“เงินเฟ้อไทย” มิ.ย. ลด 0.25% ร่วงต่อเนื่อง 3 เดือน เหตุพลังงาน-อาหารสดปรับลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 ก.ค. 68) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ 100.42 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง -0.25% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนของปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ -0.1% โดยสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับลดลง รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายชนิด เช่น ไข่ไก่ ผักสด และผลไม้สด ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกรและอาหารสำเร็จรูป
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 68) เพิ่มขึ้น 0.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ 101.43 หรือเพิ่มขึ้น 1.06% เมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.97% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2568 ยังคงมีแนวโน้มติดลบอย่างต่อเนื่อง และในไตรมาส 3/68 คาดว่าจะยังคงติดลบใกล้เคียงกับไตรมาส 2/68 ที่ระดับเฉลี่ย -0.35% อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4/68 ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีเงินเฟ้อติดลบติดต่อกันถึง 3 เดือน แต่สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด เนื่องจากการลดลงของเงินเฟ้อเป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นหลัก