เปิดเบื้องลึก! ตร.ทลายเครือข่ายค้าทารกอินโดนีเซียข้ามชาติ
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2568 BBC รายงานว่า ตำรวจอินโดนีเซียได้เปิดโปงและจับกุมเครือข่ายค้ามนุษย์ข้ามชาติที่ลักลอบค้าทารกไปยังสิงคโปร์ โดยปฏิบัติการล่าสุด ได้ออกหมายจับรวม 13 หมาย ในเมืองปอนเตียนักและเมืองตังเกอรัง ประเทศอินโดนีเซีย
สามารถช่วยเหลือทารก 6 คน มีอายุประมาณ 1 ปี ที่กำลังจะถูกลักลอบนำไปขาย จากการสอบสวนพบว่ามีทารกอย่างน้อย 25 คนถูกลักลอบนำไปขายตั้งแต่ปี 2566
สุราวัน ผู้บัญชาการตำรวจฝ่ายสืบสวนอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจประจำ จ.ชวาตะวันตก เปิดเผยกับ BBC อินโดนีเซียว่า เด็กทารกเหล่านี้จะถูกนำไปพักที่บ้านในเมืองปอนเตียนักก่อน เพื่อเตรียมเอกสารการเข้าเมือง ก่อนส่งตัวไปยังสิงคโปร์
"เป้าหมาย" และ "วิธีการ"
ขบวนการนี้จะมุ่งเป้าหมายไปที่ "พ่อแม่หรือหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการเลี้ยงดูลูก" มีการติดต่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ก่อนเปลี่ยนไปใช้ช่องทางส่วนตัว
สุราวัน ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนประจำ จ.ชวาตะวันตก ระบุว่า ทารกบางคนถูกจองตัวไว้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาพ่อแม่ไม่ต้องจ่ายค่าคลอด และจะได้รับเงินชดเชย จากนั้นทารกจะถูกนำตัวไป และเผยว่าเด็กส่วนใหญ่ได้มาจากการตกลงกับพ่อแม่ ไม่ใช่การลักพาตัว แต่บางกรณีพ่อแม่แจ้งความ เพราะนายหน้าไม่จ่ายเงินตามข้อตกลง ตำรวจยังสงสัยว่าพ่อแม่บางคนอาจขายลูก เพราะปัญหาทางการเงิน ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายคุ้มครองเด็กและการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ตำรวจยังเปิดเผยว่า สมาชิกของขบวนการค้ามนุษย์ประกอบด้วย
- คนสรรหาเด็ก จะติดตามหาทารกที่จะนำไปขาย
- คนดูแลและผู้ให้ที่พัก จะดูแลและให้ที่พักพิงแก่ทารก
- ผู้เตรียมเอกสาร จะปลอมแปลงเอกสารสำคัญ เช่น เอกสารครอบครัว หนังสือเดินทาง
หลังจากรับทารกมาจากแม่ผู้ให้กำเนิดแล้ว ทารกจะถูกนำไปอยู่กับผู้ดูแล 2-3 เดือน ก่อนส่งไปยังกรุงจาการ์ตาและเมืองปอนเตียนัก เพื่อจัดเตรียมเอกสาร เช่น สูติบัตร หนังสือเดินทาง
มูลค่าของทารกและการส่งออก
ทารกถูกขายในราคาตั้งแต่ 11-16 ล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย (ประมาณ 21,860-31,790 บาท) หนึ่งในสมาชิกของแก๊งอาชญากรรม ได้ให้ข้อมูลว่าทำการขายเด็กไปแล้วอย่างน้อย 25 คน แบ่งเป็นเด็กชาย 12 คน และเด็กหญิง 13 คน โดยเป็นการขายทั้งในอินโดนีเซียและต่างประเทศ ส่วนใหญ่มาจาก จ.ชวาตะวันตกของอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ราคาของทารกจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่และปัจจัย เช่น รูปร่างหน้าตา โดยในชวาอยู่ที่ 11-15 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 21,860-29,800 บาท) ส่วนในบาหลีสูงกว่าถึง 20-26 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 39,700-51,600 บาท)
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจอินโดนีเซีย ระบุว่า กำลังเร่งตามหาผู้ที่รับอุปถัมภ์เด็กในสิงคโปร์ เพื่อยืนยันตัวตนทารกที่ถูกค้าออกไปและผู้ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าเด็กอาจถูกเปลี่ยนสัญชาติและกำลังเร่งค้นหาหนังสือเดินทางของเด็ก
ทั้งนี้ตำรวจอินโดนีเซียได้ประสานงานกับตำรวจสากลและตำรวจสิงคโปร์ เพื่อจับกุมสมาชิกแก๊งที่อยู่ต่างประเทศ รวมถึงผู้ซื้อเด็กไป โดยจะมีการประกาศรายชื่อและออกหมายแดง เพื่อขอให้ประเทศที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุม
ภาพประกอบข่าว
สุราวัน กล่าว
หากพิสูจน์ได้ว่ามีการทำข้อตกลงระหว่างผู้ปกครองและผู้กระทำความผิดดังกล่าว พวกเขาสามารถถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญาว่าด้วยการปกป้องเด็กและข้อหาค้ามนุษย์
ไอ ราห์มายันตี จากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งอินโดนีเซีย (KPAI) ชี้ว่าแก๊งค้าทารกมักเล็งผู้หญิงที่สิ้นหวัง เช่น ผู้ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ หรือถูกทอดทิ้ง เนื่องจากการทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย (ยกเว้นกรณีทางการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ การตั้งครรภ์จากการข่มขืน) ขบวนการเหล่านี้มักแอบอ้างเป็นคลินิกหรือสถานพักพิง เพื่อเสนอเงินและโอนสิทธิ์ดูแลเด็กอย่างผิดกฎหมาย
ข้อมูล KPAI ชี้ว่าแนวโน้มการค้ามนุษย์เด็กทารกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2563 มีเด็ก 11 คน และปี พ.ศ. 2566 มีถึง 59 คน
เหตุการณ์การค้าเด็กทารกในอินโดนีเซีย
- เมื่อประมาณเดือน ต.ค.2567 มีรายงานการจับกุมพ่อชาวอินโดนีเซีย ขายลูกชายวัย 11 เดือน ผ่านช่องทางออนไลน์ ในราคา 15 ล้านรูเปียห์ หรือ ประมาณ 32,000 บาท โดยนำเงินไปเล่นพนันและใช้จ่ายส่วนตัว ทั้งนี้ตำรวจยังได้จับกุมผู้ซื้อ 2 คน ซึ่งพบพร้อมกับเด็ก บ้านเช่าแห่งหนึ่ง ในตันเกอรัง โดยทั้งสองถูกตั้งข้อน่าสงสัยเกี่ยวกับเครือข่ายค้ามนุษย์
- เมื่อประมาณเดือน ก.ย.2567 มีรายงานว่า ตำรวจอินโดนีเซียได้ทลายเครือข่ายค้ามนุษย์เด็กทารก ในเมืองเดปก จ.ชวาตะวันตก และจับกุมผู้ต้องหาได้ 8 คน ในคดีที่เด็กทารกถูกซื้อจากพ่อแม่ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เครือข่ายนี้ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มที่จัดตั้งอย่างเป็นระบบ และได้ทำการซื้อขายทารกในบาหลีไปแล้ว 5 ครั้ง รวมถึงมีการใช้ระบบสั่งจองล่วงหน้า ก่อนที่จะนำไปขายต่อในราคาที่สูงกว่าในบาหลี
ตามข้อมูลจาก CHILDREN IN INDONESIA: CHILD TRAFFICKING เด็กถูกค้ามนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ แรงงานเด็ก การเป็นเจ้าสาวเด็ก และแรงงานเด็กในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย รวมถึงการค้าทารกเพื่อการรับบุตรบุญธรรมผิดกฎหมายและการค้าอวัยวะ
กฎหมายของอินโดนีเซีย
- กฎหมายแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ฉบับที่ 21 ปี 2550 ว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์ กฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง โทษจำคุกและปรับ ผู้กระทำการค้ามนุษย์จะต้องโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่น้อยกว่า 120 ล้านรูเปียห์ และไม่เกิน 600 ล้านรูเปียห์
- ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองเด็กมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี และปรับ 300 ล้านรูเปียห์
- รัฐบาลอินโดนีเซียได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำในการจ้างงาน และฉบับที่ 182 ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก อายุขั้นต่ำในการจ้างงานคือ 15 ปี และกฎหมายภายในประเทศห้ามมิให้มีสภาพการทำงานที่จัดอยู่ในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก
เรียบเรียง : ศศิมาภรณ์ สุขประสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แหล่งข้อมูล :
BBC , BBC ไทย , CNA , CNA , Unicef ,
CHILDREN IN INDONESIA: CHILD TRAFFICKING ,
LAW OF THE REPUBLIC OF INDONESIA NUMBER 21 YEAR 2007
อ่านข่าว :