แพลททินัม ฟรุ๊ตชี้ 4 ปัจจัยฉุดราคาลำไย ขณะเกรด A, AA ตลาดยังเปิดกว้าง
นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด (มหาชน) หรือ PTF ผู้ส่งออกผักและผลไม้สดเกรดพรีเมียม เปิดเผยว่าสถานการณ์ลำไยปีนี้คาดว่าจะให้ผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากฝนชุก ประกอบกับปีที่ผ่านมาฤดูหนาวค่อนข้างยาว ทำให้ลำไยติดดอกดี ผลผลิตต่อไร่จึงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อราคารับซื้อที่ปรับตัวลดลงถ้าเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุที่ราคาลดลงในช่วงนี้ มาจาก 4 ปัจจัย
ปัจจัยแรก คือ ตลาดผลไม้ต่างประเทศขณะนี้ราคาผลไม้จะปรับลดลงประมาณ 15 - 20% จากปีที่แล้ว เนื่องจากสภาวะเงินฝืดในต่างประเทศ ปัจจัยที่ 2 มาจากการปล่อยสินเชื่อของต่างประเทศโดยเฉพาะจีนที่ลดการปล่อยสินเชื่อเพื่อการนำเข้า ประกอบกับนโยบายธนาคารของประเทศไทยก็เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ส่งออกมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนมีวงเงินจำกัด เงินหมุนในระบบลดลงจึงชะลอการซื้อ ทำให้เกิดปริมาณสะสมของผลผลิตลำไยในช่วงฤดูกาลมาก ส่งผลกระทบต่อราคาลำไยตามมา
ปัจจัยที่ 3 แรงงานภาคการเกษตร เนื่องจากแรงงานเก็บเกี่ยวผลไม้จะพึ่งแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับประเทศไทย ตอนนี้การนำแรงงานเข้ามาไทยเป็นไปได้ยากมาก จึงทำให้แรงงานขาดแคลนในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ไม่สามารถเก็บเกี่ยวลำไยสดช่อได้ทัน ชาวสวนจึงแก้ปัญหาด้วยการแปรรูปเป็นลำไยรูดร่วงอบแห้ง ทำให้ราคาขายตกต่ำลง
และปัจจัยที่ 4 เกรดลำไยเบอร์รอง B,C (ตกเกรด) ปกติจะมีตลาดคอยรองรับ เช่น กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย แต่ปัจจุบันตลาดนี้ค้าขายเป็นไปได้ยากเนื่องจากมีอุปสรรคในการข้ามแดน ทำให้ราคาเบอร์ล่างลดลงมาเยอะมากส่งผลให้ราคาเบอร์บน (A, AA) ลงมาด้วย
สิ่งที่อยากเสนอเป็นทางออกเพื่อแก้ปัญหาราคาลำไย คือ ต้องแก้ไปในจุดที่เป็นปัญหาเรื่อง Over supply ของสินค้าเกษตรซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของราคาและคุณภาพ ดังนั้นจะต้องเน้นไปที่การปรับตัวของราคา และการปรับลดต้นทุนให้สัมพันธ์กัน เพราะถ้ายังตั้งราคาขายเหมือนเมื่อก่อนก็จะไม่มีคนซื้อ แต่ถ้าลดราคาขายลงก็จะมีกำลังซื้อกลับมา และต้องเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น สังเกตได้ว่าราคารับซื้อลำไยเบอร์บนเกรด A, AA จะห่างจากราคาลำไยเบอร์ล่างเยอะมาก เพราะตลาดลำไยเบอร์บนยังเป็นที่ต้องการและมีตลาดรองรับ และยังมีอีกหนึ่งทางออกก็คือการทำลำไยสดแกะเนื้อแช่แข็ง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าในช่วงล้นตลาด ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเพราะเทรนด์การบริโภคในอนาคตของวัยรุ่นต่างประเทศจะหันมาดื่มน้ำผลไม้สดกันมากขึ้น ดังนั้นลำไยจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่เค้าใช้
“ที่ผ่านมา แพลททินัม ฟรุ๊ต เองก็ได้ร่วมมือกับส่วนราชการอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมาก็ได้ช่วยระบายผลผลิตลำไยช่วงต้นฤดูออกไปยังจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย เพื่อรักษา Demand และ Supply ในตลาดให้สมดุล สำหรับปีนี้ก็ได้มีการหารือเบื้องต้นกับส่วนราชการว่าจะร่วมมือกันเหมือนปีที่แล้ว ระบายของช่วงต้นฤดูไม่ให้มีปริมาณสะสมในฤดู เพราะเราเป็นผู้ประกอบการคนไทยก็ต้องช่วยชาวสวนไทย เพราะการจะทำให้ลำไยราคาที่ดี ต้องร่วมกันหลายภาคส่วน เราก็มีเครือข่ายชาวสวนและผู้ประกอบการที่เป็นพันธมิตรจำนวนมาก ที่เราจะนำเข้ามาช่วยตรงส่วนนี้” นายณธกฤษ กล่าวเสริม
นอกจากเรื่องราคาปีนี้ยังมีข้อกังวลอีก 2 เรื่องที่อยากเสนอแนะภาครัฐ และ เกษตรกร เพื่อเตรียมรับมือ เรื่องแรกคือ ภูมิอากาศ ปีนี้ฝนตกชุก เพราะฉะนั้นการดูแลสวนก่อนเก็บเกี่ยวต้องเข้มงวดขึ้น การพ่นสารกันเพลี้ย กันแมลง กันรา ต้องบ่อยขึ้น รวมถึงต้องมีการให้ความรู้เรื่องสารพ่นที่ใช้ ต้องทนต่อการชะของฝนได้ดี เรื่องต่อมาคือ แรงงานเก็บเกี่ยว ที่ยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว จึงอยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุน หรือ ผ่อนปรน การนำแรงงานข้ามพื้นที่เพื่อมาช่วยในช่วงเก็บเกี่ยว เพราะต้องนี้สำคัญ ยกตัวอย่างที่จันทบุรี ช่วงปลายปีที่แล้วมีปัญหาเรื่องแรงงาน ทำให้เก็บเกี่ยวไม่ทัน เน่าเสียคาต้น การเก็บลำไยสดช่อเข้าตะกร้าต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือในการเก็บทำเป็นช่อ แต่ลำไยอบแห้งร่วงๆ ไม่ต้องใช้แรงงานเยอะ เก็บง่าย แต่ราคาสู้สดช่อไม่ได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน คาดการณ์ว่าผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาดมากกว่า 740,000 ตัน โดยมีการจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยปัจจุบันผลผลิตลำไยเฉพาะของจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 8 หรือราว 22,409 ตัน ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอจอมทอง ดอยหล่อ แม่วาง สันป่าตอง ฮอด และดอยเต่า เกษตรกรยังคงส่งผลผลิตให้ล้งรับซื้อเป็นปกติในช่วงต้นฤดูกาล ซึ่งเมื่อมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศกลับเข้ามา คาดว่าราคาลำไยจะปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด