ชาวปทุมธานีโวย “ทางหลวง” ขยายถนนหมายเลข 307 แยกปทุมวิไล ดีเลย์หนัก
กว่า 1 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านจังหวัดปทุมธานี ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง “โครงการปรับปรุงและซ่อมแซมถนนแอลฟัสต์ติกทางหลวงหมายเลข 307 ตอนสะพานนนทบุรี-แยกปทุมวิไล” ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก
โดยเฉพาะการสัญจรเดินทางบนถนนดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงการที่ขยายถนน ซึ่งปัจจุบันมีความล่าช้ามาก อีกทั้งจุดจอดป้ายรถเมล์ประจำทางถูกรื้ออีก
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการปรับปรุงและซ่อมแซมถนนแอลฟัสต์ติกทางหลวงหมายเลข 307 ตอนสะพานนนทบุรี-แยกปทุมวิไล ระหว่างกม.7+380-กม.9+000 ด้านซ้ายทาง จังหวัดปทุมธานี ระยะทางไม่เกิน 2 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 35 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงการมีความล่าช้า โดยโครงการนี้เป็นการใช้งบประมาณของจังหวัด ซึ่งเป็นงบประมาณที่มาช่วยส่งเสริมงานของกรมในระหว่างที่การจัดสรรงบประมาณไม่ทันดำเนินการ ที่ผ่านมาติดปัญหาแนวรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ท่อประปา และเสาไฟฟ้า
แต่ปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาท่อประปา ขนาด 60 ซม.และท่อประปาขนาด 80 ซม.แล้วเสร็จเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันยังติดปัญหาการรื้อย้ายแนวเสาไฟฟ้าในโครงการฯ ซึ่งติดขัดกับแนวท่อระบายน้ำที่กรมฯเคยออกแบบไว้เต็มแนวเขตทางเท้า ทำให้งานในโครงการยังล่าช้าอยู่ เบื้องต้นทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เสนอรูปแบบการย้ายตำแหน่งเสาไฟฟ้า
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวต่อว่า กรมฯได้มอบหมายให้ฝ่ายออกแบบของโครงการฯพิจารณาลดรูปแบบช่องจราจรเหลือขนาด 3 เมตร จากเดิมที่มีขนาด 3.50 เมตร โดยถนนที่ขยายออกไปไม่จำเป็นต้องย้ายแนวเสาไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่รถที่สัญจรไปมาได้สะดวกมากขึ้น ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างเร่งรัดการพิจารณาในเรื่องนี้เพื่อให้งานก่อสร้างสามารถดำเนินการเสร็จได้ก่อนในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนนี้
อย่างไรก็ดีกรมฯ คาดว่าโครงการปรับปรุงและซ่อมแซมถนนแอลฟัสต์ติกทางหลวงหมายเลข 307 ตอนสะพานนนทบุรี-แยกปทุมวิไล ระหว่างกม.7+380-กม.9+000 ด้านซ้ายทาง จังหวัดปทุมธานี จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไม่เกินภายในเดือนกันยายน 2568
ส่วนสาเหตุที่มีการขยายถนนในโครงการฯนี้ เนื่องจาก บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตชุมชน ท้ายที่สุดแล้วจำเป็นต้องมีการก่อสร้างขยายถนนให้เต็มเขตทางตลอดแนวเส้นทาง หากดำเนินการก่อสร้างทั้งเส้นทางจะต้องเข้าข่ายเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะใช้ระยะเวลานานหากดำเนินการ
ทั้งนี้กรมฯจำเป็นต้องดำเนินการในรูปแบบการใช้งบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงการย่อยขนาดเล็กในพื้นที่แทน เพราะเป็นชุมชนที่หนาแน่นและมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งกรมฯจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรให้เต็มเขตทางและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่มีชาวบ้านในหมู่บ้านโครงการภัทรีดาทาวน์ ปทุมธานี ติดปัญหาจากการก่อสร้างโครงการที่รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคของโครงการฯแล้ว แต่ไม่ได้มีการต่อท่อน้ำประปาคืนให้กับทางหมู่บ้านในโครงการนั้นจนเป็นเหตุให้น้ำขังเอ่อขึ้นมาจากท่อหน้าบ้าน ส่งผลให้ท่อน้ำระบายไม่ทันในช่วงที่ฝนตกหนักนั้น
ทั้งนี้ตามปกติแล้วระบบถนนของกรมฯจะดำเนินการขึ้นมาเพื่อการระบายน้ำอยู่แล้ว โดยถนนทั่วไปจะมีท่อระบายน้ำขนาด 1.20 เมตร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังหรือน้ำที่รอการระบาย
ส่วนประเด็นนี้ที่เกิดปัญหาการระบายน้ำในชุมชนเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นหรือเทศบาลนั้นๆที่คอยประสานการระบายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากการก่อสร้างถนนที่ไม่ได้มีการขออนุญาตกับทางกรมฯ ทำให้การก่อสร้างถนนไม่ได้ดำเนินการออกแบบในส่วนนี้ไว้ แต่เป็นการเชื่อมต่อตามปกติ
อย่างไรก็ดีหากในกรณีที่มีการระบายน้ำอยู่แล้ว แต่กรมฯดำเนินการขอขยายเขตทางก่อสร้างถนนทีหลัง เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ
ทางกรมฯได้เปิดให้ทางชาวบ้านหรือหมู่บ้านโครงการในละแวกพื้นที่ใกล้เคียงสามารถยื่นหนังสือขออนุญาตในนามเทศบาลหรืออบต.เพื่อเชื่อมท่อประปากับโครงการถนนของกรมฯได้ ที่ผ่านมาพบว่ามีซอยเทคโนโลยีแหลมทองได้มีการขออนุญาตทางกรมฯเพื่อเชื่อมต่อกับท่อประปาของกรมฯแล้ว