อังกฤษทดลองทำ ‘เด็กหลอดแก้ว’ จากดีเอ็นเอ 3 คน พบลดความเสี่ยงโรคพันธุกรรม
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ว่าการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่สร้างความหวังว่า ผู้หญิงที่มีความผิดปกติของไมโทคอนเดรีย จะสามารถมีบุตรได้โดยไม่ถ่ายทอดโรคร้ายแรงสู่ลูก ปัจจุบัน ทารก 1 ใน 5,000 ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าว ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ และมีอาการต่าง ๆ เช่น การมองเห็นบกพร่อง โรคเบาหวาน และภาวะกล้ามเนื้อลีบ
เมื่อปี 2558 สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกที่อนุมัติเทคนิคการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ด้วยการใช้ดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียที่แข็งแรงจากไข่ของผู้บริจาค ร่วมกับไข่ของแม่และอสุจิของพ่อ โดยบางคนเรียกกระบวนการนี้ว่า “ทารกที่มีพ่อแม่สามคน”
ผลการทดลองที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์หลายฉบับ ระบุว่า ในบรรดาสตรี 22 คน ซึ่งเข้ารับการรักษาที่ศูนย์การเจริญพันธุ์นิวคาสเซิล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ให้กำเนิดทารก 8 คน แบ่งเป็นเด็กชาย 4 คน และเด็กหญิง 4 คน ที่มีอายุตั้งแต่ต่ำกว่า 6 เดือนไปจนถึงมากกว่า 2 ปี
ตามผลการวิจัย ปริมาณดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ลดลง 95-100% ในทารก 6 คน และในทารกแรกเกิดอีก 2 คนมีจำนวนลดลง 77-88% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทำให้เกิดโรค
นักวิจัยระบุว่า ปัจจุบัน เด็กทั้ง 8 คนมีสุขภาพแข็งแรงดี ส่วนคนหนึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว ทั้งนี้ จะมีการติดตามผลสุขภาพของพวกเขาต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม การบริจาคไมโทคอนเดรียยังคงเป็นที่ถกเถียง และยังไม่ได้รับการอนุมัติในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐและฝรั่งเศส ขณะที่ผู้นำศาสนามองว่า ขั้นตอนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ “การทำลายตัวอ่อนมนุษย์” ส่วนฝ่ายอื่น ๆ กังวลว่า ขั้นตอนนี้อาจปูทางไปสู่ “การออกแบบทารก” ด้วยการดัดแปลงพันธุกรรม.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES