'ไมโครซอฟท์' ประกาศปลดพนักงานเพิ่มอีก 9,000 ตำแหน่ง หลังลงทุนใน AI
วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 สำนักข่าวต่างประเทศ บีบีซี รายงานว่า บริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) ประกาศเตรียมปลดพนักงานสูงสุดถึง 9,000 ตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 4% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ราว 228,000 คน นับเป็นการปรับลดพนักงานรอบที่ 4 ของบริษัทในปี 2025 ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่การลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างเต็มรูปแบบ
แม้ไมโครซอฟท์ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าการปรับลดครั้งนี้กระทบกับแผนกใดบ้าง แต่มีรายงานว่า ฝ่าย Xbox ซึ่งดูแลธุรกิจเกมของบริษัท อาจได้รับผลกระทบโดยตรง
การปลดพนักงานครั้งนี้เกิดขึ้นขณะไมโครซอฟท์ทุ่มเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท) ในการสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Centers) ขนาดใหญ่ เพื่อฝึกและให้บริการโมเดล AI ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท
โฆษกของไมโครซอฟท์เปิดเผย ว่า “เรายังคงดำเนินการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพื่อให้บริษัทมีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการเติบโตในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์ได้ปลดพนักงานไปแล้วหลายรอบในปีนี้ เช่นในเดือนพฤษภาคม ที่มีการลดตำแหน่งงานไปกว่า 6,000 ตำแหน่ง โดยฐานข้อมูลของรัฐวอชิงตันระบุว่า การปลดพนักงานล่าสุดนี้กระทบกับพนักงานในเมือง เรดมอนด์ และ เบลล์วิว ซึ่งเป็นศูนย์กลางของไมโครซอฟท์ในสหรัฐฯ มากกว่า 800 ตำแหน่ง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อมุ่งเน้นไปที่ AI โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศูนย์ข้อมูลและชิปประมวลผล รวมถึงการตั้งหน่วยงาน Microsoft AI Division ที่มี มุสตาฟา สุเลยมาน (Mustafa Suleyman) ผู้บุกเบิก AI ชาวอังกฤษ เข้ามานำทีม
ผู้บริหารของไมโครซอฟท์รายหนึ่ง กล่าวว่า “อีก 50 ปีข้างหน้าจะถูกกำหนดโดย AI ซึ่งจะเปลี่ยนทั้งรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของมนุษย์”
ไมโครซอฟท์ยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในบริษัท OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสององค์กรเริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้นในช่วงหลัง โดยรายงานจาก บลูมเบิร์ก ระบุว่า ไมโครซอฟท์กำลังประสบปัญหาในการขาย “Copilot” ผู้ช่วย AI สำหรับธุรกิจ เนื่องจากพนักงานจำนวนมากยังคงนิยมใช้ ChatGPT มากกว่า
ขณะเดียวกัน บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในสหรัฐฯ กำลังแข่งขันแย่งชิงบุคลากร AI ชั้นนำกันอย่างเข้มข้น โดย Meta (เจ้าของ Facebook และ Instagram) ได้ตั้งทีม AI ระดับสูงชื่อว่า "Superintelligence Lab" และมีรายงานว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta มีบทบาทในการสรรหาบุคลากรด้วยตนเอง