“ภาษีทรัมป์” สะเทือนเศรษฐกิจเอเชีย บีบคู่ค้าอ่อนข้อ ชาวมะกันรับกรรมราคาแพง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศใช้มาตรการกำแพงภาษีรอบใหม่ที่ครอบคลุมสินค้านำเข้าเกือบทั้งหมด โดยตั้งอัตราภาษีขั้นพื้นฐานไว้ที่ 10% พร้อมภาษีเฉพาะเพิ่มเติมสำหรับบางประเทศและบางสินค้า เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูภาคการผลิตของอเมริกาโดยตรง ผ่านการลดความต้องการสินค้าต่างประเทศให้มีราคาสูงขึ้นในสายตาผู้บริโภคอเมริกัน ขณะเดียวกันก็สร้างแรงจูงใจให้ผลิตในประเทศแทน
แม้มาตรการดังกล่าวจะถูกประกาศมาตั้งแต่เดือนเมษายน แต่ทรัมป์ได้ให้เวลา 90 วันกับแต่ละประเทศเพื่อทำข้อตกลง ซึ่งมีเพียง 2 ประเทศที่บรรลุข้อตกลงภายในเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม ก่อนจะประกาศขยายเวลารอบใหม่ถึง 1 สิงหาคม พร้อมทบทวนรายการภาษีกับหลายประเทศในเอเชีย
มาตรการภาษีนี้ ส่งผลสะเทือนต่อผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกโดยตรงและโดยอ้อม นักเศรษฐศาสตร์ซอล เอสเลค ระบุว่า ผู้ที่ต้องรับภาระภาษีโดยตรงคือนักธุรกิจและผู้บริโภคในสหรัฐฯ เองที่ต้องจ่ายแพงขึ้น เพราะผู้นำเข้าสินค้าจะผลักภาระภาษีไปยังลูกค้าปลายทาง อย่างไรก็ตาม หากบริษัทในเอเชียเลือกจะไม่ผลักภาระภาษีออกไป ก็อาจต้องยอมลดราคาขายลงและสูญเสียผลกำไร หรือไม่ก็เสียส่วนแบ่งตลาดให้ผู้ผลิตสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นที่เสียภาษีน้อยกว่า
บางประเทศในเอเชียอาจได้อานิสงส์จากการที่สินค้าจีนถูกกันออกจากตลาดสหรัฐฯ ทำให้สินค้าเหล่านั้นถูกส่งต่อมายังตลาดในเอเชียแทน ส่งผลให้ราคาสินค้าจากจีนลดลงในภูมิภาคนี้
ศาสตราจารย์โรเบิร์ต บรูคส์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมนาช มองในทิศทางเดียวกันว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุด ขณะที่ผู้บริโภคในเอเชียอาจได้รับผลกระทบในเชิงระบบเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีการค้าขายกับสหรัฐฯ ลดลง จึงทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคไม่สดใสเท่าที่ควร
สำหรับประเทศที่ถูกตั้งเป้าโดยเฉพาะจากทรัมป์มีหลายราย เช่น ญี่ปุ่นที่ถูกเก็บภาษีสูงถึง 25% โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และข้าว, เกาหลีใต้ที่พยายามเจรจาลดภาษีรถยนต์และเหล็กลงจาก 25% และ 50% ตามลำดับ แม้จะมีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ อยู่แล้ว
อินโดนีเซียเสนอลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือเกือบศูนย์ และเตรียมซื้อข้าวสาลีจากสหรัฐฯ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งคลายข้อจำกัดการนำเข้าสินค้าหลายชนิดและเชิญชวนสหรัฐฯ มาร่วมลงทุนในโครงการแร่ของรัฐ
ไทยเองถูกจัดเก็บภาษีถึง 36% และได้เสนอหลายมาตรการตอบโต้ อาทิ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น ก๊าซธรรมชาติและข้าวโพด การลดภาษีนำเข้า และลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อสร้างงาน ตลอดจนร่วมมือแก้ปัญหาการถ่ายเทสินค้า (trans-shipment)
อินเดียยังคงเจรจากับสหรัฐฯ ไม่จบสิ้น โดยติดขัดเรื่องภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ เหล็ก และสินค้าเกษตร แม้จะพร้อมลดภาษีบางส่วน แต่ยังไม่ยอมเปิดตลาดสินค้าเกษตรและนมตามที่วอชิงตันร้องขอ และยังยื่นเรื่องต่อ WTO เพื่อใช้มาตรการภาษีโต้ตอบด้วย
กัมพูชาถูกลดภาษีลงเหลือ 36% จากที่เคยประกาศไว้ 49% แต่ภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้าที่เป็นหัวใจเศรษฐกิจของประเทศยังได้รับผลกระทบมาก ขณะที่มาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์สำคัญก็กังวลว่าภาษีอาจกระทบสินค้าสำคัญอย่างน้ำมันปาล์ม
ประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในรายการภาษีของสหรัฐฯ ได้แก่ ลาวและเมียนมาร์ 40%, บังกลาเทศ 35%, เวียดนามและฟิลิปปินส์ 20% ซึ่งหลายประเทศในกลุ่มนี้ต่างเร่งหาทางบรรเทาผลกระทบ เช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียกล่าวในที่ประชุมผู้นำอาเซียนว่า โลกกำลังเผชิญยุคที่ “อำนาจบดบังหลักการ” และ “เครื่องมือเศรษฐกิจถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อกดดันและกีดกัน”
เมื่อถามถึงทางเลือกของประเทศในเอเชีย เอสเลคชี้ว่าประเทศต่าง ๆ มี 2 ทางหลัก คือ ยอมตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการลดภาษี ซึ่งอาจเปิดช่องให้สหรัฐฯ เรียกร้องมากขึ้น หรือเลือกปฏิเสธและรับมือกับภาษีที่ถูกตั้งขึ้น รวมถึงอาจใช้มาตรการภาษีโต้กลับสหรัฐฯ แต่สุดท้ายก็จะกลายเป็นภาระของผู้บริโภคในประเทศของตนเองอยู่ดี
โรแลนด์ ราจาห์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันโลวี ระบุว่า หลายประเทศคงพยายามเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ใกล้เคียงหรือดีกว่าที่เวียดนามได้รับ แต่ยอมรับว่า แม้การเจรจาระดับผิวเผินก็ยังถือเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งในบริบทนี้
มาตรการภาษีของทรัมป์อาจถูกมองว่าเป็นความพยายามฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประชาชนในประเทศต่าง ๆ กำลังทวีความชัดเจนขึ้นทุกขณะ ในขณะที่โลกกำลังจับตามองว่าประเทศเหล่านี้จะตอบสนองอย่างไรในเกมที่ทรัมป์เป็นคนตั้งกติกาใหม่เองทั้งหมด