ผู้เชี่ยวชาญหวั่น ‘โรคเกลียดวันจันทร์’ เป็นภัยเงียบคุกคามสุขภาพ
"โรคเกลียดวันจันทร์" (Monday Blues) หรือสภาพความรู้สึกเบื่อหน่ายที่คนทำงานประจำคุ้นเคยดี แต่สิ่งที่อาจคาดไม่ถึงก็คือสภาพอารมณ์เช่นนี้สามารถส่งผลเสียร้ายแรงต่อร่างกายได้
โรคเกลียดวันจันทร์ หรือบางครั้งก็เรียกว่า “โรคกลัววันอาทิตย์" (Sunday Scaries) หมายถึงสภาวะอารมณ์และความรู้สึกที่เริ่มไม่สงบ มีความกระวนกระวายใจ หงุดหงิด เครียด มักเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ทั้งนี้ก็เพราะไม่ต้องการให้ถึงวันจันทร์ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการเรียนและการทำงานประจำสัปดาห์ของสถานศึกษา องค์กรและบริษัทห้างร้านทั่วไป
จากข้อเท็จจริงที่ว่าอาการในลักษณะนี้จะปรากฏขึ้นในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเริ่มการเรียนหรือการทำงานวันแรกสัปดาห์ จึงอาจกล่าวได้ว่าการเรียนหรือการทำงานประจำตามรูปแบบทั่วไป เป็นสาเหตุของ "โรคเกลียดวันจันทร์"
นี่ไม่ใช่โรคที่เกิดจากอุปทานหรือการ “คิดไปเอง” ของผู้ป่วย ผลจากการศึกษาล่าสุดที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยฮ่องกงเปิดเผยว่า “วันจันทร์” ทำให้เกิดความเครียดทางชีวภาพในมนุษย์ ไม่ว่าคนผู้นั้นจะมีลักษณะการทำงานแบบใดหรือแม้กระทั่งว่าเป็นคนทำงานหรือไม่
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Affective Disorders นี้ เปิดเผยว่า ความหวาดกลัว “สัปดาห์แห่งการทำงาน” จะยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่องแม้หลังจากที่เราเกษียณจากงานแล้ว โดยศาสตราจารย์ทารานิ ชานโดลา หัวหน้าคณะวิจัยโครงการนี้อธิบายว่า "สำหรับผู้สูงอายุบางคน การเปลี่ยนผ่านของสัปดาห์กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางชีวภาพที่คงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน”
ดร.ชานโดลาว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของงาน แต่เป็นเรื่องของมุมมองและความคิดเกี่ยวกับวันจันทร์ที่ฝังแน่นอยู่ในภาวะการตอบสนองทางสรีรวิทยาต่อความเครียด (Stress physiology) ของเรา ซึ่งแม้เราจะเลิกทำงานไปแล้ว แต่ภาวะนี้จะยังคงอยู่
ยิ่งไปกว่านั้น "โรคเกลียดวันจันทร์" อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพของเราได้ เพราะโรคนี้ทำให้เกิดความเครียด และเมื่อเรารู้สึกเครียดเป็นเวลานานๆ ก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อแกนไฮโปธาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต (Hypothalamic-pituitary-adrenal axis) หรือที่เรียกย่อๆ ว่าแกน HPA ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียด
เมื่อฮอร์โมนความเครียดหรือคอร์ติซอลเพิ่มขึ้นเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ผลกระทบด้านสุขภาพเชิงลบ เช่น ไปกระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงขึ้น มีอาการเหนื่อยล้า ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และนอนหลับไม่สนิท
นักวิจัยยังพบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาโครงการนี้มีระดับคอร์ติซอลเพิ่มขึ้นถึง 23% เมื่อมาถึงวันจันทร์
สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ วันจันทร์มีความเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะหัวใจวายเพิ่มขึ้นถึง 19% อาจพูดได้ว่า โรคเกลียดวันจันทร์สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวายได้
ผลการศึกษาสรุปว่า วันจันทร์เป็นวันเดียวที่ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีปริมาณคอร์ติซอลเพิ่มขึ้นสูงมาก ดร.ชานโดลากล่าวเสริมว่า วันจันทร์ทำหน้าที่เป็น "ตัวขยายความเครียดเชิงวัฒนธรรม" ซึ่งหมายความว่า เราไม่เพียงต้องกังวลถึงงานของสัปดาห์การทำงานที่กำลังจะมาถึงในทุกบ่ายวันอาทิตย์เท่านั้น แต่ยังต้องอาจตกอยู่ในภาวะเครียดจนเกินจำเป็น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้อีกด้วย
ที่มา : ladbible.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES