‘ทรงวาด’ คึกคัก Old meets New นักท่องเที่ยว-Gen ใหม่ แห่เช็กอิน
จากกระแสสตรีตฟู้ด “บรรทัดทอง” ที่เติบโตและเงียบเหงาเร็วเกินคาด ราวฟองสบู่แตกในชั่วพริบตา
เมื่อนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนเริ่มหายไป ไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน จะมีบ้างก็แต่คนไทยบางกลุ่มที่มาเดินเล่นประปราย
ซึ่งมีหลายสาเหตุ ทั้งดราม่าเรื่อง“อาหารแพง-อาหารไม่อร่อย” หรือแม้กระทั่งการรีวิวเกินจริงของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในโลกโซเชียล รวมไปถึงการร้องขอให้ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ลดค่าเช่าพื้นที่ลงบ้าง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี
ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในย่านดังกล่าวรวมตัวกัน เพื่อผลักดันให้บรรทัดทองมีชีวิตอยู่ต่อไป
ล่าสุด อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 “เศรษฐา ทวีสิน” ก็โพสต์ FB อุดหนุนหมูสะเต๊ะ “ซ้ง” ร้านดังย่านบรรทัดทองแบบว่าให้กำลังใจกันและกัน
ขณะที่ย่านการค้า 100 ปีอย่าง “ทรงวาด” แหล่งกินแหล่งเที่ยวนอกห้าง ใกล้กับสำเพ็ง-เยาวราช กลับได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติ ต่างแห่มาเที่ยวกินเที่ยวเดินลัดเลาะ “ทรงวาด” กันอย่างคึกคัก เพื่อถ่ายรูป เช็กอิน จนเป็นกระแสดังในโซเชียล
“เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ” ประธานกลุ่ม Made in Songwat และผู้ก่อตั้ง Play Art House เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระหว่าง “บรรทัดทอง” กับ “ทรงวาด” ไม่เหมือนกัน เหมือนเอามวย 2 รุ่นมาเทียบกัน หรือเป็นมวยคนละประเภท
บรรทัดทองมีของกิน กินเสร็จแล้วก็กลับบ้าน แต่ทรงวาดไม่ได้มีของกินอย่างเดียว ที่นี่มีทั้งงานอาร์ต มีรีเทลขายปลีก มีตึกเก่าสวย ๆ มีศาสนสถาน มีที่ท่องเที่ยว มีสตอรี่ที่ลึกซึ้ง และมีประวัติศาสตร์ ที่บรรทัดทองไม่มี ซึ่งอิงไปทางธุรกิจล้วน ๆ ถ้ามาเปรียบเทียบกัน บรรทัดทองก็อาจจะเสียเปรียบ
มาทรงวาดไม่ใช้จ่ายเลยก็ได้ แค่กินมาจากบ้าน มาดูสถานที่ มาไหว้พระ ไหว้เจ้า ดูงานอาร์ต ไม่ต้องจ่ายเงินเลยก็ได้
แต่บรรทัดทองยังไงก็ต้องเสียเงิน และที่บรรทัดทองไม่ได้มีกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งเหมือนทรงวาด
“เชื่อว่าทรงวาดมีของดี ขนม อาหาร เดินไป 80% ไม่ผิดหวังแน่นอน ทั้งแปลกใหม่ อร่อย มีสตอรี่เรื่องสถานที่น่าสนใจ เด็กเจนใหม่มาดูก็ได้เห็นธุรกิจเก่าบางอย่าง ให้คนมาเรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับย่าน ปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจ”
ทั้งเชื่อว่าทรงวาดไม่มีทางจะเป็นฟองสบู่แน่นอน นอกจากจะมีนายทุน หรือกลุ่มแลนด์ลอร์ดเข้ามา ก็อาจจะทำให้ที่นี่เปลี่ยนไป
สำหรับจุดเริ่มต้นของแหล่งท่องเที่ยวทรงวาดในยุคโลกใหม่ “เกียรติวัฒน์” บอกว่า มาจากการรวมตัวกลุ่ม Made in Songwat ที่หวังขับเคลื่อนย่านนี้ ซึ่งเริ่มหลังช่วงสถานการณ์โควิด-19 เวลานั้นมีร้านเปิดไล่เลี่ยกับ Play Art House ไม่ถึง 15 ร้าน
ช่วงนั้นมีความคิดที่อยากซัพพอร์ตย่านและร้านเพื่อนบ้านรอบ ๆ จึงเกิดเป็นไอเดียจัด Art Market ในชื่อ “Play Around” รวมร้านต่าง ๆ ในทรงวาด และศิลปินหน้าใหม่มาออกบูทขายงานศิลปะ
แม้จะจัดงานแค่ 2 วัน คือ วันเสาร์-อาทิตย์ แต่ผลตอบรับดีเกินคาด ผู้ประกอบการจึงรวมตัวกันและก่อตั้งกลุ่ม Made in Songwat ขึ้นมา
ย้อนไปตอนนั้นยอมรับว่า ไม่ได้คิดให้ทรงวาดเป็นกระแสเช่นปัจจุบัน คิดแค่ว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเติบโตไปด้วยกัน เพราะการรวมกันโปรโมตน่าจะอิมแพ็กต์มากกว่า จนกระทั่งสำเร็จในปีแรก
Made in Songwat กำเนิดขึ้น โดยมีโมเดลการเปลี่ยนแปลงของเมืองเกียวโตเป็นต้นแบบ เพราะมีหลายอย่างคล้ายคลึงกัน
เกียวโตเป็นเมืองหลวงเก่า มีวัฒนธรรม สถานที่โบราณ ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้าไปพัฒนา ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Old meets New-เก่ากับใหม่มาเจอกัน”
ทรงวาดก็มีตึกเก่า มีศาสนสถาน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าถนนสายสั้น ๆ ยาวแค่ 1,196 เมตร จะมีทั้งมัสยิด ศาลเจ้าจีน และวัดไทย เป็นพหุวัฒนธรรมที่ควรเอาขึ้นมานำเสนอ ที่สำคัญอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย
แล้วทำไมต้องชื่อ “Made in Songwat” เพราะชื่อจะบ่งบอกตัวตน ทรงวาดไม่ได้มีแค่อาหาร ศิลปะ หรือวัฒนธรรม
การใช้ชื่อ เมด อิน ทรงวาด จึงเหมาะกับการเป็นย่าน ไม่ได้มีแค่อาหารหรืองานศิลปะเท่านั้น
หลังจากรวมตัวกัน งานแรก คือ “Song Wat Week” ปลายปี 2565 เป็นการเปิดบ้านให้ผู้คนมารู้จักทรงวาดมากขึ้น ซึ่งปีแรกทำกันแบบไม่มีทุน ไม่มีสปอนเซอร์ และไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการในย่านนี้
Song Wat Week ปีแรกพ่วงมาด้วยโปรแกรม Walking Tour พร้อมคูปองส่วนลดให้คนไปใช้ตามร้านต่าง ๆ ตอนนั้นมีร้านเข้าร่วมราว 15 ร้าน
ปีที่ 2 มีร้านเข้าร่วม 30 ร้าน ปีที่ 3 มีเกือบ 60 ร้าน และปีที่ 4 มีร้านเข้าร่วมถึง 80 ร้าน
สืบเนื่องจาก Walking Tour ทำให้เกิดโปรเจ็กต์ Song Wat Guidebook ขึ้นมาในลักษณะคล้ายหนังสือรุ่น ร้านไหนอยากได้พื้นที่มากก็สมทบทุนมาก ผลตอบรับเกินคาด พิมพ์ครั้งแรก 3 พันเล่ม ขายหมดในเดือนเดียว ทำให้ต้องพิมพ์ใหม่และเพิ่มจำนวนพิมพ์เรื่อย ๆ จนกระทั่ง Song Wat Guidebook 2 พิมพ์ครั้งแรกถึง 1 หมื่นเล่ม
เราไม่สามารถกำหนดได้เลยว่า ย่านนี้เป็นอย่างไร ต้องให้คนที่มาเดินเป็นคนบอก เมื่อ 3 ปีก่อน มีคนถามว่า ทรงวาดเป็นย่านอะไร เราตอบไม่ได้
อย่างเยาวราช ชัดเจนว่า กลางวันคือตลาดขายทองที่ใหญ่สุดในประเทศ กลางคืนคือย่านสตรีตฟู้ดระดับโลก JJ Market ก็เป็นแหล่งช็อปปิ้ง หรือบรรทัดทองก็เป็นแหล่งของกิน
3 ปีที่แล้วเคยพูดไว้ว่า อยากเห็นทรงวาดมี 3 อย่าง คือ ศิลปะ ดีไซน์ และแฟชั่น ทุกวันนี้ทรงวาดมีทุกอย่าง ทั้งอาร์ตแกลเลอรี่ ตึก อาคาร ร้านเก๋ ๆ มากมาย และแฟชั่น คือ คนที่มาเดิน ทุกคนแต่งตัวเหมือนอยู่ในแมกาซีน
“ถ้าวันนี้ถามว่า ทรงวาดเป็นย่านอะไร ก็เป็นย่านครีเอทีฟ ทุกคนสามารถมาอัพเดตเทรนด์ของกรุงเทพฯและประเทศไทยได้ที่นี่เลย เพราะทุกคนมารวมตัวกันแล้วที่นี่”
อย่างไรก็ตาม ทรงวาดแบ่งเป็น 3 ยุคของผู้ประกอบธุรกิจ
ยุคแรก คือ ธุรกิจเก่าแก่ ขายเมล็ดพืชพันธุ์ เครื่องเทศที่อยู่มานาน 60-80 ปี ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงมีอยู่ แต่เลือนหายไปบ้าง เนื่องจาก 30 ปีก่อนมีกฎหมายไม่ให้รถขนาดใหญ่วิ่งเข้ากรุงเทพฯชั้นใน ธุรกิจจึงเริ่มปิดตัวลง เพราะต้องใช้รถสิบล้อในการขนส่ง ดังนั้น ตึกและห้องเช่าในทรงวาดจึงว่างลง
ยุคที่ 2 คือ ธุรกิจเกี่ยวกับถังพลาสติก และของเล่นพลาสติก ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจดั้งเดิม แต่มีการเคลื่อนย้ายมาจากสำเพ็ง เพราะทรงวาดมีห้องว่าง และขนส่งสะดวกกว่า เพราะสำเพ็งถนนเล็ก
ยุคที่ 3 คือ ปัจจุบัน ได้แก่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือคนนอกที่เข้ามา ซึ่งเริ่มมาประมาณ 8 ปี
“ความสนุกของการมาเดินทรงวาด คือ ถ้าเดินวันจันทร์-เสาร์ จะเห็นธุรกิจของทรงวาดครบทุกยุค แต่ถ้ามาวันอาทิตย์จะเห็นธุรกิจยุค 3 อย่างเดียว เพราะเป็นวันพักผ่อนของธุรกิจดั้งเดิม”
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘ทรงวาด’ คึกคัก Old meets New นักท่องเที่ยว-Gen ใหม่ แห่เช็กอิน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net