MIND: รู้หรือไม่ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองแก่ จะทำให้เรากลายเป็นคนแก่จริง! เพราะความรู้สึกส่งผลต่อสมองและสุขภาพ
หลายคนอาจเคยบ่นว่าที่เราปวดหลังปวดตัวบ่อย อาจเป็นเพราะตัวเราแก่แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าการที่เรารู้สึกว่าตัวเองแก่ทั้งที่อายุจริงอาจไม่มากจะทำให้ตัวเรากลายเป็นคนแก่ได้จริง เพราะความรู้สึกมีผลต่ออายุมากกว่าที่คุณคิด
โดยความรู้สึกเกี่ยวกับอายุของเรานี้เป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ‘Subjective Age’ หรืออายุโดยอัตวิสัย ซึ่งหมายถึงการที่เรารู้สึกว่าตัวเองมีอายุมากกว่าหรือน้อยกว่า อายุจริงตามบัตรประชนของเรา อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกที่มีต่ออายุดังกล่าวมีการวิจัยตลอดหลายทศวรรษว่า Subjective Age ส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสมรรถภาพทางสมอง
ดังในงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ยานนิก สเตฟาน (Yannick Stephan) และคณะในปี 2021 ประเทศฝรั่งเศส ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 10,000 คน พบว่าคนที่รู้สึกแก่กว่าความเป็นจริง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นในช่วง 9 ปีถัดไป โดยความรู้สึกแก่นั้นสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพอื่นๆ ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิต รวมถึงภาวะซึมเศร้า โดยถ้าหากคุณมีความรู้สึกว่าตนเองแก่และมีพฤติกรรมเหล่านี้ ก็จะยิ่งส่งผลด้านลบต่อร่างกายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้งานวิจัยของรองศาสตราจารย์สเตฟาน และคณะ ยังพบว่าความรู้สึกแก่ส่งผลต่อสุขภาพสมอง โดยเขาให้ผู้ที่มีรู้สึกว่าตนเองแก่ทำคะแนนทดสอบความจำและทักษะด้านการคิด พบว่าผู้ที่รู้สึกว่าตนเองแก่มีทักษะการใช้ความคิดและความจำต่ำลง
หรือในอีกงานวิจัยหนึ่งของไอส์ลา ลิปปอน (Isla Rippon) และ แอนดรูว์ สเต็ปโท (Andrew Steptoe) ปี 2015 สหราชอาณาจักร พบว่าผู้ที่รู้สึกว่าตนเองแก่กว่าอายุจริงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ไม่คิดในอีก 8 ปีถัดมา อีกทั้งงานวิจัยของลิปปอนและสเต็ปโท ในปี 2018 ยังพบว่าผู้ที่มีความรู้สึกว่าตนเองแก่กว่าวัยมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าและสมรรถภาพการใช้ชีวิตก็ลดลงถึง 4 ปีด้วย
ทั้งนี้หากนำการวิจัยมาเทียบกับบุคคลที่มี Subjective Age ที่รู้สึกว่าตัวเองอายุน้อยกว่าความเป็นจริง การคิดเช่นนี้ส่งผลดีกว่าการคิดว่าตนเองแก่ ดังในงานวิจัยของ เซยุล ควาก (Seyul Kwak) และคณะ ปี 2018 ประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้ทำการศึกษาSubjective Age ด้วยเทคโนโลยีภาพสมอง (Brain Imaging) พบว่าผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองอายุน้อยกว่ามีสุขภาพสมองดีกว่า
ไม่ว่าจะเป็นการมี ‘ปริมาตรสมองส่วนกลีบหน้าผากมากกว่า’ ทำให้มีการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจและควบคุมตัวเองได้ดีกว่า อีกทั้งยังมี ‘ปริมาตรของสมองส่วนกลีบขมับมากกว่า’ ทำให้การพูด การใช้ภาษา ความทรงจำ และการเข้าสังคมดีกว่ากลุ่มที่รู้สึกแก่กว่าวัย
อย่างไรก็ดีภาวะการรู้สึกว่าตนเองแก่กว่าวัยเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ดูแลโรคป่วยเรื้อรัง ออกไปทำกิจกรรมกับคนรอบตัว เพราะเมื่อเราเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายและจิตใจก็จะตอบสนองในทางที่ดีขึ้น ทำให้เรารู้สึกกระฉับกระเฉง สดชื่น และมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น
เช่นผู้สูงอายุชาวสกอตแลนด์จำนวนมากที่ได้หันมาเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับชีวิตในวัยหลังเกษียณ ด้วยการออกมาเคลื่อนไหวร่างกาย สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตด้วยการตั้งเป้าหมายในสิ่งที่ตนอยากทำ
เช่น เซอร์ รานัล์ฟ ไฟน์ส (Sir Ranulph Fiennes) ผู้ไม่รู้จักคำว่า ‘แก่เกินไป’ ด้วยการเปลี่ยนการใช้ชีวิตและตั้งเป้าหมายใหม่ โดยเขาหันมาวิ่งมาราธอน 7 รายการใน 7 ทวีป เมื่ออายุ 59 ปี ไปจนถึงพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ในวัย 65 ปี และแม้จะเคยบาดเจ็บจนต้องผ่าตัดหัวใจในวัย 70 เขาก็ยังไม่หยุดผจญภัย จนเขาสามารถบรรลุเป้าหมายได้ในวัย 71 ปี ด้วยการวิ่งจบ Marathon des Sables ซึ่งเป็นอัลตร้ามาราธอนระยะทาง 251 กม. กลางทะเลทรายซาฮารา
หรือผู้สูงอายุอีกท่านอย่าง เจมส์ พาร์กินสัน (James Parkinson) ผู้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การแพทย์ไปตลอดกาลวัย 62 ปี โดยเจมส์ พาร์กินสันได้ตีพิมพ์งานชื่อ ‘An Essay on the Shaking Palsy’ ซึ่งเป็นงานแรกที่อธิบายลักษณะของโรคที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่า ‘โรคพาร์กินสัน’ ทั้งนี้แม้งานของเขาจะยังไม่เป็นที่ยอมรับในเวลานั้น แต่ก็กลายเป็นรากฐานสำคัญของวงการประสาทวิทยาสมัยใหม่ ซึ่งถือเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการค้นพบอันยิ่งใหญ่ทางปัญญา ไม่ได้สงวนไว้แค่คนหนุ่มสาว แต่เหมาะสำหรับคนที่ใฝ่รู้และไม่หยุดลงมือทำ แม้ในบั้นปลายชีวิตก็ตาม
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า แม้กาลเวลาจะไม่อาจย้อนตัวเลขของอายุลงไปได้ แต่ถ้าสุขภาพและความรู้สึกภายในของเราดี ดูอ่อนเยาว์ก็จะทำให้ตัวเราชะลอการแก่กว่าวัย และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปได้