กัมพูชาขึ้นทะเบียน "วรรณกรรมไทย 22 เรื่อง" กับยูเนสโก วธ.ยันไม่เป็นความจริง
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย อ้างว่า "ประเทศกัมพูชานำวรรณกรรมไทย 22 เรื่องไปขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกสำเร็จแล้ว" ทำให้เกิดความกังวล และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของรัฐบาลไทย ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อทำความเข้าใจต่อสาธารณชน ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าว "ไม่เป็นความจริง" และเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
สิ่งที่กัมพูชาเสนอ และได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกคือ "Royal Ballet of Cambodia" (ระบำพระราชทรัพย์กัมพูชา) ซึ่งเป็น "ศิลปะการแสดง" และได้รับการประกาศเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ไม่ใช่การขึ้นทะเบียนรายชื่อวรรณกรรม 22 เรื่องตามที่กล่าวอ้าง
ส่วนรายชื่อวรรณกรรมต่างๆ เช่น ไกรทอง, พระสังข์, อุณรุท ที่ปรากฏในข่าว เป็นเพียงข้อมูลที่อยู่ใน "หนังสือบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติของกัมพูชา" ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2548 (หลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 2 ปี) เพื่อรวบรวม "บทละครที่ใช้ในการแสดง" Royal Ballet of Cambodia เท่านั้น ไม่ได้เป็นการยื่นรายชื่อวรรณกรรมเหล่านี้ต่อยูเนสโกโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ "วรรณกรรม" ไม่จัดเป็นสาขาที่สามารถเสนอขึ้นทะเบียนโดยตรงได้ แต่มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ยูเนสโกรับรองมี 5 สาขาหลัก ได้แก่ ประเพณีมุขปาฐะและการแสดงออกทางวาจา ศิลปะการแสดง แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเฉลิมฉลอง ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และ งานฝีมือแบบดั้งเดิม
ดังนั้น การอ้างว่ามีการขึ้นทะเบียน "วรรณกรรม 22 เรื่อง" จึงขัดต่อหลักเกณฑ์ของยูเนสโกโดยสิ้นเชิง ส่วนวรรณกรรมหลายเรื่องที่ปรากฏในรายชื่อบทละครของกัมพูชา จัดเป็น "วัฒนธรรมร่วม" ที่ได้รับอิทธิพลและเผยแพร่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนาน เช่น รามเกียรติ์, อิเหนา, สังข์ทอง, ไกรทอง ซึ่งปรากฏเป็นบทละครและนาฏศิลป์ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย
ปัจจุบัน ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2559 และมีรายการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกแล้ว 6 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา สงกรานต์ ต้มยำกุ้ง และ เคบายา (ขึ้นทะเบียนร่วมกับ 4 ประเทศ) นอกจากนี้ ยังมีรายการที่รอการพิจารณาอีก 4 รายการ คือ ชุดไทย, มวยไทย, ผ้าขาวม้า และประเพณีลอยกระทง
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของยูเนสโกคือการ "สงวนรักษา" มรดกภูมิปัญญาไม่ให้สูญหาย และสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าร่วมกัน ไม่ใช่การประกาศความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว กระทรวงวัฒนธรรมยืนยันว่า ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด และทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม และตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก่อนเผยแพร่ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กัมพูชาสอดไส้ "วรรณกรรมไทย" อิเหนา-พระเวสสันดร ยื่นขอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จริงหรือไม่?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กัมพูชาสอดไส้ "วรรณกรรมไทย" อิเหนา-พระเวสสันดร ยื่นขอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จริงหรือไม่?
- กัมพูชาเตรียมบังคับใช้การเกณฑ์ทหารปีหน้า ชี้ความตึงเครียดกับไทยเป็นสาเหตุ
- ยูเนสโก รับรอง "พระปรางค์ วัดอรุณฯ" ขึ้นบัญชีเบื้องต้นมรดกโลกแล้ว
- กัมพูชาได้รับมรดกโลกเพิ่ม 3 ที่จากยูเนสโก
- "ปราสาทนอยชวานสไตน์" แคว้นบาวาเรีย ได้รับสถานะมรดกโลก