กฎใหม่! คุม 'แอปเรียกรถ' คนขับ-ผู้ใช้-แพลตฟอร์ม ต้องทำอะไรบ้าง ?
แกะรายละเอียดประกาศฉบับใหม่ ETDA กำหนดให้ คนขับ-ไรเดอร์ ‘แอปเรียกรถ’ ต้องจดทะเบียนรถสาธารณะ และมีใบขับขี่รถสาธารณะ แล้วคนขับ-ผู้ใช้-แพลตฟอร์มเรียกรถ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง รวมรายละเอียดแล้ว ที่นี่
จากกรณี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การดำเนินการอื่นสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทบริการรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะที่มีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 18 (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2568
โดยมีสาระสำคัญหลัก คือ กำหนดให้ผู้ขับรถรับจ้างโดยสารสาธารณะ ทั้งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ต้องจดทะเบียนรถสาธารณะและต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ตามเงื่อนไขในการให้บริการสาธารณะ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียกรถ ต้องมีบริการหรือมีการเก็บข้อมูลตามที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด
“ประชาชาติธุรกิจ” ย่อยรายละเอียด แพลตฟอร์มเรียกรถต้องทำอะไรบ้าง ทั้งในมุมคนขับรถ ผู้ใช้งานแอป และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม
ทำใบขับขี่รถสาธารณะ ต้องทำอย่างไร ?
เริ่มต้นที่เรื่องสำคัญอย่าง การจดทะเบียนรถรับจ้างและการมีใบขับขี่สาธารณะ การจดทะเบียนรถรับจ้างโดยสารสาธารณะ โดยเงื่อนไขส่วนใหญ่คือ
มีใบขับขี่รถส่วนบุคคลประเภทต่าง ๆ มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล รถสามล้อส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล
ทำใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ เช่น ใบขับขี่แท็กซี่ และรถยนต์สามล้อสาธารณะ ต้องมีอายุ 22 ปีขึ้นไป ใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป
มีความสามารถในการขับรถ และเข้าใจกฎจราจร
ไม่มีโรคประจำตัว และร่างกายไม่พิการจนไม่สามารถขับรถได้
ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน
ไม่อยู่ระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่
ไม่เคยมีคดีเกี่ยวกับการขับรถ หรือโดนปรับตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป
ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีต่าง ๆ แต่หากเคยรับโทษ ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้
กรณีจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- กรณีจำคุกเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 1 ปี 6 เดือน
- กรณีจำคุกเกิน 3 ปี ต้องพ้นโทษมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
- กรณีอื่น ๆ เช่น โดนปรับ รอลงอาญา รอขึ้นศาล ต้องมีเอกสารทางคดีจากสถานีตำรวจมายืนยันชี้แจงเกี่ยวกับคดีความ
ทั้งนี้ ขั้นตอนในการทดสอบและทำใบขับขี่รถสาธารณะ เป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
เอกสารที่ต้องมี
- บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง
- ใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลมีอายุไม่น้อยกว่า 1 ปี
- ใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 1 เดือน
ค่าธรรมเนียม
- ค่าคำขอ 5 บาท
- กรณีรถยนต์สาธารณะ อายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 300 บาท
- กรณีรถยนต์สามล้อสาธารณะ อายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 150 บาท
- กรณีรถจักรยานยนต์สาธารณะ อายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 150 บาท
เงื่อนไขการจดทะเบียน “รถสาธารณะ”
ถัดจากการทำใบขับขี่รถสาธารณะ มาถึงเรื่องของการจดทะเบียนรถ เป็นประเภทรถสาธารณะ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยมี 3 ประเภทรถสาธารณะที่ระบุไว้ในประกาศฉบับดังกล่าว ดังนี้
รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (รย.6)
- ห้ามกว้างเกิน 2.50 เมตร และยาวไม่เกิน 6 เมตร
- มีประตูไม่ต่ำกว่าสี่ประตู ซึ่งต้องเป็นประตูที่มิได้ติดตั้งระบบควบคุมการปิดเปิดประตูรถจากศูนย์กลาง (CENTRAL LOCK)
- กระจกกันลมต้องโปร่งใสเพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในรถและสภาพการจราจรภายนอก
- ห้ามติดวัสดุใดหรือปิดส่วนใด ของกระจก เว้นแต่เป็นเครื่องหมายหรือเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด หากติดวัสดุที่มีลักษณะบังหรือกรองแสงแดดที่กระจกกันลมหน้าจะต้องปฏิบัติตามขนาดที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
- เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป
ประเภทรถจดทะเบียนรถยนต์รับจ้าง หรือ รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 17 เมษายน 2535 ข้อกำหนดคือต้องเป็นรถเก๋งสองตอนหรือรถเก๋งสองตอนที่มีพื้นที่บรรทุกภายในรถ ตัวรถต้องผลิตจากสำเร็จจากผู้ผลิตเท่านั้น และมีความกว้างของตัวรถต้องไม่เกิน 2.5 เมตร ความยาวต้องไม่เกิน 6 เมตร มีประตูไม่ต่ำกว่าสี่ประตู และมีเครื่องยนต์ที่มีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร
ประเภทรถรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน มีดังนี้
- เก๋งสองตอน
- เก๋งสองตอนแวน
- เก๋งสามตอน
- เก๋งสามตอนแวน
- นั่งสองตอน
- นั่งสองตอนแวน
- นั่งสามตอน
- นั่งสามตอนแวน
รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รย.17)
- จักรยานยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ความกว้างไม่เกิน 1.10 เมตร ความยาวไม่เกิน 2.50 เมตร และมีความสูงไม่เกิน 2 เมตร
- ไม่รวมรถจักรยานยนต์ที่มีพ่วงข้างและจักรยานที่ติดเครื่องยนต์
รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือแอปพลิเคชัน (รย.18)
รถประเภทดังกล่าว ต้องเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น ไม่สามารถเรียกโบกรถระหว่างทางได้ และต้องคิดค่าบริการจากแอปพลิเคชันเท่านั้นห้ามเรียกราคาเหมาจ่าย
คนขับ-ผู้ใช้งาน-แพลตฟอร์ม ต้องทำอะไรบ้าง ?
สำหรับรายละเอียดของประกาศดังกล่าว กำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องให้บริการตามเงื่อนไขหรือลักษณะที่กำหนด ดังนี้
คนขับรถผ่านแอป
- รถต้องจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (รย.18)
- ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ
- ต้องพิสูจน์ตัวตนด้วยระบบจดจำใบหน้า (Face Recognition) ก่อนเริ่มงานทุกวัน
- ห้ามให้คนอื่นใช้บัญชีขับรถแทนเด็ดขาด
- แชร์ตำแหน่ง GPS ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์
- คุยกับลูกค้าได้ผ่านแอปเท่านั้น ไม่เปิดเผยเบอร์โทร
ผู้ใช้แอปเรียกรถ
- ต้องยืนยันตัวตนก่อนใช้งาน
- เลือกประเภทรถได้ และดูราคาประเมินล่วงหน้า
- ยกเลิกหรือเปลี่ยนปลายทางได้ตามเงื่อนไข
- ให้คะแนนและร้องเรียนคนขับได้ง่ายขึ้น
แพลตฟอร์ม/แอป
- ต้องรายงานจำนวนรถทุกประเภทให้กรมขนส่งทางบกทุกปี
- คิดราคาค่าโดยสารตามกฎหมาย ไม่ใช่ตั้งราคากันเอง
- ต้องให้ข้อมูลชัดเจน เช่น คนขับ, ทะเบียน, ราคา, เส้นทาง ก่อนเริ่มเดินทาง
- ต้องมีปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ทั้งคนขับและผู้โดยสาร
- มีพนักงานประจำ 24 ชม. รับแจ้งเหตุ
- เก็บข้อมูลและแสดงประวัติการเดินทางทุกครั้ง
ข้อมูลจาก บริษัท สมาร์ท แท็กซี่ จำกัด, Grab ประเทศไทย, กรมการขนส่งทางบก
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : กฎใหม่! คุม ‘แอปเรียกรถ’ คนขับ-ผู้ใช้-แพลตฟอร์ม ต้องทำอะไรบ้าง ?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net