดีใจที่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่เพื่อนสนิทอาจสนใจในสิ่งที่เรียบง่ายกว่านั้น เช่น การได้อยู่บ้าน หรือความสงบทางใจ ซึ่งเป็นเรื่อง ‘ระหว่างเพื่อน’ ที่ต้องทำความเข้าใจกัน เพราะหากเพื่อนสนิทของเรามองความสำเร็จในรูปแบบที่ต่างออกไป เขาก็อาจรู้สึกว่าเรื่องที่เราดีใจ หรือภูมิใจไม่ใช่เรื่องที่ต้องฉลองขนาดนั้น พูดง่ายๆ คือเพื่อนอาจไม่ได้อินในสิ่งที่เราอินเท่านั้นเอง
เป็นแค่ตัวประกอบมันก็ต้องน้อยใจกันบ้าง
บางคนที่เป็นเพื่อนสนิทกันมากๆ และคิดว่าเขาคอยซัพพอร์ตเรามาตลอด แต่ตอนที่เขาต้องการความช่วยเหลือในบางเรื่อง หรือกำลังใจ กลับไม่ได้รับจากเรา เมื่อเราประสบความสำเร็จ เขาอาจรู้สึกเหมือนว่าตัวเองเป็นแค่ ‘ตัวประกอบ’ ในชีวิตเราเท่านั้น และอาจเริ่มครุ่นคิดว่า เรามองเห็นความสำคัญในตัวเขาจริงไหม การไม่ได้แสดงความยินดีจึงอาจเป็นการแสดงออก ‘เชิงเงียบ’ ของความน้อยใจก็ได้
แม้ว่าเราเองก็คาดหวังให้เพื่อนที่รู้สึกสนิทด้วยที่สุดแสดงความยินดีกับความสำเร็จเล็กใหญ่ในชีวิต แต่เพราะเรื่องของความสัมพันธ์นั้นมีรายละเอียดที่ซับซ้อน ไม่เว้นแม้แต่กับเพื่อนสนิท บางครั้งจึงอาจมีการกระทำบางอย่างที่ถูกแสดงออกอย่างขัดแย้งกับความสัมพันธ์ที่เราคิดว่าดีก็ได้ เช่น เรื่องการแสดงความยินดีดังที่ได้อ่านไป
แต่ขึ้นชื่อว่าความสัมพันธ์ระยะยาว การยอมรับและทำความเข้าใจกัน น่าจะเป็นผลดีกว่าการต้องมานั่งไม่เข้าใจกันก็ได้