โบรกชี้ไทยยังมีจุดยืนเจรจาการค้า โอกาสต่ำ 36% มี GDP ขยับโต 1.5-2%
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" จากประเด็นมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้า (Tariffs) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับการค้าทั่วโลก
ล่าสุดประเทศอินโดนีเซีย ที่นับว่าเป็นชาติที่ 2 ของอาเซียนที่สามารถปิดดีลการค้าได้สำเร็จ ส่งผลให้ระดับภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ลดลงจากเดิม 32% เหลือเพียง 19% เป็นผลให้อัตราภาษีนำเข้าลดลงต่ำกว่าสมาชิกอาเซียนชาติอื่น ในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ เวียดนามบรรลุข้อตกลงการค้าให้สหรัฐฯ เก็บภาษีเหลือ 20% จากเดิม เดิมที่ 46% สำหรับสินค้าเวียดนาม และ40% สำหรับสินค้าที่ประเทศอื่นส่งออกผ่านเวียดนาม นอกจากนี้ เวียดนามจะเปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
ขณะที่ประเทศไทยนั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจารอบที่ 2 โดยมีการส่งข้อเสนอไปแล้วและกำลังอยู่ในขั้นตอนการหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อรองภาษีสหรัฐฯ ให้ลดระดับลงจาก 36% ซึ่งเป็นความท้าทายด้วยกำหนดเวลาเส้นตาย 1 ส.ค. เริ่มใกล้เข้ามา
อีกทั้งรัฐบาลจะต้องเสนอเงื่อนใขในแบบที่ไทยไม่เสียเปรียบสหรัฐฯ มากเกินไป และต้องได้อัตราภาษีที่ไม่สูงกว่าคู่แข่งในอาเซียน หากไทยถูกเรียกเก็บภาษีที่ 36% จะเสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนด้านภาษี อาจทำให้ไทยถูกมองว่าเป็น “ฐานการผลิตที่เสี่ยง” สำหรับสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ และทำให้ความน่าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศลดลง แต่หากไทยเปิดตลาดสินค้าทุกอย่างให้กับสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ดีล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดตลาดสินค้าเกษตร เช่น เนื้อหมู ก็อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรและผู้ประกอบการไทย
"มองว่าทั้งเวียดนามและอินโดฯ พยายามอย่างหนักเพื่อที่จะลดระดับภาษีให้สหรัฐฯ เรียกได้ว่าเทหมดหน้าตัก ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลไทยเองมีจุดยืน เชื่อว่ายังมีการเว้นบางเงื่อนไขที่เสนอให้สหรัฐฯ ไว้บ้าง และคงไม่ทำแบบเดียวกันกับเวียดนามและอินโดฯ แน่นอนว่ารัฐบาลต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดถึงความเหมาะสมและผลกระทบ"
โดยทางฝ่ายประเมินว่าการเปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ มีโอกาสได้เห็นสูงมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ถูกสะท้อนในราคาหุ้นกลุ่มผู้ผลิตเนื้อสัตว์ในช่วงที่ผ่านมาไปค่อนข้างมากแล้ว
ในส่วนของผลกระทบต่อตัวเลข GDP ไทยนั้น ทางฝ่ายประเมินว่าหากยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ทันเส้นตายต้นเดือนส.ค. 68 นี้ Tariffs คงระดับ 36% อาจกระทบต่อ GDP ไทยให้ปรับตัวลดลงเหลือราว 1-1.5%
แต่หากว่าข้อเสนอที่ทีมไทยยื่นต่อสหรัฐฯ เป็นผล และสามารถลด Tariffs ลงเหลือต่ำระดับ 20% ได้ ก็คาดว่าจะหนุนให้อัตราการขยายตัวของ GDP ไทยขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2-2.5% และหากลดได้เพียง 20-25% ก็คาดว่า GDP เฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 1-2% ในปี 68 นี้
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อาจเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากระดับความเข้มข้นของ Tariffs ที่สหรัฐฯ จะให้ไทยนั้นยังคงมีความไม่แน่ไม่นอนอยู่มาก รวมถึงสินค้าที่ไทยจะต้องเปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ จะกระทบต่อผุ้ประกอบการไทยมากกว่าได้ประโยชน์หรือไม่ อาจต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาก่อน