ใต้ร่มพระบารมีกษัตริย์แห่งธรรม ปูทางสู่การตื่นรู้ ‘ธรรมนาวา วัง’
“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส และได้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการให้ความคุ้มครอง รักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด”
พระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 เวลา 16.00 น. ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จากนั้น มีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกในรัชกาลที่ 10 และเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระนาม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) พระราชอุปัธยาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ” สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฒโน) พระราชกรรมวาจาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร”
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกิจทางศาสนา ทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปลี่ยนเครื่องทรง พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาลมิขาด แสดงให้เห็นถึงความตั้งมั่นของพระราชหฤทัยที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ ด้วยพระราชศรัทธาอันแน่วแน่ในพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเล็งเห็นถึงความทุกข์ของพสกนิกรว่าเป็นเรื่องสำคัญ พระองค์ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาจนประจักษ์เป็นผลในทางที่ดีแก่พระองค์เอง
จึงมีพระราชประสงค์ที่จะแบ่งปันความรู้นี้กับประชาชนของพระองค์ ผ่านหลักสูตร “ธรรมนาวา วัง” โดยมีคณะสงฆ์ผู้สนองพระราชดำริเป็นผู้นำในการเผยแผ่ธรรมคำสอนนี้ เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้เข้าถึงหนทางแห่งการดับทุกข์ และพบกับความสุขสงบจากภายในที่แท้จริง อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตที่มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง ตามรอยธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป
โดยได้มีพระราชประสงค์ให้เปิดโซเชียลมีเดียเพื่อเผยแพร่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ธรรมนาวา วัง” และเว็บไซต์ https://dhammanava.net ภายในเว็บไซต์ได้รวบรวม พระธรรมเทศนาพระอาจารย์ต้น พระอาจารย์จารุวณฺโณ ภิกฺขุ, พระอาจารย์โถย พระอาจารย์ชาครธมฺโม ภิกฺขุ, หลวงพ่อเป หลวงพ่อภูริปญฺโญ ภิกฺขุ
เพื่อให้ประชาชนคนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำไปปฏิบัติตามและเผยแพร่ต่อได้ ทำให้หลักธรรมนั้นดำรงอยู่อย่างยั่งยืน
ทั้งได้มีโครงการพุทธนวัตกรรม ธรรมนาวา “วัง” To ME นำพระอาจารย์ผู้เมตตา ถ่ายทอดหลักธรรมะพระราชทานไปเผยแพร่ให้กับเด็กและเยาวชนตามโรงเรียนต่าง ๆ พร้อมทำเวิร์กช็อปเข้มข้นที่ปลุกความตื่นรู้ในใจเยาวชน ด้านในภาคประชาชนได้มีโครงการ “ปูทาง…สู่การตื่นรู้ ธรรมนาวา วัง”
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในงาน “ปูทาง…สู่การตื่นรู้ ธรรมนาวา วัง” ภาคประชาชน รุ่นที่ 4 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพระราชทานธรรมะอันล้ำค่าดังสายธารแห่งปัญญา ให้ประชาชนไทยได้น้อมนำไปสู่การตื่นรู้ภายในตน
นับเป็นพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ท่านได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวพุทธสืบไป
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ใต้ร่มพระบารมีกษัตริย์แห่งธรรม ปูทางสู่การตื่นรู้ ‘ธรรมนาวา วัง’
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net