MIND: เหนื่อย… แต่ไม่รู้ว่าเหนื่อยจากอะไร ปัญหาเล็กที่ร้ายแรงกว่าที่คิด เผยเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
เหนื่อย… แต่ไม่รู้ว่าเหนื่อยจากอะไร ปัญหาเล็กที่ร้ายแรงกว่าที่คิด เผยเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
เคยรู้สึกไหมว่าร่างกายของเราเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา และถึงแม้จะทราบสาเหตุเป็นอย่างดีว่าเกิดจากอะไร ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานบ้าน ดูแลคนในครอบครัว หรือการพยายามรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ล้วนแล้วต้องใช้พลังงานในการลงมือทำ จนทำให้บางทีเราก็รู้สึกเฉยชาไปกับมัน และคิดว่าความเหนื่อยล้าเป็นเรื่องปกติ
แต่หารู้ไม่ว่า อาการบางอย่างอาจเป็นสัญญาณทางกายภาพที่กำลังบ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนที่ผิดปกติ หรือโรคภัยไข้เจ็บที่ซ่อนอยู่
และถ้าหากคุณเริ่มรู้สึกว่า ‘ความเหนื่อย’ เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แล้วปล่อยไว้อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ เราลองหันมาสำรวจปัญหาเหล่านี้กันอย่างจริงจังกันดูดีกว่า
1 – นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
แน่นอนว่ามนุษย์เราถ้าหากนอนหลับพักผ่อนไม่ถึง 6-8 ชั่วโมงต่อวัน จะส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้าตลอดทั้งวัน และไม่มีกะจิตกะใจที่จะทำงาน แต่ถ้าคุณเผลอหลับไปตั้งแต่หัวค่ำและตื่นขึ้นมาหลังจากนั้นประมาณ 7-8 ชั่วโมง และพบว่าร่างกายยังรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ นี่อาจเป็นสัญญาณว่าระบบร่างกายของคุณเกิดความผิดปกติ
โอกาสที่เป็นไปได้มากที่สุด โดยเฉพาะในคุณผู้หญิง คือ ‘ระบบธาตุเหล็กต่ำ’ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่มีเปอร์เซ็นต์เกิดอยู่บ่อยครั้ง และเมื่อธาตุเหล็กในร่างกายมีปริมาณที่ต่ำลงผิดปกติ จะส่งผลให้ระบบลำเลียงออกซิเจนทำงานได้อย่างไม่เต็มที่
2 – รู้สึกหงุดหงิดตลอดเวลา
ผลกระทบอันเกิดจากความเหนื่อยล้าสะสมนั้น มักจะมีผลข้างเคียงตามมา คือ ความรู้สึกหงุดหงิดที่ผุดแทรกเข้ามาในอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจเกิดจากฮอร์โมนหลายชนิดที่เกิดการแปรปรวนขึ้น จนส่งผลต่อระบบการสร้างพลังงาน การควบคุมอารมณ์ ความต้องการทางเพศ รวมถึงการตอบสนองต่อความเครียด
3 – การหมดแรงใจจะทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน
ถ้าหากคุณรู้สึกหมดใจในการลงมือทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่น ทำกับข้าวกิน หรือแค่เดินออกไปหน้าปากซอยซื้อของ ทุกสิ่งทุกอย่างแน่นอนว่าเกิดจากปัญหาความเหนื่อยล้า หากแต่ปัญหาที่หยั่งลึกเข้าไปอีกระดับหนึ่ง เช่น ความไม่สมดุลของฮอร์โมน สภาพอารมณ์ที่ไม่ปกติ อย่างภาวะซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล และการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุจำเป็น
4 – รักษาสุขภาพแค่ไหน น้ำหนักกลับไม่ขยับ
แน่นอนว่าการกินอาหารเพื่อควบคุมจำนวนแคลอรีหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถช่วยให้น้ำหนักค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าหากออกกำลังกายหรือควบคุมอาหารสักเท่าไร น้ำหนักก็ยังเท่าเดิม อาจมีปัญหาจากเรื่องปัจจัยฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานไม่ปกติ, ภาวะดื้อต่ออินซูลิน, กลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ และภาวะความเครียดเรื้อรังหรือต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ ดังนั้นอาการปรึกษานักโภชนาการหรือแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ จึงอาจเป็นกุญแจที่ช่วยให้เราเข้าใจได้จริงๆ ว่าร่างกายของเราเกิดอะไรขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเหนื่อยล้าก็ไม่ได้เกิดจากฮอร์โมนที่ทำงานไม่ปกติหรือโรคภัยไข้เจ็บที่ซ่อนอยู่ภายใต้ร่างกายเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาทางด้านจิตใจของตัวเราเองด้วย
เพราะในบางครั้งเราก็กดดันตัวเองจากการทำงานมากเกินไป หรือชอบนำตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ จนในที่สุดก็เรื้อรังไปสู่ความเหนื่อยล้าจากการใช้หัวคิดเยอะ ซึ่งสิ่งร้ายแรงที่สุดคือ อาจส่งผลต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วย
ฉะนั้น การสร้างสมดุลในชีวิต หรือที่เรียกว่า ‘Work-Life Balance’ สามารถช่วยจัดสรรพลังงานในการดำรงชีวิตไปในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าหากรู้สึกเหนื่อยล้ากับตัวเองมาเป็นเวลานาน จนเริ่มส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน การพบนักจิตวิทยา นักบำบัด ก็อาจช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยเหล่านั้นลงได้ หรือถ้าหากเป็นในด้านของฮอร์โมนทำงานไม่ผิดปกติ ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณวุฒิอย่างเหมาะสม