5หมื่นล.สู้ภาษีทรัมป์ คลังช็อก1ส.ค.เก็บไทย36%เร่งชงข้อเสนอใหม่เอาใจสหรัฐ
"ทรัมป์" ส่งจดหมายถึงไทย เก็บภาษีนำเข้าสหรัฐคงเดิม 36% มีผล 1 ส.ค.นี้ บอกยังต่ำกว่าระดับที่จำเป็น ย้ำอัตราภาษีปรับเพิ่มหรือลดได้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์สองประเทศ "ภูมิธรรม” ระบุประกาศเก็บภาษีสวนทางการพูดคุย "พิชัย" รับช็อกตัวเลขเล็กน้อย เชื่อข้อเสนอใหม่ทำสหรัฐเปลี่ยนใจได้ ระบุอัตราภาษีไม่น่าจะเป็นอัตราเดียว ยันมีแผนสำรองรับมือ "จุลพันธ์" แย้มรัฐบาลเตรียมงบ 5 หมื่นล้านรองรับวิกฤตภาษีทรัมป์ "กมธ.งบ 69" เชิญ รมว.การคลังแจงรายละเอียด "ศิริกัญญา” ชี้ประกาศสหรัฐบีบไทยคายข้อเสนอเสี่ยงสูง แนะชั่งน้ำหนักก่อนเทหมดหน้าตัก "พปชร." จี้เปิดข้อมูลเจรจาก่อนเศรษฐกิจไทยพัง
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2568 มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ส่งจดหมายถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุว่า
เรียน นายกรัฐมนตรี เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าได้ส่งจดหมายฉบับนี้ถึงท่าน ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นในความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของเรา และข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐอเมริกาได้ตกลงที่จะเดินหน้าทำงานร่วมกับประเทศไทยต่อไป แม้จะประสบปัญหาขาดดุลการค้ากับประเทศของท่านเป็นอย่างมากก็ตาม อย่างไรก็ตาม เราได้ตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อกับท่าน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบการค้าที่สมดุลและเป็นธรรมมากขึ้น เราจึงขอเชิญประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอันน่าอัศจรรย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับหนึ่งของโลกอย่างแท้จริง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศไทย และได้ข้อสรุปว่าเราจำเป็นต้องลดเลิกการขาดดุลการค้าเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากนโยบายกำแพงภาษีและมิใช่ภาษี ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ของไทย ความสัมพันธ์ของเราในอดีตนั้น น่าเสียดายที่ไม่เป็นไปอย่างต่างตอบแทน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2568 เป็นต้นไป สหรัฐอเมริกาจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% สำหรับสินค้าทุกชนิดจากประเทศไทยที่ส่งเข้ามายังสหรัฐอเมริกา แยกจากภาษีตามหมวดหมู่สินค้าโดยสิ้นเชิง สินค้าที่ผ่านการถ่ายโอนจากประเทศที่สามเพื่อเลี่ยงภาษีจะถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่าตามที่ควรโปรดเข้าใจว่า อัตรา 36% นี้ยังต่ำกว่าระดับที่จำเป็น เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้าที่เรามีกับประเทศของท่าน
อย่างที่ท่านทราบ หากประเทศไทย หรือบริษัทใดในประเทศของท่าน เลือกที่จะมาตั้งฐานการผลิตหรือประกอบสินค้าในสหรัฐอเมริกา จะไม่ต้องเสียภาษีใดๆ และเรายังจะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการอนุมัติด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ หากประเทศไทยเลือกที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าในอัตราใด เราจะเพิ่มอัตรานั้นเข้าไปใน 36% ที่เรากำหนดไว้แล้ว โปรดเข้าใจว่า การจัดเก็บภาษีนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อแก้ไขผลกระทบจากนโยบายภาษีและมิใช่ภาษีของไทยที่มีมานานหลายปี และนำไปสู่การขาดดุลการค้าในระดับที่ไม่อาจยอมรับได้ต่อเศรษฐกิจ และแม้แต่ต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา
เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับท่านในฐานะพันธมิตรทางการค้าต่อไปอีกหลายปี หากประเทศไทยประสงค์จะเปิดตลาดการค้าที่เคยปิดไว้ต่อสหรัฐอเมริกา และยกเลิกนโยบายกำแพงภาษี รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ เราอาจพิจารณาปรับเงื่อนไขในจดหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ อัตราภาษีดังกล่าวสามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรา สหรัฐอเมริกาจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง ขอบคุณสำหรับความใส่ใจในเรื่องนี้ ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง ลงนามโดย โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องการเจรจาภาษีมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่ตนไปประเทศสิงคโปร์ และได้พูดคุยกับรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ได้หารือกัน คือการขอนัดวันเจรจา เนื่องจากมีความสัมพันธ์กันมานาน และก็ให้วันนัดมา ก่อนไปเจรจากัน แต่ในการเจรจากันที่มาบอกว่าตอนนี้ใช้อัตราภาษี 36% มองว่าสวนทางกันอยู่บ้างในการคุยพูดคุยกับผู้แทนการค้าที่ได้นัดหมายกัน ขณะที่ทางทำเนียบและส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทำหนังสือมา
"คิดว่าหากสามารถสรุปรวบรวมได้น่าจะมีอะไรดีขึ้น โดยเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีอะไรดีขึ้น ซึ่งรายละเอียดขอให้รอนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง" นายภูมิธรรมกล่าว
เชื่อข้อเสนอใหม่เปลี่ยนใจทรัมป์
ส่วนนายพิชัย ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาภาษีกับสหรัฐ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมที่กระทรวงการคลัง เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือและลดผลกระทบจากอัตราภาษี 36% ดังกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า รัฐบาลยังมั่นใจแม้สหรัฐจะประกาศอัตราภาษี 36% ออกมา แต่ก็ได้ส่งข้อเสนอไปแล้ว และน่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี ตอนนี้เห็นว่าการเจรจาต้องใช้เวลา เขาจึงเลื่อนเวลาออกไป และอัตราภาษีที่ส่งมามี 2-3 ลักษณะ คือลักษณะแรกคือ ถ้ายังไม่มีการเจรจา ก็ยืนตามเดิม อีกกลุ่มที่คิดว่าเคยเสนอไปแล้วและต่ำกว่าเกิดก็ปรับให้เข้ากลุ่ม แปลว่าไทยจะต้องใช้เวลาต่อจากนี้ทำงานให้หนักขึ้น และมั่นใจข้อมูลที่ส่งไปล่าสุดทางผู้ปฏิบัติได้รับแล้ว และเป็นไปได้ว่าหนังสือที่ออกมาเป็นเพราะวันที่ 9 ก.ค. เป็นวันสุดท้าย ถ้าไม่มีหนังสือออกมาก็ทำให้ผลทำงานไม่ได้
"รัฐบาลยังมั่นใจว่าสุดท้ายแล้วอัตราภาษีของไทยที่ส่งไปล่าสุดจะอยู่ในกลุ่มที่แข่งขันได้" นายพิชัยกล่าว
ถามถึงข้อเสนอที่จะบอกว่าลดภาษีสินค้าบางรายการลงประมาณ 90% ซึ่งในกลุ่มนี้มีสินค้าที่ไม่คิดภาษีหรือภาษี 0% อยู่ด้วย นายพิชัยกล่าวว่า ปกติข้อเสนอรายการสินค้าจะมีอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งเดิมเรามี FTA อยู่แล้ว บางรายการก็มีอัตราภาษี 0% บางสินค้าจึงไม่มีเหตุผลที่เราจะให้เหมือนประเทศอื่น
"การคิดอัตราภาษี 36% ครั้งนี้ หากดูในรายละเอียดจะไม่ได้เป็นการจัดเก็บอัตราภาษีทั้งหมด แต่บางรายการสามารถดึงอัตราภาษีที่มีความแตกต่างกันออกมาได้ ส่วนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ก็คงต้องพิจารณาว่าจะนำเข้ารายการไหนบ้าง ซึ่งทางสหรัฐกำลังพิจารณา โดยตอนนี้มองว่าการคิดอัตราภาษีคงไม่ใช่อัตราเดียว อาจจะมีอัตราหนึ่งที่ยืนไว้ อีกส่วนเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสินค้านั้นๆ" นายพิชัยกล่าว เมื่อถามว่า กรณีเลวร้ายที่สุดถ้าสหรัฐไม่รับพิจารณาข้อเสนอและเก็บภาษี 36% เท่าเดิมจะเป็นอย่างไร นายพิชัยกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าข้อเสนอที่เสนอไปก่อนหน้านี้เป็นข้อเสนอที่ดีและเปิดเผย และตอนนี้ต้องคำนึงว่า เมื่อเสนอไปแล้วก็มีผู้เกี่ยวข้องพิจารณาอีกหลายขั้นตอน
หัวหน้าคณะเจรจาภาษีกับสหรัฐยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เดิมเกมช้า เพราะการทำเรื่องนี้คนในระดับนโยบายและระดับทำงานก็ทำงานมาตลอด ที่ผ่านมาก่อนจะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐ คณะทำงานก็มีการพูดคุยก่อนหน้านั้นเป็นเดือน โดยลงรายละเอียดถึงรายสินค้า ส่วนการไปเจรจาระดับนโยบายก็ไปคุย
"แม้ผลการจัดเก็บภาษีในท้ายที่สุดหลังวันที่ 1 ส.ค.2568 จะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลยืนยันว่ามีแผนสำรองมารองรับ ทั้งกรณีคิดภาษี 36% หรือต่ำกว่า 36% เพราะปัจจุบันการค้าบนโลกปัจจุบันต้องปรับปรุงตลอด ส่วนการเยียวยาผู้ประกอบการก็ได้เตรียมการรองรับอยู่แล้ว" หัวหน้าคณะเจรจาภาษีกับสหรัฐกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า หลังจากนี้รัฐบาลมีความจำเป็นในการเร่งอธิบายสถานการณ์ภาษีและโครงสร้างการค้าต่อกลุ่มนักลงทุนและตลาดทุนไทย โดยเฉพาะในช่วงที่ตัวเลขภาษีนำเข้า-ส่งออกของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและกัมพูชา ปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหมู่นักลงทุนว่าไทยกำลังเสียเปรียบ
“ถามว่าช็อกไหมกับอัตรา 36% ก็มีบ้างนิดหน่อย แต่มองแล้วเข้าใจว่าทางฝั่งสหรัฐเองก็กำลังเร่งเคลียร์กับหลายประเทศ ซึ่งเราได้เช็กแล้วว่าข้อเสนอของเราได้ส่งถึงสหรัฐตั้งแต่เช้าวันที่ 7 ก.ค.เรียบร้อยแล้ว แต่คาดว่าข้อเสนอนั้นยังไม่ทันหยิบมาพิจารณา ต้องยอมรับว่าเวลาการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐมีจำกัด เพราะสหรัฐมีตารางนัดกับหลายประเทศจำนวนมาก จึงไม่แปลกใจที่การเจรจาจะไม่แล้วเสร็จ” นายพิชัยกล่าว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ได้หารือถึงกรณีสหรัฐส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยยืนยันการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป โดยนายพิชัยได้ชี้แจงต่อ ครม.ถึงกลไกต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งผลการเดินทางไปหารือกับทางสหรัฐ ซึ่งเห็นว่าสหรัฐตอบรับกับข้อเสนอที่ไทยได้เสนอไป แต่การเจรจาลักษณะนี้ไม่ได้จบเพียงครั้งเดียว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นถ้าวิเคราะห์ง่ายๆ ก็ถือเป็นการเลื่อนเวลาออกไปจนถึงเดือน ส.ค.เพื่อให้ทุกอย่างจบสิ้น
กันงบ 5 หมื่นล.รับมือภาษีสหรัฐ
นายจุลพันธ์กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้กันวงเงินไว้สำหรับดูแลผู้ประกอบการ ส่วนแรกคืองบกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะแรก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงสร้างภาษีใหม่ อีกส่วนยังมีเงินจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลืออีก 4 หมื่นล้านบาท ไว้รองรับในกรณีที่หากเกิดปัญหาให้ตรงจุด ทั้งภาคเอกชนและประชาชน
"ส่วนการจะใช้หรือไม่ใช้อย่างไร ก็ต้องรอดูผลของการพิจารณาภาษีเสร็จสิ้นก่อนว่าสุดท้ายแล้วไทยจะถูกเก็บภาษีเท่าใด ซึ่งสุดท้ายคงต้องหาโจทย์เหมือนที่รองนายกฯ แจ้งว่า การเจรจาภาษีต้องเป็นวิน-วิน เราจะต้องได้ในบางสิ่ง ถอยในบางสิ่ง คงไม่ได้เปิดให้เขาทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะจะกระทบกับผู้ประกอบการเกษตรกรไทย ซึ่งจะต้องมีวิธีการและกลไกในการเจรจาต่อไป และให้ความเชื่อมั่นกับทีมไทยแลนด์ที่เจรจา" นายจุลพันธ์กล่าว
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงเตรียมหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และในราย sectors เพื่อประเมินผลกระทบและเตรียมมาตรการรองรับด่วนที่สุด และได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาตลาดใหม่เพื่อลดความเสี่ยงควบคู่ไปด้วย
"ในวันศุกร์ที่ 11 ก.ค.นี้ ทางทีมไทยแลนด์และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะนัดประชุมกันที่บ้านพิษณุโลกด้วย" นายจตุพรกล่าว
ที่รัฐสภา นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 กล่าวถึงกรณีสหรัฐแจ้งจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% ว่า มีตัวแทนของ กมธ.ที่เสนอในห้องประชุมเหมือนกันว่าอยากให้นายพิชัยเข้ามาอัปเดตความคืบหน้า และตั้งเป้าหมายพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง ว่าการพิจารณางบควรดำเนินการอย่างไรต่อไป จะปรับลดส่วนไหนเป็นพิเศษหรือไม่
“เรามีมติให้ส่งเอกสารแจ้งให้ทางท่านทราบ เดี๋ยวรอดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ แต่ก็เข้าใจว่านอกเหนือจากตัวท่านพิชัยที่เป็น รมว.การคลัง เรายังมีท่านจุลพันธ์นั่งเป็น กมธ.อยู่ในคณะด้วย หากท่านพิชัยไม่สะดวก ก็คงมอบหมายให้ท่านจุลพันธ์เป็นผู้นำเสนอหรือหารือกับ กมธ.ต่อไป ซึ่งเข้าใจว่าต้องพิจารณาว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ยังไม่ได้มีการหารือในชั้น กมธ.ในขณะนี้” นายชนินทร์กล่าว
ถามว่า แนวทางความเห็นของ กมธ.คุยกันว่าอย่างไรบ้าง นายชนินทร์กล่าวว่า เป็นความกังวลของเพื่อนสมาชิกบางส่วน ว่าเราจำเป็นต้องเตรียมงบประมาณสำหรับช่วยเหลือภาคเอกชนต่างๆ หรือไม่ หากมีความจำเป็น จะต้องมีการปรับลดงบประมาณบางส่วน เพื่อเตรียมในส่วนนั้นหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะในส่วนของรัฐบาลเองก็มีงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับมาตรการต่างๆ ไว้แล้วอยู่เหมือนกัน
ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงกรณีสหรัฐกำหนดอัตราภาษีนำเข้าของไทยคงเดิม 36% ว่า เป็นเรื่องค่อนข้างช็อก ตอนแรกที่มีการประกาศว่าจะส่งจดหมาย เรายังไม่ได้คิดว่าประเทศไทยจะอยู่ในรอบแรก เนื่องจากเพิ่งเข้าสู่กระบวนการเจรจาไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเดียวกันที่ได้รับจดหมาย
"การที่จบที่ 36% คิดว่าเป็นการบีบต้อนให้เราจนมุม ด้วยเดดไลน์ ทำให้ต้องคายข้อเสนอที่ยังตกลงกันไม่ได้ให้มากกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษี 36% ดังนั้น 36% คงเป็นอัตราสูงสุดที่เราจะได้รับ คงไม่ได้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้แล้ว เพราะหลายประเทศถูกปรับขึ้นภาษีด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น มาเลเซีย จึงถือว่ายังมีช่วงเวลาให้เราได้หายใจ เพื่อปรับปรุงข้อเสนอใหม่ซึ่งข้อเสนอใหม่นี้เข้าใจว่าถูกส่งไปตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.แล้ว จึงต้องรอท่าทีของทางสหรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไร" น.ส.ศิริกัญญากล่าว
ถามว่า ข้อเสนอลดสินค้าเกษตรของไทยจะทำให้ผลการเจรจาดีขึ้นหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเปิดเผยว่าสินค้าเกษตรดังกล่าวมีอะไรบ้าง รวมถึงข้อเสนอที่จะเก็บภาษี 0% ใน 90% ของสินค้าสหรัฐที่นำเข้ามาในไทย เมื่อเทียบกับเวียดนาม ที่ประกาศไปแล้วว่าจะลดเหลือ 0% ทุกรายการของสินค้าสหรัฐ ทำให้ได้ลดอัตราภาษีอยู่ที่ 20% ก็อาจจะทำให้ข้อเสนอของไทยไม่ได้น่าดึงดูดนัก ขณะเดียวกันเราคงต้องขอดูทั้ง 90% ของรายการสินค้าสหรัฐที่ไทยจะลดภาษีให้ มีอะไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ ดังนั้นโอกาสที่จะกระทบต่อเกษตรกรไทยก็ค่อนข้างสูง
พปชร.จี้ รบ.เปิดข้อมูลเจรจา
ซักว่าจำเป็นต้องเทหมดหน้าตักเหมือนเวียดนามหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนัก เพราะหากเทหมดหน้าตักก็คงไม่ได้ลดต่ำกว่า 20% และยังต้องดูอีกว่าถ้าได้เท่าๆ กับประเทศคู่แข่ง ไม่ใช่ว่าเราจะได้เปรียบ เพราะขึ้นอยู่กับการทำกำไรของผู้ประกอบการ เช่น เวียดนาม หากเขาทำกำไรได้ราว 20% เขาก็สามารถลดราคาผู้นำเข้าได้ 20% ทำให้เรื่องภาษีไม่มีผลกระทบต่อเขาเลย ซึ่งในขณะที่ไทยเสียเปรียบในต้นทุนการผลิตสินค้าที่มีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น ค่าไฟฟ้าและวัตถุดิบอื่นๆ ทำให้เราไม่สามารถตัดราคาแข่งกับคู่แข่งได้ จึงต้องมาดูแลรายละเอียดรายสินค้าอีกทีหนึ่ง
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ตอนนี้เรายังพอมีหวังที่จะได้ลดอัตราภาษี การขยับเดดไลน์ครั้งนี้เป็นการขยับเดดไลน์การจัดเก็บภาษี จากที่จะเริ่ม 9 ก.ค. ขยับไปเป็น 1 ส.ค. ถึงแม้เราจะได้เจรจาไปแค่ครั้งเดียว แต่ก็ได้ส่งข้อเสนอใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นโอกาสที่เราจะได้ลดอัตราภาษีน้อยลงกว่า 36% ยังมีอยู่ จึงต้องลุ้นว่าข้อเสนอที่ส่งไปใหม่สหรัฐอเมริกาจะยอมรับหรือไม่ และก็ต้องคำนึงด้วยว่าสิ่งที่เราเสียสละไปเพื่อที่จะแลกกับอยู่บนโต๊ะเจรจา มีสินค้าตัวไหนที่ได้รับผลกระทบ
"การบีบการขู่ด้วยจดหมายแบบนี้ เอาเดดไลน์มาบีบให้เราจนมุมขนาดนี้ ทำให้การเจรจามีแรงกดดันสูงมากๆ จึงไม่แน่ใจว่าเราได้ให้อะไรที่ไม่สมควรที่จะให้ไว้หรือไม่ เพราะไม่ได้มีการเปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณะเลย เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ก็คงต้องเตรียมแผนรองรับ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางภาคส่งออกเอง ถ้าโดน 20% ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะแข่งขันได้ หรือโดนเกิน 20% เพราะเราไม่ได้ให้ข้อเสนอที่ดีแบบทางเวียดนาม ก็ต้องยิ่งเตรียมตัวรับผลกระทบหนัก" น.ส.ศิริกัญญากล่าว
ถามถึงการจ้างล็อบบี้ยิสต์เพื่อเจรจากับสหรัฐ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ตนเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ไม่แน่ใจว่าได้ทำสัญญากันไปครบถ้วนหรือไม่ ทั้งทางฝั่งของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แต่คาดว่าน่าจะยังทำสัญญาได้ไม่เสร็จสิ้น เพราะถ้าจะทำสัญญาแล้ว จ่ายเงินไปกว่า 200 ล้านบาท น่าจะได้ผลการเจรจาที่ดีกว่านี้ ได้พบคนสำคัญมากกว่านี้ จึงขอภาวนาว่ายังใช้เงินไม่หมด และใช้เงินน้อยกว่า 200 ล้านบาท เพราะผลที่ได้ไม่ค่อยน่าพึงพอใจเท่าไหร่ และก็ยังพูดได้ยากว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ เพราะยังไม่เซ็นสัญญาว่าจ้าง ถ้าทำสัญญาเรียบร้อยแล้วทั้ง 2 หน่วย ก็จะเสียเงินเดือนละ 400,000 บาท US Dollar หรือเป็นอัตราที่สูงมาก ก็คงต้องถือว่าเป็นการตำน้ำพริกมาหลายแม่น้ำจริงๆ
นอกจากนี้ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 พรรค ปชน.เสนอจัดทำงบประมาณใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์เรื่องการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐ แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้จะเสนอใหม่อีกครั้ง แต่ต้องให้นายพิชัยมาอธิบายก่อน
ส่วนนายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา และรองประธาน กมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า การที่รัฐบาลสหรัฐใช้ภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 36 กับไทยแสดงให้เห็นถึงนโยบายที่ผิดพลาด และการไร้ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศและการต่างประเทศโดยสิ้นเชิง
"ผมขอเรียกร้องให้ทั้ง รมว.การคลังและ รมว.การต่างประเทศ แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเมื่อนักการเมืองทำนโยบายที่ผิดพลาด และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ควรแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก ไม่ต้องให้ใครมาไล่หรือปลดออก” นายจุลพงศ์กล่าว
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า การที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ได้รับสิทธิภาษีที่ดีกว่า ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนและกระทบเศรษฐกิจระยะยาว
นายธีระชัยกล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงคือความไม่ชัดเจนของรัฐบาลในการเจรจากับสหรัฐ เพราะก่อนหน้านี้ รมว.การคลังเพิ่งปฏิเสธข่าวลือเรื่องการขึ้นภาษี พร้อมให้ความหวังว่าจะเคลียร์ปัญหาได้ภายในวันที่ 9 ก.ค. แต่กลับมีหนังสือจากสหรัฐ ลงวันที่ 6 ก.ค. ยืนยันมาตรการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นทางการแล้ว สร้างความสับสนทั้งต่อประชาชนและภาคธุรกิจ
"พรรค พปชร.เห็นว่า รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการเจรจาอย่างตรงไปตรงมา เพราะเรื่องนี้ไม่ได้กระทบแค่การค้าระหว่างประเทศ แต่เชื่อมโยงถึงนโยบายอุตสาหกรรม การลงทุน และโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ รัฐบาลต้องเร่งกำหนดจุดยืนอย่างชัดเจน ใช้เวลาที่เหลือก่อน 1 ส.ค.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจต้องตั้งอยู่บนหลักความโปร่งใส เป็นธรรม และยั่งยืน ไม่ใช่แค่การอ้างความลับเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" รองหัวหน้าพรรค พปชร.ระบุ.