คืนชีพความร่วมมือสหรัฐฯ-ไทย เปิดทางสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมาข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (หรือ "ข้อตกลง 123") ระหว่างสหรัฐอมริกาและราชอาณาจักรไทยได้มีผลบังคับใช้แล้ว
ข้อตกลงฉบับใหม่นี้ได้รับการลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2025 ที่กรุงเทพฯ โดยโรเบิร์ต เอฟ. โกเด็ก เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำไทย และนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
คืนชีพหลังหยุดชะงัก 11 ปี
ความร่วมมือด้านนิวเคลียร์พลเรือนระหว่างสองประเทศมีประวัติยาวนาน โดยข้อตกลง 123 ฉบับแรกได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2517 และมีผลบังคับใช้ครบ 40 ปีจนหมดอายุลงในเดือนมิถุนายน 2567 ในช่วงที่ข้อตกลงฉบับแรกมีผลใช้ ไทยเคยมีแผนสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ถึง 5 ตัว โดยตั้งเป้าเริ่มใช้งานตัวแรกในปี 2563
อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดหลังจากเหตุการณ์วิกฤติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 ก่อนที่ข้อตกลงจะหมดอายุลงในที่สุด
เทคโนโลยี SMR รุ่นใหม่
ปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากคลื่นความร้อนและเป้าหมายลดการปล่อยคารบอนของไทย ทำให้ประเทศไทยกลับมาพิจารณาการใช้พลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุดของไทยวางเป้าสร้างเครื่องปฏิกรณ์โมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors - SMR) จำนวน 2 ตัว ขนาด 300 เมกะวัตต์ เพื่อเริ่มใช้งานภายในปี 2580
ข้อตกลงครั้งนี้สอดคล้องกับคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ 14299 เรื่องการส่งเสริมเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขั้นสูงเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามเมื่อ 23 พฤษภาคม 2568
เปิดทางถ่ายโอนเทคโนโลยี
ภายใต้ข้อตกลงใหม่ สหรัฐฯ จะสามารถถ่ายโอนวัสดุนิวเคลียร์ อุปกรณ์รวมถึงเครื่องปฏิกรณ์ ชิ้นส่วน และข้อมูลทางเทคนิคสำหรับการวิจัยและผลิตพลังงานนิวเคลียร์พลเรือนให้แก่ไทย ภายใต้หลักการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์อย่างเข้มงวด
ความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยพลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ ให้การจ่ายไฟฟ้าที่เสถียรและต่อเนื่อง ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
ข้อตกลงครั้งนี้ยังคาดว่าจะกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศที่มีมายาวนานเกือบ 200 ปี รวมทั้งเปิดโอกาสความร่วมมือทางการค้าระหว่างอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ กับไทยในด้านเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูง โดยเฉพาะเทคโนโลยี SMR ที่เป็นตลาดโอกาสสำหรับบริษัทสหรัฐฯ หลายแห่ง
การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ขั้นสูงของสหรัฐฯ จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของไทยและสร้างงานในทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างตำแหน่งผู้นำทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่กำลังขยายการส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วทั่วโลก
สหรัฐฯ แสดงความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์พลเรือนที่แข็งแกร่งกับไทยในระยะยาว เพื่อเป้าหมายการพัฒนาพลังงานสะอาดและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ