ปะทะเดือด‘ไทย-กัมพูชา’ ยิ่งยืดเยื้อผลกระทบต่อเศรษฐกิจยิ่งรุนแรง
27 ก.ค. 2568 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อเสียงปืนดังขึ้นตามแนวชายแดน การเจรจาหารือกันด้วยเหตุผลก็จะหายไป เมื่อเราดำดิ่งเข้าสู่สงครามยืดเยื้อยาวนานเท่าไหร่ ความเสียหายจะยิ่งยากต่อการเยียวยามากขึ้นเท่านั้น สร้างบาดแผลและปัญหาติดตามมามากมาย และ เราจะสูญเสียทรัพยากรจำนวนมากในการแก้ปัญหาอื่นๆ ของสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม จะถูกบดบังด้วยความเกลียดชังทางเชื้อชาติและสงครามได้
รัฐบาลไทยควรเปิดการเจรจากับกัมพูชาเพื่อให้มีการหยุดยิงรักษาชีวิตผู้คนและลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ การยื่นข้อเสนอของประธานาธิบดีทรัมป์ให้หยุดยิงเพื่อการเจรจาเรื่องภาษีทางการค้าจะได้เดินหน้าต่อไปได้ เป็น ข้อเสนอที่ต้องได้รับการตอบสนองทั้งจากไทยและกัมพูชา หากไม่มีการเจรจาหยุดยิง นอกจาก “ไทย” จะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของการปะทะกันทางการทหารแล้ว เราจะยังได้รับผลกระทบจากอัตราภาษี 36% อีกด้วย
ผลกระทบเศรษฐกิจและภาคการลงทุนไทยรุนแรงหากสงครามชายแดนยืดเยื้อ เฉพาะหน้าการค้าชายแดนหยุดสิ้นเชิงเสียหายหนัก ปี 2567 ที่ผ่านมา การค้าชายแดนระหว่างสองประเทศมีมูลค่าสูงถึง 174,530 ล้านบาท โดยไทยส่งออกผ่านการค้าชายแดนไปกัมพูชามากถึง 141,847 ล้านบาท และนำเข้า 32,684 ล้านบาท ทำให้ไทยได้ดุลการค้าเกินกว่า 109,163 ล้านบาท สินค้าหลักที่ไทยส่งออก ได้แก่ อัญมณี น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม น้ำตาล และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของไทยในฐานะผู้จัดหาสินค้าจำเป็นให้แก่กัมพูชา
ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของการค้าตามแนวชายแดนดังกล่าว ได้แก่ ความต้องการบริโภคในกัมพูชาที่เพิ่มขึ้น การมีพรมแดนติดต่อกัน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคมตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการเมืองและทางการทหารตามแนวชายแดนตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดนและการดำเนินชีวิตของผู้คนจากการปิดด่าน มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องประเมินความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์จากสถานการณ์ดังกล่าว
ทาง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินและคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากกรณี "ปิดด่านชายแดนไทย–กัมพูชาทั้งหมด ดังนี้
“หากเปรียบเทียบกับกรณีความขัดแย้งชายแดนเมื่อปี 2554 ซึ่งใช้เวลาราว 4 เดือน กว่าการค้าจะกลับสู่ภาวะปกติ ครั้งนี้มีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างไรจะอยู่ที่การเจรจาหยุดยิงและการเปิดด่านตามแนวชายแดนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าตามแนวชายแดนในปี 2568 มีโอกาสขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวเป็นบวก” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า ส่งออกครึ่งปีแรกยังขยายตัวดีจากการเร่งส่งออกหลังจากมีการเลื่อนเส้นตายเก็บภาษีตอบโต้ ทำให้ส่งออกเดือนมิถุนายน ตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 41.9% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ภาพรวมอัตราการขยายตัวของการส่งออกครึ่งปีแรกอยู่ที่ 15% มูลค่า 1.66 แสนล้านดอลลาร์โดยตลาดส่งออกสหรัฐฯเติบโตสูงถึง 29.7%
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณชะลอตัวลงของภาคส่งออกในเดือนกรกฎาคม และ ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีน่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยบางเดือนอาจมีการขยายตัวติดลบ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค-ธุรกิจมีโอกาสทรุดต่อเนื่อง ขณะที่งบประมาณปี 2569 อาจสะดุดจากปัญหาทางการเมือง การใช้จ่ายภายในประเทศไม่ฟื้นตัว จึงต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโดยภาพรวมให้ดี
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายนของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 52.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือน ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยซึ่งสำรวจจากมุมมองของภาคธุรกิจในแต่ละภูมิภาคโดยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.7 สะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
“เพื่อให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น การมุ่งลงทุนไปยังอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศให้เข้มแข็งด้วยเครือข่าย การเร่งเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้ากับตลาดใหม่ๆ กระจายเม็ดเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan สองแสนล้านบาท ให้รวดเร็วทั่วถึง” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ
043…