อียูออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบที่ 18 มอสโกเตือน “ระวังย้อนศร”
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ว่า นางคาจา คัลลัส ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า ที่ประชุมสุดยอดผู้นำของสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ มีมติเห็นชอบ ให้ขยายระยะเวลามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากการทำสงครามในยูเครน ออกไปเป็นรอบที่ 18 นับตั้งแต่สงครามเปิดฉาก เมื่อเดือน ก.พ. 2565
อนึ่ง อียูสามารถต่อเวลามาตรการรอบนี้ได้ หลังนายกรัฐมนตรีโรเบิร์ต ฟิโก ผู้นำสโลวาเกีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปเพียงไม่กี่แห่งซึ่งยังคงเป็นมิตรกับรัสเซีย ยอมถอนการคัดค้าน
สำหรับหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ ซึ่งอียูยืนยันว่า คิดค้นมาเพื่อโจมตีเศรษฐกิจและเพื่อให้ส่งผลกระทบต่องบประมาณสงครามของรัสเซีย คือการที่สมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ ตกลงที่จะลดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียซึ่งส่งออกไปยังประเทศที่สามทั่วโลก ให้ต่ำกว่าราคาตลาด 15% แม้ไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้สหรัฐร่วมมือในเรื่องนี้ได้ก็ตาม และแหล่งข่าวระดับสูงในอียูยอมรับว่า มาตรการส่วนนี้ไม่น่าได้ผล ตราบใดที่รัฐบาลวอชิงตันยังไม่ยอมร่วมมือด้วย
ทั้งนี้ เพดานราคาน้ำมันที่อียูกำหนดไว้เพื่อกดดันรัสเซียนั้น อยู่ที่บาร์เรลละ 60 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,943.10 บาท) เมื่อปี 2565 โดยเป็นแนวทางเดียวกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 แห่ง หรือ จี7 ส่วนระดับราคาใหม่จะเริ่มต้นที่ 47.6 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,541.53 บาท) ต่อ 1 บาร์เรล และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเคลื่อนไหวของตลาดในอนาคต
แน่นอนว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน แสดงความยินดีกับการที่อียูต่อเวลามาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลมอสโก ขณะที่นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า มาตรการนี้ "จะย้อนศร".
เครดิตภาพ : AFP