สนทนากับ Dept และช่างสักใน Tattoo Artists X Dept: TRACE No.17 งานสนุกๆ ของคนรักศิลปะ รอยสัก และเสียงเพลง
“เราทุกคนล้วนมีความทรงจำ” แต่ขึ้นอยู่กับว่าระหว่างที่ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นยังโลดแล่น เราจัดเก็บพวกมันในรูปแบบไหน บางคนโยนทุกสิ่งทิ้ง เพราะไม่อยากแยแสอะไรอีกแล้ว บางคนก็เก็บส่วนเสี้ยวของภาพทรงจำไว้ในบทเพลงท่อนโปรด บางคนสร้างรหัสล็อกไว้เป็นตัวเลข แต่บางคนก็ฝากฝังไว้ผ่านรอยสักบนร่างกาย เพราะเชื่อว่ามันจะอยู่ตักเตือนเราไปตลอด
เมื่อปีก่อนเราได้มีโอกาสทำความรู้จักกับ badego.bodega คอมมิวนิตีของคนรักศิลปะที่ชอบจัดกิจกรรมสนุกๆ อย่างการชวนช่างสักหลากสไตล์มาออกแบบลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลงของศิลปิน ด้วยความเชื่อที่ว่าบทเพลงเป็นเหมือนกับปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์จะต้องเสพมันอยู่แล้ว แต่หากได้ลองนำมันมาเล่นสนุกกับการสักที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันของหลายๆ คนขนาดนั้น มันคงเป็นงานที่น่าสนุกไม่เบา
ครั้งนี้พวกเขากลับมาอีกครั้งพร้อมกับศิลปินขวัญใจวัยรุ่นอย่าง Dept ใน ‘Tattoo Artists X Dept: TRACE No.17’ ที่แจกโจทย์ให้ช่างสักหยิบเพลงของสองหนุ่มมาตีความในแบบฉบับของตัวเอง และออกแบบมาเป็นลวดลายที่ให้ทั้งเหล่าแฟนคลับของศิลปินและช่างสักได้มาจับจองกันภายในงาน
ด้วยความที่ a day ได้ไปด้อมๆ มองๆ งานนี้อยู่แล้วในปีก่อน ครั้งนี้คอลัมน์ Artist Talk จึงอยากหยิบเอาเรื่องรอยสักและดนตรี มาลองจับเข่าคุยกับ น่าน (ชื่อจริง) หนึ่งในทีมจัดงานพ่วงตำแหน่งช่างสัก และสองดูโอจาก Dept: เบนซ์ ภวัต โอภาสสิริโชติ และ ลุค ทาวน์เซน ศิลปินที่มีรอยสักเป็นเครื่องบันทึกทรงจำ
ทำไมครั้งนี้ต้องเป็น Dept
น่าน : จุดมุ่งหมายแรกที่อยากจะคอลแลบงานสักกับวงดนตรี เพราะเรารู้สึกว่าเพลงมันเป็นสิ่งที่ทุกคนฟังอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะฟังวงไหนแค่นั้นเอง มันเป็นศิลปะที่เข้าถึงคนได้ง่ายกว่ารอยสักเมื่อลองเทียบกัน เราก็เลยรู้สึกว่าเสียงเพลงมันน่าจะเป็นสิ่งที่ดึงให้คนได้เห็นรอยสักมากขึ้น
เราอยากเลือกวงที่เหมือนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นวงที่พอพูดถึงชื่อเขาขึ้นมาแล้วนึกออกเลยว่าบรรยากาศมันเป็นประมาณไหน เช่น กลิ่น สี ความรู้สึก หรืออะไรต่างๆ เรารู้สึกว่า Dept เป็นวงที่จะสนุกก็ได้ หรือจะไปทางเศร้าก็ได้ มันเป็นมวลที่สามารถเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้ทั้งสองอย่างเลย เพลงสนุกก็ดัง เพลงเศร้าก็ดัง แล้วเราก็รู้สึกว่ามันน่าจะสนุกดีถ้าเลือก Dept มาในครั้งนี้
ส่วนตัวน่านเอง Dept เวลาที่เราฟังเพลงเขาแล้วเราจะรู้สึกว่ามันเบา มันฟุ้ง แต่จริงๆ แล้วมันลึกมากในแง่ของอารมณ์ ส่วนตัวน่านจะอินกับเพลง ‘ถ้ารู้ว่าจะหายไป’ มากๆ เพราะเรารู้สึกว่าดนตรีเขาไม่ได้ฟังยากขนาดนั้น มันไม่ใช่เพลงที่ดนตรีเป็นสิบๆ ชิ้น แต่ว่าพอเราฟังแล้วเราดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ กับเนื้อหาที่เขาพยายามจะสื่อออกมา สำหรับน่าน Dept คือความรู้สึกประมาณนั้น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ชัดเจนของ Dept คงจะเป็นความรู้สึก เราจะนึกออกว่ามันน่าจะเป็นประมาณนี้ แต่ว่ามันไม่ได้ตีกรอบจินตนาการของเราให้ออกมาเป็นรูปภาพขนาดนั้น ซึ่งมันเปิดโอกาสให้ช่างสักได้ตีความจากสิ่งที่เขารู้สึกจริงๆ
ลุคกับเบนซ์ และชั่วขณะของรอยสัก
เบนซ์ : จริงๆ ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจจะไปสัก แต่ว่าตามติดไปกับเพื่อนและแฟน พอไปกันเยอะๆ เพื่อนก็เชียร์ให้สัก กลายเป็นว่าเราก็ได้สักด้วยกัน ความรู้สึกวันนั้น คือเป็นเพราะความคึกคะนองเลย แต่มันก็เป็นสไตล์ที่เราก็เปิดๆ ดูอยู่ตลอด เคยแพลนว่าอยากจะสักลงไป แต่ก็ยังไม่เคยเลือกจริงจัง เพราะเวลาดูมันนานๆ เรากลัวว่าเราจะเบื่อมัน แต่พอวันนั้นใจมันได้ก็จัดการเลยครับ (ตอนนี้ก็ยังไม่เบื่อ)
ลุค : สักครั้งแรกก็เหมือนเบนซ์เลยครับ จริงๆ ก็เป็นช่างเดียวกันกับเบนซ์เลย มันคือเหตุการณ์วันเดียวกัน แต่แค่ของผมยิ่งบังเอิญเข้าไปใหญ่ คือลายสักก็ได้มาด้วยความบังเอิญ ตอนแรกเราคิดไว้ว่าอยากสักลายนี้ แต่พอจะสักปุ๊บ เพื่อนก็บอกกับเราว่าลายนี้ดูไม่เป็นเราเลย แล้วเขาดันเหลือบไปเห็นรูปวอลเปเปอร์หน้าจอของผม แล้วก็บอกว่า “ลายนี้แหละ ดูเป็นมึงมากกว่าเยอะเลย”ขนานสีของรอยสักผมก็ไม่ได้เลือกเอง เพราะว่าช่างบอกว่าสีน้ำตาลเพิ่งสั่งมาใหม่ ยังไม่เคยใช้กับใครเลย “ขอลองใช้หน่อยดิ”
แล้วตอนทำเพลงครั้งแรกล่ะ
เบนซ์ : ความรู้สึกมันน่าจะคนละแบบกันเลย ตอนทำเพลงรู้สึกอยากเอาชนะมากกว่า เราอยากที่จะแตกต่าง แต่ไม่ได้อยากเอาชนะในแง่ของศัตรูนะ แค่ต้องมีแรงผลักดันให้ตัวเอง “เหมือนกับความกระหายอะไรประมาณนั้น”
ด้วยความที่ตอนนั้นในวงการดนตรี เขามักจะทำเพลงในแบบหนึ่งเพราะมองว่ามันจะสำเร็จแน่นอน เราเคยไปอยู่ในจุดที่คนบอกว่าไอ้สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราทำมันยาก มันขายไม่ได้ แต่เราก็รู้สึกว่า“เอ้า มันก็มีตั้งหลายวงนี่หว่าที่เขาเป็นตัวของตัวเองได้” เราแค่ต้องจับจุดให้เจอว่าเขาทำแบบไหน คนชอบแบบไหน เราชอบแบบไหน และเกลี่ยมันให้เข้ากัน คำว่าเอาชนะของผมคงหมายความแบบนี้ เหมือนกับว่าเป็นการเอาชนะกับคำสบประมาทมากกว่า
ลุค : สำหรับผมการทำเพลงครั้งแรกมันคงเป็นความสนุก แล้วก็ความอยากที่จะทำมัน เราอยากจะนำเสนอสิ่งนี้ให้คนอื่นเห็น อาจจะต่างกับเบนซ์ด้วย ตอนนั้นผมยังไม่ได้คิดถึงอะไรเท่าไหร่ แค่รู้สึกว่าครั้งแรกมันสนุกมาก
ว่าด้วยเรื่องดนตรีและรอยสัก
ลุค : สำหรับผมรอยสักกับดนตรีมันคงเหมือนกันในแง่ของการเล่าเรื่อง ช่างสักเขาคงจะมีอะไรบางอย่างที่อยากจะเล่ามันออกมา ซึ่งคล้ายกับเพลงตรงที่เพลงก็มีเรื่องราวของมัน แต่ว่าแค่ย้ายจากตัวหนังสือ หรือเสียงเปลี่ยนมาเป็นร่องรอยที่อยู่บนตัวเรา
เบนซ์ : อย่างเราชอบฟังเพลง เกิดวันหนึ่งเราไม่ได้ชอบ เราเลิกฟัง เราก็แค่เปลี่ยน แต่กับรอยสักมันจะอยู่ค้างอย่างนั้น ทำให้เวลาที่เราจะสักอะไรลงไปบนตัวเรา เราต้องรู้สึกชอบมันมากๆ หรือมันต้องมีความหมายกับเรามากๆ จนเราเลือกที่จะฝังมันลงไปตลอด “คือมันลบได้แหละ แต่มันเจ็บ”
ถ้าเพลง 17 กลายมาเป็นรอยสัก
เบนซ์ : ผมว่ามันต้องดูสนุกและดูทะเล้นหน่อย ความรู้สึกตอนนั้น คือตัวละครที่มันกำลังเล่าเรื่องอยู่มันมีความเขินแล้วก็มีความกะล่อนๆ ด้วย
จริงๆ ออกมาเป็นคนเต้นก็ได้ เป็นอะไรที่มันดูกุ๊กกิ๊กๆ รู้สึกว่าถ้าเป็นสีก็คงมีหลายสีได้เลย
ลุค : ตอนแรกจะตอบว่าคงเป็นรูปคนเต้นเหมือนกัน แต่ถ้าอีกแบบ (ครุ่นคิด) ผมคิดว่าอาจจะออกมาเป็นภาพจดหมายรักที่อยากจะบอก เหมือนกับในมิวสิกวิดีโอเลย
สิ่งที่อยากจะบอกคนมาสักครั้งแรกในงานนี้
เบนซ์ : จริงๆ งานนี้ก็อาจจะเป็นแรงจูงใจที่ดีที่ทำให้ใครที่ไม่เคยสักมาเลยได้รู้จักการสักมากขึ้น ถ้าเขามีศิลปินที่ชอบ และเพลงที่เขาชอบได้ถูกออกแบบมาเป็นรอยสัก ถ้าเจอลายที่ใช่ เขาอาจจะมั่นใจมากขึ้นในการตัดสินใจที่จะสักก็ได้ครับ
ลุค : บางทีเขาก็อาจจะกลัวเจ็บด้วยจากการมาสักครั้งแรก อาจจะไม่มั่นใจ ผมเลยคิดว่าการที่มีศิลปินที่เขาชอบมาคอลเแลบด้วย อาจจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้เขากลัวเจ็บน้อยลงมั้ง (หัวเราะ)
เบนซ์ : ลองดูครับ ลองหาลายที่รู้สึกว่าเป็นตัวเองมากที่สุด เรื่องเจ็บมากเจ็บน้อยค่อยว่ากัน แต่เจ็บแน่นอน
ช่างสักเองก็รักงานนี้
มาลอง ‘สัก’ ทีมั้ย
น่าน : ภายในงานมีคนที่ไม่เคยสัก หรือไม่เคยสนใจเรื่องสักมาก่อนเลย งานนี้ทำให้เขาได้เข้าใกล้กับการสักมากขึ้น ลูกค้าบางส่วนที่มาในงานเขาก็สักเป็นครั้งแรก ซึ่งต่างกับงานครั้งก่อนๆ ที่เราอาจจะไม่ได้เจอเยอะขนาดนั้น แต่พอเป็นครั้งนี้เราก็เห็นมากขึ้น
เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสัญญาณ (หรือเปล่า) ที่งานนี้มันอาจจะเข้าถึงคนได้มากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่าในแง่ของการจัดเตรียมงาน หรือกิจกรรมของงาน เราได้ทำอะไรเยอะขึ้น ได้มีคอนเทนต์สัมภาษณ์ช่างสัก ได้มีคอนเทนต์สัมภาษณ์วง Dept ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อนเลยในงานครั้งก่อนๆ
ในมุมของช่างสักเอง เราก็รู้สึกว่าดีใจที่คนเห็นงานของเราแล้วเขาบอกว่าเขาชอบ เขาเดินทางมาเพื่อที่จะมาสักกับเรา เขาชอบลายนี้เพราะแบบนี้ หรือบางคนเพิ่งอกหักกับแฟนมาเขาเห็นความหมายของลายนี้แล้วมันฮีลใจเขาได้ เราจะรู้สึกดีกับอะไรแบบนี้
ในแง่ของการที่เป็นผู้จัด พอเห็นว่าช่างบางคนที่ยังมีคนติดตามไม่เยอะเท่าไหร่ ซึ่งมันแปลว่าคนอาจจะเห็นงานเขาน้อย การมีงานนี้เกิดขึ้นทำให้เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับงาน เรารู้สึกดีใจที่คนมาสักกับเขาเยอะ หลักๆ ก็คือน่านดีใจ ที่พวกเราได้เปิดพื้นที่ให้ช่างสักไทยที่เก่งๆ ได้ถูกมองเห็นอย่างที่ควรจะเป็น
จากใจคนที่ไม่ได้ไปสัก
หลังจากที่ได้พูดคุยกับน่านและสองหนุ่มวง Dept พวกเราเดินไปรอบๆ งานแล้วเข้าใจได้เลยว่าทำไมงาน Flash Tattoo ที่เกิดขึ้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ถึงได้ถูกจัดมาแล้วตั้ง 4 ครั้ง แถมยังได้ร่วมงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียงไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ‘ลานดอกไม้’, ‘ Whale&Dolph’ หรืออย่างครั้งนี้ก็เป็นทีของ ‘Dept’
บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยแฟนเพลงและแฟนคลับของช่างสักที่มารอต่อคิวจองลายสักกันตั้งcต่ 9 โมงเช้า เสียงสนทนาของคนไม่รู้จักที่ชวนกันคุยเรื่องรอยสัก คนรักศิลปินที่แม้ไม่ได้สักก็มาทำเวิร์กชอปร้อยลูกปัดเพื่อรอเจอศิลปิน งานนี้ไม่ได้มีสตาฟมากมาย มีแต่ความเป็นกันเอง ศิลปินมานั่งร้อยลูกปัด เดินถ่ายรูปคนไปทั้งงาน และยินดีมากๆ ที่เราจะเข้าไปพูดคุย หรือทักทาย เสมือนกับว่าพวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตีนี้
เราเองเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดว่าอยากจะมีรอยสัก แต่ไปงานนี้ครั้งแรก เพราะศิลปินคนโปรดจะแวะมาในงาน ทว่าเมื่อลองได้มาพูดคุยกับช่างสัก ทีมจัดงาน และได้เห็นรอยสักที่ถูกออกแบบมาจากบทเพลงที่เราชอบ และเคยฝังส่วนเสี้ยวของความทรงจำไว้กับมัน ทันใดนั้นมันคือชั่วขณะที่คิดว่าอยากจะสักขึ้นมาจริงๆ เหมือนกัน