UTA จี้ กพอ.เคาะสิทธิประโยชน์ พร้อมสร้าง ‘เมืองการบินอู่ตะเภา’
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2568 วันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ณ ห้องประชุมสำนักงานรัฐมนตรี อาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นเลขานุการการประชุมฯ ทั้งนี้ กพอ. ได้พิจารณา และมีมติ ดังนี้
1.รับทราบปัญหาอุปสรรค และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังการลงนามสัญญาร่วมทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งผลกระทบต่อความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการฯ และอาจมีผลให้เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถดำเนินโครงการได้ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาครัฐ และเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี รับทราบปัญหาอุปสรรคดังกล่าว และมอบหมายให้ สกพอ. เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทั้งหมดบนพื้นฐานความสมเหตุสมผล เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการฯ และเกิดการลงทุนได้จริง
2.อนุญาตให้ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการพลังงาน ตามอำนาจมาตรา 37 (4) แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ในเขตส่งเสริม เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) โดยการอนญาตเป็นไปตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน
ทั้งนี้การอนุญาตดังกล่าว ครอบคลุมถึง
1) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 18 เมกะวัตต์
2) การจำหน่ายไฟฟ้า ขนาดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 15 เมกะวัตต์ ให้แก่กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ระยะเวลา 25 ปี
3) การอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) ลำดับที่ 88 (1)
4) การอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พ.ค.2) เป็นระยะเวลา 4 ปี
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในฐานะผู้ถือหุ้น บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA โดยระบุว่า ขณะนี้ UTA ได้เสนอไปยังอีอีซี เพื่อขอปรับแผนการพัฒนาโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยเฉพาะในส่วนของท่าอากาศยานอู่ตะเภา ด้วยเนื่องขณะนี้สถานการณ์การเดินทางของผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ทำให้ UTA เสนอขอลดสเกลการลงทุนในระยะที่ 1 รองรับ 3 ล้านคน
โดยการปรับลดสเกลการลงทุนนั้น เปลี่ยนไปจากแผนเดิมการพัฒนาระยะที่ 1 จะต้องรองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคนต่อปี และหลังจากสถานการณ์โควิดทำให้ UTA ปรับลดสเกลการลงทุนระยะที่ 1 รองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปีก่อน และล่าสุดเมื่อปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งขณะนี้โครงการต้องเดินหน้าโดยไม่มีไฮสปีดเทรน จึงจะทยอยก่อสร้างระยะที่ 1 รองรับผู้โดยสารเพียง 3 ล้านคนต่อปีก่อน จากนั้นหากจำนวนผู้โดยสารเติบโตขึ้นก็จะทยอยลงทุนให้รองรับได้ที่ 6 ล้านคนต่อปี และ 12 ล้านคนต่อปีตามลำดับ
“ตอนนี้ได้ส่งแผนนี้ไปยังอีอีซีแล้ว เหลือการพูดคุยในรายละเอียด ส่วนการจะเริ่มตอกเสาเข็มเมื่อไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาเรื่องต่างๆ ให้ได้ข้อสรุปด้วย เช่น การก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และการเจรจาเรื่องสิทธิประโยชน์การลงทุนในโครงการเมืองการบิน ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของอีอีซี หากจบเราก็พร้อมก่อสร้างได้ทันที ส่วนเรื่องไฮสปีดตอนนี้เราไม่รอแล้ว”