โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

คลังจัดแถวทีมเศรษฐกิจใหม่ จับตา ‘วิทัย’ ผู้ว่า ธปท. ลุยลดดอกเบี้ยเชิงรุก

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 23 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 10 ชั่วโมงที่ผ่านมา
วิทัย รัตนากร

รัฐบาลจัดแถวทีมเศรษฐกิจใหม่ ตั้ง “วิทัย รัตนากร” ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ โยกข้าราชการระดับสูงกระทรวงการคลัง “กุลยา” นั่งกรมศุลฯ “พรชัย” ผงาดอธิบดีสรรพสามิต ต่ออายุ “ดนุชา” เลขาธิการสภาพัฒน์ วิจัยกสิกรฯวิเคราะห์นโยบายผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ “ลดดอกเบี้ยเชิงรุก-ลุยแก้หนี้คนตัวเล็ก” ดร.พิพัฒน์-KKP หนุนปรับบทบาท ธปท. ใช้หลายเครื่องมือพาประเทศผ่านวิกฤต ชี้แค่ “ลดดอกเบี้ย-ปล่อยสินเชื่อ” ไม่พอ ต้องประสานการคลังปฏิรูปเศรษฐกิจจริงจัง ทบทวนเป้าหมาย “เงินเฟ้อ” แก้โจทย์การส่งผ่านนโยบาย “ลดดอกเบี้ย” ภาคเอกชนขานรับ

ครม.เคาะ “วิทัย” ผู้ว่าการ ธปท.

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ได้เห็นชอบแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง เนื่องจาก นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 30 กันยายน 2568 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงินธนาคาร และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมาย

พิชัยฝากโจทย์แก้หนี้ปัญหาด่วน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ช่วงที่ประเทศมีวิกฤตต่าง ๆ รัฐบาลอยากเห็นผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ขับเคลื่อนในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะด้านสถาบันการเงิน โดยเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องหนี้ ที่จะต้องช่วยกันผลักดันและแก้ไข ส่วนเรื่องนโยบายการเงินก็เป็นอิสระ แต่ว่าควรจะทำงานให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สำหรับเหตุผลในการเลือก นายวิทัย รัตนากร เป็นผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ นายพิชัยกล่าวว่า จริง ๆ แล้วก็มีคนเหมาะสมหลายท่าน แต่ขอให้ดูเอาว่าเป็นเพราะอะไร และให้ดูด้วยว่าตลาดตอบรับอย่างไร

ส่วนการทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น นายพิชัยยืนยันว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีความใกล้ชิดกับ ธปท.อยู่แล้ว มีการหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อมูลปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายและแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ว่าการแบงก์ชาติจะเป็นใคร ก็มั่นใจว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้ในลักษณะเดียวกัน

“การทำงานก็คงเหมือนกัน ขอให้มีความเข้าใจทั้งสองภาพ ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน แล้วทํางานร่วมกัน โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านเก่า ผมก็ว่าทํางานได้ดี ไม่มีอะไร” นายพิชัยกล่าว

จัดทัพข้าราชการคลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงการคลัง ระดับอธิบดี รวม 6 ตำแหน่ง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป ดังนี้

1.นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ย้ายไปดำรงตำแหน่ง เป็นอธิบดีกรมศุลกากร แทน นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรคนปัจจุบัน ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. 2568 นี้

2.นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต

3.นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สศค.

4.นายอรรถพล อรรถวรเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง

5.นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง

6.นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนสิงหาคมนี้ ก็คาดว่าจะมีการต่อวาระดำรงตำแหน่งอีก 1 ปี

ลด ดบ.เชิงรุก-แก้หนี้คนตัวเล็ก

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ทิศทางนโยบายการเงินหลังจากได้ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ น่าจะเห็นท่าทีที่ซอฟต์ลง และคงเปิดสำหรับการลดดอกเบี้ยที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งผู้ว่าการคนใหม่จะเริ่มงานในวันที่ 1 ต.ค.นี้ อาจจะยังไม่มีผลกับดอกเบี้ยมาก คาดว่าปีนี้จะเห็นดอกเบี้ยลดได้อีก 1-2 ครั้ง

“ปีนี้คงไม่ได้มีผลมาก แต่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง อาจจะเห็นโอกาสที่ ธปท.จะลดดอกเบี้ยเชิงรุกมากขึ้น นอกจากนั้นก็จะเห็นนโยบายเรื่องการแก้หนี้ ซึ่งคุณวิทัยมีประสบการณ์แก้หนี้ ในการดีลกับลูกหนี้คนตัวเล็ก ระดับเศรษฐกิจรากหญ้า ตรงนี้คิดว่า คงเห็นมาตรการอะไรออกมา แล้วช่วยทำให้เม็ดเงินไหลสู่เศรษฐกิจ โดยเข้าถึงคนอีกระดับได้มากขึ้น”

เสนอเปิดข้อมูลมติ กนง.

นายบุรินทร์กล่าวว่า โดยในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่คาดหวังคือ อยากเห็นการสื่อสารที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม่วิชาการเกินไป ขณะเดียวกันในเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างในการดำเนินนโยบาย ควรจะถกกันภายในห้องประชุม ไม่แสดงออกผ่านสื่อมาก เพื่อที่นักลงทุนจะได้เกิดความเชื่อมั่น

สำหรับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน อาจเห็นการตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น รวมทั้งอาจมีมาตรการที่เข้ามาช่วยมากขึ้น จากปกติที่ ธปท.จะไม่ค่อยแตะเรื่องนี้

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าจะทำอีกเรื่อง คือ การเปิดเผยเกี่ยวกับการลงมติตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า กรรมการแต่ละรายมีมุมมองอย่างไร ซึ่งในต่างประเทศก็ทำกัน จะได้โปร่งใสไปเลย

“ประชาชน ภาคธุรกิจก็อยากฟังว่า กนง.แต่ละคนมีมุมมองอย่างไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน สุดท้ายก็ใช้ระบบประชาธิปไตย เสียงข้างมากตัดสิน ดังนั้นผมว่ามุมมองพวกนี้ควรจะพูดกันได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นอย่างเดียวกัน อย่างในธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็เห็นต่างกันได้ แล้วก็มีการถกกัน เราก็จะได้เห็นมุมมอง เรื่องนี้ถ้าผู้ว่าการคนใหม่ทำได้ก็จะดี จะได้โปร่งใส” นายบุรินทร์กล่าว

หนุน ธปท.ปรับใช้ทุกเครื่องมือ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ก็คือ บทบาท ธปท. ที่จะต้องเปลี่ยนในการรับมือกับความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยกำลังต้องเผชิญ เพราะลำพังการลดดอกเบี้ยอย่างเดียว หรือปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว จะช่วยอะไรมากไม่ได้

“ชัดเจนว่าบทบาทของ ธปท. คือ ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ช็อกที่ประเทศไทยกำลังเจออยู่ตอนนี้ น่าห่วงจริง ๆ ฉะนั้นบทบาท ธปท. ต้องเปลี่ยนด้วย ผมอยากเห็น ธปท.ใช้เครื่องมือ ใช้นโยบายการเงิน ที่ช่วยให้เราผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปได้ การลดดอกเบี้ยอย่างเดียว หรือปล่อยกู้อย่างเดียว ช่วยอะไรไม่ได้มาก ต้องมีการประสานงานนโยบาย ผมอยากเห็นสถานการณ์คล้าย ๆ กับ Abenomics (นโยบายเศรษฐกิจของญี่ปุ่น) ที่มี Policy Coordination จริง ๆ ระหว่างรัฐบาลกับธนาคารกลางที่จะเอาประเทศออกจากหลุม”

ประสานคลังหนุนปฏิรูป ศก.จริงจัง

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า การประสานนโยบายการเงิน การคลัง ต้องคุยกันจริง ๆ ว่าประเทศต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ แม้นโยบายการเงินจะเป็นกองหลัง ก็ต้องสนับสนุนกองกลาง กองหน้าด้วย ช่วยให้ความเห็น ช่วยกันปฏิรูปอย่างจริงจัง ไม่สามารถต่างคนต่างทำ หรือคนหนึ่งเหยียบคันเร่ง อีกคนเหยียบเบรก

“สถานการณ์ที่เรากำลังเจอ แค่เพิ่มการขาดดุลงบประมาณ ลดดอกเบี้ย แค่นั้นช่วยไม่ไหว แต่ต้องการแบบที่มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ คือ คำว่าความเป็นอิสระยังไงก็ต้องมี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ยังไงก็ต้องมี แต่ต้องการเห็นความร่วมมือในการทำนโยบาย ไม่อย่างนั้นเมืองไทยเหนื่อยแน่นอน”

ทบทวนเป้าหมาย “เงินเฟ้อ”

ขณะเดียวกัน น่าจะใช้โอกาสที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่เข้ารับตำแหน่ง ทำเหมือนที่ธนาคารกลางอื่นทำ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีการทบทวนนโยบายการเงิน เครื่องมือ และการสื่อสาร ที่มีการเปลี่ยนนโยบายเงินเฟ้อ ซึ่งของไทยก็ควรจะต้องมีการทบทวนนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใช้มาระยะหนึ่ง ว่าเวิร์กหรือไม่ ต้องปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ หรือต้องสื่อสารอย่างไร

นอกจากนี้ สิ่งที่เฟดทำ ยังมีเรื่องการทำโปรแกรมรับฟังเสียงจากประชาชน โดยอธิบายให้คนเข้าใจว่า สิ่งที่ธนาคารกลางทำมีผลกระทบกับประชาชนอย่างไร ซึ่งการทำลักษณะนี้จะช่วยรักษาความเป็นอิสระของธนาคารกลางได้

“ลองไปคุยกับคนต่างจังหวัด คนบนถนน ว่าเข้าใจหรือไม่ ว่าสิ่งที่ธนาคารกลางทำเป็นอย่างไร แล้วเขาเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด จะได้ปรับรูปแบบการสื่อสาร การทำงานกับประชาชน เพราะถ้าธนาคารกลางไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าข้างได้ ผมว่าคำว่าอิสระจะอยู่ได้ยากมาก”

โจทย์การส่งผ่าน “ลดดอกเบี้ย”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า อีกประเด็นคือ การรักษา Policy Space ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่าจะเก็บกระสุนไปทำไม แล้วมีคำอธิบายว่า กระสุนมีจำกัด ฉะนั้นควรต้องใช้อย่างระมัดระวัง ใช้ในจังหวะที่ใช้แล้วคุ้มค่าดีกว่า อย่างไรก็ดี มองว่าโจทย์ที่ยากก็คือ ทำอย่างไรให้กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน มีประสิทธิผลอย่างเต็มที่ที่สุด

“แทนที่จะดูว่ากระสุนเหลือกี่นัด อาจจะต้องมาดูว่า มีวิธีเพิ่ม Policy Space ได้ไหม เห็นตัวอย่างธนาคารกลางในต่างประเทศ เวลาดอกเบี้ยลงถึงจุดที่ไปต่ำกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่คำถามก็คือ กระสุนแต่ละนัดที่ยิง ประสิทธิภาพเกิดเต็มที่แล้วหรือยัง เรื่องการส่งผ่าน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร เพราะจะเห็นได้ชัดว่า หลังจากลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลับน้อยกว่าที่คาด แถมการเติบโตของสินเชื่อก็ติดลบ” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ส.อ.ท.ย้ำลด ดบ.-ดูแลค่าบาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยเช่นตอนนี้ เอกชนอยากเห็นผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ เร่งดำเนินการเรื่องลดดอกเบี้ยเป็นสิ่งแรกโดยเร็วที่สุด เพราะคือต้นทุนทางการเงินที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SMEs เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความยากลำบากมาก ที่ขณะนี้เผชิญภาวะขาดสภาพคล่อง เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน การลดต้นทุนทางการเงิน จะช่วยลดภาระได้ เพราะกลุ่มดังกล่าวเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมากถึง 60% ของ GDP รวมถึงภาคการท่องเที่ยวอีกประมาณ 20% เอกชนจึงยังอยากเห็นแบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป และแบงก์ชาติต้องมีกลไกการกำกับดูแลทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น หรือมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนได้มากกว่านี้เพื่อช่วยเหลือ SMEs และผู้ประกอบการทุกขนาดด้านการเงิน

หอการค้าฝากการบ้าน 2 เรื่อง

นายพจน์ อร่ามวัฒนนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งที่หอการค้าต้องการเร่งให้ช่วยเหลือใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การเข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เพราะค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่าภูมิภาค อีกทั้งยังต้องเผชิญเรื่องของภาษีทรัมป์ 2.0 ส่งผลให้การแข่งขันสู้กับภูมิภาคลำบากขึ้น 2.ดูแลอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไป หรือมีช่องว่างระหว่างแบงก์พาณิชย์กับผู้กู้มากเกินไป

เร่งแก้โจทย์ผลักดันเศรษฐกิจ

สอดคล้องกับ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลติเมทบรรจุภัณฑ์ จำกัด เปิดเผยว่า ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ถือว่าเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพเศรษฐกิจทั้งภาพ Macro และ Micro รวมทั้งมองเห็นภาพเรียลเซ็กเตอร์เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้ดำเนินการเพื่อผลักดันเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายการเงิน คือ 1) Spread ของดอกเบี้ยที่เหมาะสมและเป็นธรรม 2) Exchange Targeting ค่าเงินบาทที่อ่อนกว่าคู่แข่งในตลาดโลก เพื่อผลักดันการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในภาวะความเสี่ยงจากภาษีทรัมป์

3) นโยบายการเงินผ่อนคลาย และ Inflation Targeting สอดคล้องกับนโยบายการคลังของรัฐบาล ให้มีกระแสเงินไหลเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต่างก็บอบช้ำตามภาวะเศรษฐกิจโลกและของประเทศ แต่สถาบันการเงินกลับเติบโตสวนทาง

และ 4) มีทางเลือกในตลาดเงินใหม่ ๆ เพราะที่ผ่านมาพึ่งพิงแต่ธนาคารพาณิชย์ที่นับวันมีแต่จะโตวันโตคืน แต่กลับไร้เครื่องมือทางการเงินหรือทางเลือกใหม่ ๆ มาเป็นทางออกให้ธุรกิจและประชาชน

นอกจากนี้ ภาคเอกชนก็คาดหวังว่าผู้บริหารทุกระดับใน ธปท. จะได้ให้ความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของผู้ว่าการคนใหม่ โดยยึดประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งมากกว่ากรอบการบริหารแบบเดิม ๆ

ส.คอนโดฯ ธปท.+คลังทำงานคู่ขา

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อว่าที่นายวิทัย รัตนากร ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่มีอย่างน้อย 5 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้แบงก์ชาติทำงานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการเงินและการคลังอย่างสอดคล้องกัน รวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

2.เสนอผลักดันการลดดอกเบี้ยนโยบาย สู่การปรับดอกเบี้ยที่แท้จริง เพื่อลดภาระประชาชนและภาคธุรกิจ 3.ขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศเป็นลำดับแรก เพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ควบคู่การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน

4.อยากให้แบงก์ชาติสร้างการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ให้มากขึ้น ในการปล่อยสินเชื่อ/เงินฝาก ผ่านการเพิ่มผู้เล่นมากขึ้น และ 5.แก้ปัญหาหนี้เสียรายย่อยในระบบการเงิน โดยร่วมมือใกล้ชิดกับกระทรวงการคลัง

เสนอคุม “สเปรดดอกเบี้ย”

นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งที่อยากเห็นผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่แสดงบทบาททำทันที หนีไม่พ้นเรื่องการผ่อนปรนภาระทางการเงินของผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยอยากให้มีการประกาศนโยบายการเงินที่ชัดเจน ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะตรึงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยในระยะยาว เพื่อให้ผู้กู้สามารถวางแผนทางการเงินในระยะยาวของตัวเองได้ด้วย โดยไม่สร้างภาระให้กับอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ มองในแง่ความจำเป็นเร่งด่วนอยากให้ทำ 2 แกนหลัก คือ 1.ลดดอกเบี้ย ปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริงของผู้ประกอบการและผู้กู้รายย่อยถือว่าสูง อยู่ที่ 6% บวกลบ เสนอให้ควบคุมเพดานไม่เกิน 5% ในระยะยาว จนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว 2.ควบคุมส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้หรือ Spread ที่ปัจจุบันมีส่วนต่างถึง 4% ปลาย ๆ โดยมองว่าไม่ควรเกิน 3%

“สเปรดดอกเบี้ยตอนนี้กว้างเกินไป ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปี 2567 แบงก์กำไรนิวไฮ ขณะที่ผู้กู้ในวงจรธุรกิจกำลังย่ำแย่ เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติควรเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เพราะอัตราดอกเบี้ย 1% มีผลต่อค่างวดผ่อนบ้าน ล้านละ 600 กว่าบาท เช่น บ้านราคา 3 ล้าน ถ้าลด 1% ประหยัดดอกเบี้ยเดือนละ 1,974 บาทหรือเกือบ 2,000 บาท” นายสุนทรกล่าว

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : คลังจัดแถวทีมเศรษฐกิจใหม่ จับตา ‘วิทัย’ ผู้ว่า ธปท. ลุยลดดอกเบี้ยเชิงรุก

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ประชาชาติธุรกิจ

ราคาทองวันนี้ (23 ก.ค. 68) พุ่งขึ้น 450 บาท รูปพรรณขายออก 53,000 บาท

50 นาทีที่แล้ว

เวียตเจ็ท จัดกิจกรรม “Fly Green” ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี

58 นาทีที่แล้ว

พายุวิภา เข้าเมียนมา 25 ก.ค. กรมอุตุฯเผยพายุลูกใหม่ "ฟรานซิสโก" ก่อตัว

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เปิดตัว World Legend Mastercard ขยายพอร์ตกลุ่มใช้จ่ายสูง

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความหุ้น การลงทุนอื่น ๆ

SCB กำไร Q2 ดีกว่าคาด โบรกอัพเป้า133 บ.-ปันผล9%

หุ้นวิชั่น

WP สานต่อ WE PROMISE เปิดตัว “WP SOLAR FOR GOOD” ติดตั้งโซลาร์ฯ ให้วัด-โรงเรียน-โรงพยาบาล-ชุมชนฟรี

Share2Trade

สำนักงบฯ คาด One Big Beautiful Bill ทำสหรัฐฯ เป็นหนี้เพิ่ม 3.4 ล้านล้านดอลล์

ฮั่วเซ่งเฮง

SDJ 24/07/68 (SISB NUT CIVIL)

Share2Trade

สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงการค้าได้อีก 2 ประเทศ

ฮั่วเซ่งเฮง

PremiumStock 24/07/68 (ATLAS SISB SO)

Share2Trade

SAPPE ยอดขายยุโรปส่งสัญญาณบวก ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น ถือ

หุ้นวิชั่น

ตลาดหุ้นเอเชีย ปิดคึกคัก! นิกเกอิ-ฮั่งเส็ง พุ่งแรง รับข่าวเจรจาการค้าสหรัฐฯ

การเงินธนาคาร

ข่าวและบทความยอดนิยม

ราคาน้ำมันวันนี้ (23 ก.ค. 68) เช็กราคาดีเซล-แก๊สโซฮอล์ล่าสุด

ประชาชาติธุรกิจ

คลังจัดแถวทีมเศรษฐกิจใหม่ จับตา ‘วิทัย’ ผู้ว่า ธปท. ลุยลดดอกเบี้ยเชิงรุก

ประชาชาติธุรกิจ

หอการค้า ชูสายสัมพันธ์ 4 สาย ไทย–จีน ที่ตัดไม่ขาด เน้นเดินหน้าการค้าเสรีและเป็นธรรม

ประชาชาติธุรกิจ
ดูเพิ่ม
Loading...