โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘ปราปต์ บุนปาน’ ชวนมอง 50 ปี ไทย-จีน หลายแง่มุม วันที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนและยุ่งเหยิง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 8 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ปราปต์ บุนปาน

ปี 2568 เป็นวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสนี้ “เครือมติชน” ได้จัดงาน “50 ปีไทย-จีน The Golden Road : From Now to Eternity” ซึ่งในเดือนกรกฎาคมนี้มี 2 กิจกรรมใหญ่ คือ

1.การจัดเวทีเสวนาและการเวิร์กช็อป “Thai-Chinese Golden Fest 2025 เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย-จีน” วันที่ 11-13 กรกฎาคม เวลา 10.00-18.00 น. ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค

2.ดินเนอร์ทอล์ก Exclusive Talk โดย “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“ปราปต์ บุนปาน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดและทรรศนะที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ตั้งแต่อดีตอันยาวนานมาถึงปัจจุบัน สืบเนื่องไปยังอนาคต และเพราะเหตุใดที่เครือมติชนต้องจัดงานใหญ่ในการเฉลิมฉลองครั้งสำคัญนี้

ปราปต์กล่าวว่า จีนและไทยมีความสัมพันธ์อันยาวนาน เห็นได้จากคอนเทนต์ของเครือมติชนที่นำเสนอมาตลอดในทุกมิติ ย้อนไปตั้งแต่เชิงประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ต้องพูดถึงประเทศหรือรัฐชาติในปัจจุบัน ปีที่ผ่านมา “สำนักพิมพ์มติชน” ได้จัดทำหนังสือ “รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท-ไต ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์” ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ไทย-จีน ในอีกมิติหนึ่ง หรือในสมัยอยุธยาก็มีอิทธิพลของจีน ที่เห็นชัดคือยุค “เจ้านครอินทร์” และ ผู้นำอย่าง “พระเจ้าตาก” ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นจีน

บิ๊กธุรกิจแดนสยาม-หน่อเนื้อเชื้อจีนยุคบุกเบิก

ด้วยมิติทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ความเป็นจีนและไทยผสมปนเปกันไปหมด ทั้งในเชิงวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ วิถีชีวิต อาหาร ภาษา และอื่น ๆ เมื่อถึงยุคกรุงเทพ สถานะของคนจีนก็ยิ่งสำคัญ

ด้านหนึ่ง สยามต้องการแรงงาน คนจีนก็เป็นแรงงานสำคัญของสยาม โดยเฉพาะยุคที่เศรษฐกิจเริ่มเปิด และต้องการกำลังการผลิต แต่ต่อมาอีกยุคหนึ่งก็มีกระแสต่อต้านคนจีน แสดงว่าคนจีนที่เข้ามายังผสมกลมกลืนกับสังคมไทยได้ไม่ค่อยสนิท

มาสู่ยุคสงครามเย็นที่ต่อสู้กันระหว่างเสรีนิยมและคอมมิวนิสต์ ไทยเลือกอยู่กับเสรีนิยม ก็ยิ่งตรงข้ามกับจีน รวมถึงคนจีนในไทยด้วย การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2518 จึงเป็นทางออกของเหตุการณ์ในครั้งนั้น

หลังจากเปิดประตูความสัมพันธ์การทูตแล้ว การเมืองโลกเปลี่ยน การเมืองไทยเปลี่ยน ระบบเศรษฐกิจขยายขึ้นอีกระดับหนึ่ง กลายเป็นว่าความเป็นจีนและไทยเริ่มกลืนกลายได้มากขึ้น เห็นภาพชัดเจนว่าคนไทยเชื้อสายจีนกลายเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ การเมือง แม้กระทั่งวัฒนธรรม

ยกตัวอย่าง เช่น “สวยแบบสาวหมวย” คอนเซ็ปต์นี้เพิ่งเกิดขึ้นประมาณ 30 ปีที่แล้วนี้เอง จากยุคหนึ่งที่ผู้หญิงต้องตาคม หน้าเข้ม หรือเป็นลูกครึ่ง แสดงให้เห็นว่า ความเป็นจีน วัฒนธรรมจีน หรือชาติพันธุ์จีน ค่อย ๆ กลืนกลายเข้าสู่สังคมไทย และกลายเป็นกระแสหลักด้วยซ้ำ

“ไทย-จีน มีความสัมพันธ์ที่ก่อเกี่ยวกันในทุกมิติ ยาวนาน และมีทั้งจุดขัดแย้ง คลี่คลาย หรือนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบใหม่”

เครือมติชนจัดใหญ่-เชื่อมสัมพันธ์ทุกมิติ

ปราปต์กล่าวว่า เครือมติชนได้จัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ส่วนแรก คือ งาน “Thai-Chinese Golden Fest 2025 เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย-จีน” วันที่ 11-13 กรกฎาคม ซึ่งรวมทุกมิติของความสัมพันธ์ไทย-จีน อย่างครบถ้วน ทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมร่วมสมัย ธุรกิจ สังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้การจัดแสดงนิทรรศการ และเวทีเสวนา

นอกจากนี้ ยังมีเวิร์กช็อป นำโดย “เส้นทางเศรษฐี” ว่าด้วยเรื่องการทำธุรกิจในจีน และการทำธุรกิจกับคนจีน แม้ปัจจุบันจะมีประเด็น“ไทยเทา-จีนเทา” ด้านหนึ่งไทยก็วิตกกังวลจีน แต่อีกด้านจีนก็วิตกกังวลไทย เวิร์กช็อปนี้จะตอบโจทย์ และพยายามสะท้อนให้เห็นว่ายังมีรูปแบบความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่ง คือ “ไทยที่ขาวและจีนที่ขาวก็มีอยู่ เพียงแต่จะต่อยอดอย่างไร”

กิจกรรมส่วนที่ 2 คือ“ดินเนอร์ทอล์ก” ในวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ และ เศรษฐา ทวีสิน แน่นอนว่าประเด็นหลักคือการพูดถึงเศรษฐกิจเชิงมหภาค ธนินท์ เจียรวนนท์ จะพาย้อนไปยุคที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะบริษัทต่างชาติรายแรกที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน ยุคที่ “เติ้ง เสี่ยวผิง” เริ่มเปิดประเทศ

ขณะเดียวกัน เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนักธุรกิจและอดีตผู้นำประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ และช่วงที่เป็นรัฐบาลก็พยายามดำเนินนโยบายกับจีนหลายประการ เช่น ฟรีวีซ่า ดินเนอร์ทอล์กนี้ เศรษฐา จะมาสะท้อนประสบการณ์ และร่วมกับธนินท์มองไปที่อนาคตของความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ว่าจะมีความร่วมมือกันอย่างไร

“งานในวันที่ 11-13 กรกฎาคมนี้ มีทั้งจุดที่สืบทอดความเป็นมติชน ที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม อีกด้านหนึ่งเราได้ขยายให้พื้นที่คนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการย่อย…ส่วนดินเนอร์ทอล์ก ชัดเจนว่ามีความเป็นเอ็กซ์คลูซีฟ เพื่อเป็นการพูดคุย-รับฟังทรรศนะของผู้นำภาคธุรกิจ รัฐ เอกชน คนทุกกลุ่มควรมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ ซึ่งเครือมติชนคัดสรรมาแล้วในระดับหัวกะทิ ขึ้นอยู่กับผู้เข้าร่วมงานอยากได้อะไร เรามีตัวเลือกให้ครอบคลุมและหลากหลาย”

บนคำถามที่ว่า ทำไมเครือมติชนต้องจัดใหญ่ คำตอบของเอ็มดีมติชน มี 2 มิติหลัก ข้อแรก คือ เครือมติชนแทบจะเป็นสื่อหลักสื่อเดียวในปัจจุบันที่มีประสบการณ์ร่วมกับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2518“สุจิตต์ วงษ์เทศ” ผู้อาวุโสของบริษัท และ “สุทธิชัย หยุ่น” คอลัมนิสต์ในเครือ เป็นผู้ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น

ตอนนั้นผู้ก่อตั้งมติชนจำนวนหนึ่งคือกอง บ.ก.หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งต่อมาจะพัฒนาเป็นเครือมติชน โพซิชั่นของคนประชาชาติขณะนั้นได้เปิดรับความเปลี่ยนแปลงตรงจุดนี้ กลายเป็นทรัพยากรของอดีต เป็นประสบการณ์อันมีค่า ที่สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน และสามารถนำไปขยายต่อได้

มิติที่ 2 เครือมติชนให้ความสัมพันธ์กับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ของโลกมาโดยตลอด ปีที่ผ่านมา มติชนจัดงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา “US Election 2024 เจาะลึก ศึกชิงทำเนียบขาว”ในปี 2568 นี้ งานไทย-จีน จึงเป็นเหมือน “คู่สนทนา” ของงานสหรัฐ

“ปัจจุบันมีสงครามการค้า โลกและสังคมไทยเองอาจพยายามหาทางเลือก การหันมาใส่ใจจีน ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชมหรือการวิพากษ์ก็ดี จะทำให้เราเจอทางเลือกอื่น ๆ ในภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนและยุ่งเหยิง”

จีนในหลายแง่มุม-เหรียญมีสองด้าน

ปราปต์กล่าวว่า ในความสัมพันธ์ไทย-จีน ถ้าบางด้านมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งที่สร้างผลกระทบต่อระดับรัฐและประชาชน น่าจะสามารถเปิดใจกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ หรือเรื่องอื่น ๆ ควรหารือกันอย่างมิตรประเทศได้ ถ้ามีอะไรที่ไทยไม่สบายใจ ภาครัฐในฐานะตัวแทนประเทศก็ควรจะสะท้อนความคิดเห็นไป เช่นเดียวกับจีนถ้ามีข้อสะท้อนความคิดเห็นอะไร ก็เป็นหน้าที่ของรัฐไทยที่ต้องรับฟังเช่นกัน

การที่ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ไม่มาเยือนไทย ยิ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องมาให้ความสำคัญ ต้องทำความรู้จัก หรือทำความเข้าใจจีนในปัจจุบันให้มากขึ้น ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

จีนอาจมองเห็นเราน้อยลง แต่อีกด้านเราก็ต้องสำรวจโพซิชั่นของจีนว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าอยากกระชับความสัมพันธ์กับจีนให้ดีขึ้น ต้องวางฐานจากอะไร ต้องเข้าใจจีนให้มากขึ้นก่อน ยิ่งสถานการณ์แบบปัจจุบันดูเป็นสุญญากาศ มีระยะห่าง กิจกรรมแบบที่เครือมติชนจัดก็ยิ่งมีความจำเป็น

“สปีกเกอร์บนเวทีมติชนจะช่วยดึงสังคมได้ อย่างดินเนอร์ทอล์ก คุณธนินท์ และคุณเศรษฐา ซึ่งมีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ มีประสบการณ์มากพอ ที่กล้าจะเตือนสติทั้งฝ่ายไทยและจีนในบางประเด็น หรือความสัมพันธ์ในปัจจุบันควรจะเป็นอย่างไร ควรวางตัวอย่างไร ในวันที่สองขั้วมหาอำนาจดูไม่ลงรอยกัน และส่งผลกระทบมาสู่ประเทศเล็ก ๆ จำนวนมาก สปีกเกอร์ของเรามีศักยภาพพอที่จะให้ข้อคิดอะไรบางอย่างได้แน่ ๆ หรือวิทยากรในงานวันที่ 11-13 กรกฎาคม มีหลายมุมมองน่าจะทำให้เราเข้าใจทั้งไทยและจีนมากขึ้น ทั้งปัจจุบันและอนาคต”

หรือรายการพิเศษ 50 ปีไทย-จีนของเครือมติชน ที่สัมภาษณ์ “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี “เตช บุนนาค” และ สุทธิชัย หยุ่น นอกจากการรำลึกถึงอดีตแล้ว ยังมีการกล่าวถึงปัจจุบันและอนาคตด้วย เช่น ที่อดีตนายกฯอานันท์ เตือนว่าการทูตของไทยต้องเข้าใจภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราไม่จำเป็นต้องเข้าข้างด้านใดด้านหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และยังได้ย้ำชัดว่า จีนเมื่อ 50 ปีก่อน กับจีนในปัจจุบันไม่เหมือนกัน มีโพซิชั่นต่างกัน จีนปัจจุบันใหญ่ขึ้น รัฐบาลไทยรวมถึงคนไทยต้องปรับตัวอย่างไร คอนเทนต์ของกิจกรรมทั้งหมดในวาระนี้ของเครือมติชนจะช่วยตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้

“คอนเทนต์ของเครือมติชนในการจัดงาน 50 ปีไทย-จีนครั้งนี้จะเปิดทางให้สังคมได้คิดว่าจริง ๆ โลกนี้มีทางเลือกอยู่บ้าง แม้ปัจจุบันการที่บอกว่าเลือกได้สองทางน่าจะเซฟ แต่จริง ๆ อาจจะไม่เซฟก็ได้ อาจจะต้องยอมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปก่อน และค่อยมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย การจัดกิจกรรมนี้ทำให้เห็นว่าโลกยังมีหลายทาง เพียงแต่อาจจะบีบให้เราไม่สามารถเลือกทั้งสองทางได้ในขณะนี้ แต่เห็นว่ายังมีตัวเลือกอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์แบบนี้”

เอ็มดีบริษัทมติชน กล่าวเสริมว่า ยังมีอีกโจทย์ที่สำคัญและเกี่ยวกับการเมืองระดับประเทศ หรือเศรษฐกิจในประเทศด้วย ถ้าย้อนไปในช่วงเดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าคนไทยมีความเป็นชาตินิยมมากขึ้น

“ต้นสน-สันติธาร เสถียรไทย” เคยพูดบนเวที“ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อต้นปี 2568 ว่า ตอนนี้เป็นยุคตกของโลกาภิวัตน์ (Globalization) คนในประเทศต่าง ๆ อาจเทิร์นสู่การ Antiglobalization

เมื่อยุคทองของ Globalization ผ่านไป เศรษฐกิจของแต่ละประเทศถูกขูดรีดหรือโดนกดทับจากระบบโลกมากขึ้น คนจะเทิร์นไปสู่ชาตินิยมโดยอัตโนมัติ ยิ่งประเทศไทยยิ่งเห็นชัดว่าปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ คนระดับรากหญ้ามองไม่เห็นหนทางทำมาหากินของตัวเอง

ฉะนั้นจึงอ่อนไหวเป็นพิเศษ เมื่อมีคนต่างชาติ มีทุนต่างชาติ มีแรงงานต่างชาติเข้ามาแล้วมีแนวโน้มที่จะใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกันกับคนในประเทศ ตอนนี้สังคมไทยกำลังเดินไปสู่จุดนั้นอยู่เหมือนกัน พอจีนเป็นจีนเทาเยอะขึ้น คนไทยเริ่มมีปฏิกิริยาที่ไม่ดีต่อการเข้ามาของจีน ก็จะมองแบบเหมารวมไปหมด

“ส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมนี้คือการกระตุกว่า ในทุก ๆ ความสัมพันธ์กับต่างประเทศหรือมิตรประเทศมีทั้งด้านดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่าจะหาด้านดีของมันอย่างไร และระวังอย่าประเมินอะไรจากด้านลบเสมอ การจัดกิจกรรมนี้จึงอยากชวนให้มองจีนในหลากหลายแง่มุม และหลากหลายด้าน มีทั้งด้านบวก ด้านลบ มากกว่าที่จะไปวิตกกับจีนเทา 100%”

“ความสัมพันธ์ไทย-จีนไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ประเดี๋ยวประด๋าว หรือหวังผลประโยชน์ แต่เป็นผลลัพธ์ของพัฒนาการที่มีความต่อเนื่องและจุดสะดุดบางอย่างที่ยาวนานในภูมิรัฐศาสตร์แบบนี้ จริง ๆ มีหลายทางเลือกให้ไทยได้เข้าไปแตะ คนที่มาร่วมงาน 50 ปีไทย-จีนจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในมิติที่รอบด้านมากขึ้น ซึ่งไม่มีอะไรง่าย ไม่มีอะไรเป็นบวกไปหมด ทุกอย่างมีความสลับซับซ้อน เราต้องวางโพซิชั่นตัวเองให้ดี เพื่อรับมือกับความหลากหลาย” ปราปต์ บุนปาน กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘ปราปต์ บุนปาน’ ชวนมอง 50 ปี ไทย-จีน หลายแง่มุม วันที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนและยุ่งเหยิง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ประชาชาติธุรกิจ

‘ทรงวาด’ คึกคัก Old meets New นักท่องเที่ยว-Gen ใหม่ แห่เช็กอิน

5 ชั่วโมงที่ผ่านมา

สมาร์ทโฟน ‘จอพับ’ ตอบโจทย์คนแบบไหน ?

7 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

“เชียงใหม่” สุดปัง คว้าแชมป์เมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย ปี 68 ส่วนกรุงเทพฯ มาอันดับ 3

Manager Online

คณะกรรมการมรดกโลกบรรจุ พระปรางค์ วัดอรุณ ขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก

MATICHON ONLINE

เริ่มแล้ว! “มหาอุปรากร สะท้านปฐพี” ซีพีผนึกกำลังพันธมิตร พางิ้วแต้จิ๋วเบอร์ 1 จากกวางตุ้ง แสดงสดที่ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ไอคอนสยาม

ศิลปวัฒนธรรม

สะท้อนพลังวัฒนธรรมจีนใน “หนัง-ซีรีส์” กับกลยุทธ์บุกตลาดไทยของสื่อบันเทิงจีนยุคใหม่

ศิลปวัฒนธรรม

ทั่วโลกเกิดอะไรขึ้นบ้างตลอดสัปดาห์นี้ 7-12 กรกฎาคม

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

สั่งการ พศจ.ประสานเจ้าคณะผู้ปกครอง เช็กพระทุกรูปที่เกี่ยวพัน ‘สีกากอล์ฟ’

MATICHON ONLINE

EGCO Groupคว้า2รางวัล ด้านความยั่งยืนจากเวที AREA 2025

กรุงเทพธุรกิจ

ทิดแหล่ สุดอัดอั้น ให้ปากคำทั้งน้ำตา บิ๊กเต่า เผย สอบจนเข้าใจ ทำไมพระบางรูปเป็นเหยื่อสีกากอล์ฟ

MATICHON ONLINE

ข่าวและบทความยอดนิยม

‘ปราปต์ บุนปาน’ ชวนมอง 50 ปี ไทย-จีน หลายแง่มุม วันที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนและยุ่งเหยิง

ประชาชาติธุรกิจ

สมาร์ทโฟน ‘จอพับ’ ตอบโจทย์คนแบบไหน ?

ประชาชาติธุรกิจ

กฎใหม่! คุม 'แอปเรียกรถ' คนขับ-ผู้ใช้-แพลตฟอร์ม ต้องทำอะไรบ้าง ?

ประชาชาติธุรกิจ
ดูเพิ่ม
Loading...