AstraZeneca ทุ่มลงทุนในสหรัฐ 5 หมื่นล้านดอลล์ หวังลดผลกระทบภาษีทรัมป์
AstraZeneca ทุ่มลงทุนในสหรัฐ 5 หมื่นล้านดอลล์ ภายในปี 2573 หวังลดผลกระทบภาษีทรัมป์ หวังลดแรงกระแทกจากมาตรการภาษีสูงสุด 200% ที่อาจมีผลเร็วสุด 1 ส.ค.2568
วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 05.56 น. สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าบริษัท AstraZeneca Plc ผู้ผลิตยารายใหญ่จากยุโรป ประกาศแผนลงทุนในสหรัฐอเมริกามูลค่ารวม 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.8 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 เพื่อรับมือความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจเรียกเก็บกับยานำเข้า
บริษัทระบุว่าเงินลงทุนดังกล่าวจะถูกใช้สำหรับการผลิต รวมถึงงานวิจัยและพัฒนา โดยหนึ่งในนั้นคือการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในรัฐเวอร์จิเนีย มูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตยารักษาโรคเรื้อรัง ตามข้อมูลจากเควิน แฮสเซ็ตต์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ในกรุงวอชิงตัน
“เมื่อการลงทุนเสร็จสมบูรณ์ ยาเกือบทั้งหมดของ AstraZeneca ที่จำหน่ายในสหรัฐจะถูกผลิตในประเทศ” แฮสเซ็ตต์กล่าว
โรงงานในเวอร์จิเนียยังจะใช้ผลิตยาลดน้ำหนักแบบรับประทานที่ยังอยู่ระหว่างการทดลองของAstraZeneca ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับบริษัทคู่แข่งอย่าง Eli Lilly & Co. ที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะผลิตยาลดอ้วนในสหรัฐเช่นกัน
การประกาศลงทุนครั้งใหม่นี้เกิดขึ้นในขณะที่บริษัทยายุโรปหลายแห่งเร่งประกาศแผนการลงทุนในสหรัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ โดย AstraZenecaเองเคยประกาศแผนลงทุน 3,500 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐ ภายในสิ้นปี 2569 หลังการเลือกตั้งของทรัมป์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พร้อมระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานในสหรัฐเกือบ 18,000 คน
หลังการเลือกตั้งของทรัมป์ บริษัทคู่แข่งจากยุโรปต่างเร่งประกาศแผนลงทุนในสหรัฐเช่นกัน โดย Novartis จากสวิตเซอร์แลนด์ประกาศในเดือนเมษายนว่าจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐมูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ Roche ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเดียวกันก็ประกาศลงทุนถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ ด้าน Sanofi จากฝรั่งเศสก็ให้คำมั่นว่าจะลงทุนอย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2573
Pascal Soriot ซีอีโอของAstraZeneca ตั้งแต่ปี 2555 เคยเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการภาษีกับยา โดยเสนอว่าควรใช้แรงจูงใจทางภาษีแทน เพื่อดึงดูดการลงทุนในด้านการวิจัยและการผลิตยา
อย่างไรก็ตามในวันจันทร์ Soriot ระบุว่าตนเข้าใจถึงความจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ ต้องการให้การผลิตยามีฐานอยู่ภายในประเทศ
“นี่คือประเด็นด้านความมั่นคงแห่งชาติ …เป็นวิสัยทัศน์ที่ประธานาธิบดีและรัฐบาลของเขาวางไว้ ซึ่งเราทั้งเข้าใจและสนับสนุน และมาตรการภาษีเหล่านี้ก็เพียงเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราจะทำอยู่แล้ว”
ประธานาธิบดีทรัมป์เคยเสนอไทม์ไลน์หลากหลายสำหรับการเก็บภาษีเภสัชภัณฑ์ โดยล่าสุดระบุว่าอาจเริ่มเร็วที่สุดในวันที่ 1 สิงหาคม พร้อมระบุว่า จะให้เวลาบริษัท 1 ปีในการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังสหรัฐก่อนเก็บภาษีในอัตราสูงสุดถึง 200%
อ้างอิง : bloomberg.com