‘Wait and See’
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สันติ จิรพรพนิต
มึน ๆ อึน ๆ กันแทบทั้งสัปดาห์ กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ
ไฮไลต์ไม่พ้นการเข้ารับตำแหน่งของ ครม.ชุดใหม่ หลังเข้าถวายสัตย์ฯเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม
แต่ที่พีกกว่าคือวันเดียวกับการโปรดเกล้าฯ ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีคลิปเสียงคุยกับ “ฮุน เซน”
การพักงานผู้นำประเทศของศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับคนไทยถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เพราะโดนมาหลายคน ส่วนใหญ่ไปแล้วไปเลย
จะมีแค่บางคนที่ได้กลับมา ซึ่งก็พอจะคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าอะไร ยังไง ?
แม้หลายฝ่ายจักมองว่าอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่มีล้นเหลือ อาจจะขัด ๆ กับความเป็นประเทศประชาธิปไตยอยู่บ้าง
แต่ต้องยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เราจำเป็นต้องอยู่กับมาตรฐานแบบนี้ให้ได้
ก็ขนาดเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหารยังไม่มีความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่กลับพยายามเอาผิดคนที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญบางมาตราว่ามีความคิดล้มล้าง คงพอจะเห็นภาพได้ชัดเจนแล้ว
อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้นำประเทศบางท่าน เป็นฝ่ายเปิดช่องให้ผู้ที่จ้องเล่นงานได้มีโอกาสลงมือด้วยเช่นกัน
ถึงแม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็แล้วแต่ ประเทศไทยยังต้องเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเป็นจุดสลบของทุกรัฐบาล
จนทำให้ในช่วง 10 ปีเศษมานี้ ไทยต้องปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ รัฐบาลกู้เงินหลายรอบเพื่อพยุงเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงอย่างมีนัย
เพราะปัญหาที่สะสม และหมักหมมมานาน บวกกับปัญหาการเมืองภายในประเทศ และระหว่างประเทศ
การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยิ่งถอยหลังลงเรื่อย ๆ
จนเมื่อปรับคณะรัฐมนตรี บรรดานักธุรกิจ หรือนักเศรษฐศาสตร์ พยายามมองในแง่ดีว่า กระทรวงเศรษฐกิจต่าง ๆ น่าจะกระฉับกระเฉงขึ้น
หากดูรายชื่อแม้ส่วนหนึ่งจะเป็นหน้าเดิม ๆ หรือบ้านใหญ่ในแต่ละกลุ่ม แต่ก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามารับตำแหน่งอยู่หลายคนด้วยกัน น่าจะพอคาดหวังได้ประมาณหนึ่ง
แต่ที่น่ากังวลสุดตอนนี้ไม่พ้นเสถียรภาพของรัฐบาล หลังพรรคภูมิใจไทยถอนตัวออกไป
ทำให้เสียงฝ่ายรัฐบาลปริ่มน้ำเสียเหลือเกิน ต่างกันแค่ 10 กว่าเสียงเท่านั้น
แสดงชัดจากการประชุมสภานัดแรกหลังได้ ครม.ใหม่ ประธานสภาต้องชิงปิดประชุม หลังฝ่ายค้านขอนับองค์ประชุม
บรรดากูรูมองว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเห็นบ่อยขึ้น หาก สส.ฝ่ายรัฐบาลมา ๆ ขาด ๆ แบบนี้
ยิ่งชัดมากขึ้น เมื่อมีการเสนอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ในวาระพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 ก.ค.
แม้จะอ้างเรื่องรอสมาชิก ครม.ใหม่ เข้ามามีส่วนร่วม แต่ส่วนหนึ่งไม่พ้นเสียงที่ปริ่มน้ำ อาจเกิดปัญหาขึ้นได้หากถูกตีตกกลางที่ประชุมสภา
อีกส่วนคือเสียงไม่เห็นด้วยที่ยังยืนกรานว่า ไทยไม่เหมาะจะมีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
การที่รัฐบาลมีเสียงเฉียดฉิวขนาดนี้ ทำให้มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ ส่งผลถึงแผนการลงทุนต่าง ๆ ทั้งของรัฐเอง และเอกชนด้วย
เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่รอดูท่าทีก่อน เนื่องจากไม่มั่นใจว่าลงทุนลงแรงไปแล้ว เกิดมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผลกระทบที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
ทำให้ตอนนี้หน้าที่ของรัฐบาลนอกจากจะเร่งฟื้นเศรษฐกิจแล้ว ที่สำคัญกว่าต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพด้วย
เพราะหากยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ แบบนี้ แทบทุกฝ่ายคงต้อง “Wait and See” ไปเรื่อย ๆ
แน่นอนว่าย่อมไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น ที่สำคัญ ยิ่งลากยาวออกไป
ปัญหาก็จะยิ่งมากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘Wait and See’
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net