คริปโตแห่งชาติไปไม่ถึงฝั่งฝัน? "เอลซัลวาดอร์" ลดบทบาทบิทคอยน์ หลัง IMF เบรกแรง
หลังจากสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกด้วยการชูบิทคอยน์เป็นสกุลเงินถูกกฎหมายรายแรกของโลก วันนี้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์กลับเผชิญแรงต้านจาก “ข้อตกลง IMF” ที่ทำให้การสนับสนุนสาธารณะหยุดชะงัก บทเรียนจากประเทศเล็กที่เคยเดินนำหน้า กลับกลายเป็นคำถามใหญ่ในหมู่นักลงทุนว่า "ยุทธศาสตร์คริปโตระดับประเทศ…ไปไม่รอดจริงหรือ?"
เมื่อสองปีที่ผ่านมา เอลซัลวาดอร์กลายเป็นหัวหอกในการปฏิวัติการเงินระดับโลก ด้วยการยกบิทคอยน์ให้เป็น "เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย" ท่ามกลางความตื่นเต้นของประชาคมคริปโตทั่วโลก ทว่าในปี 2568 ความฝันนั้นกำลังเผชิญแรงสั่นสะเทือนจากความเป็นจริงด้านนโยบายการเงินและข้อผูกพันระหว่างประเทศ
องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านการศึกษา “My First Bitcoin” เปิดเผยว่าหลังจากที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ลงนามในข้อตกลงเงินกู้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โครงการด้านการศึกษาและการส่งเสริมการนำบิทคอยน์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้หยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิง
เควนติน เอเรนมันน์ ผู้จัดการทั่วไปขององค์กร ระบุว่า “ตั้งแต่รัฐบาลทำสัญญากับ IMF บิทคอยน์ก็ถูกลดบทบาทจาก ‘เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย’ ไปสู่ทรัพย์สินที่รัฐไม่ส่งเสริมอีกต่อไป ความพยายามในการให้ความรู้กับประชาชนก็หายไปโดยไม่มีคำอธิบาย”
แม้รัฐบาลประธานาธิบดี นายิบ บูเคเล่ ยังแสดงการถือครองบิทคอยน์อย่างต่อเนื่อง แต่รายงานของ IMF ยืนยันว่าหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของการปล่อยกู้คือรัฐบาลจะต้อง “งดซื้อบิทคอยน์เพิ่มเติม” สร้างความขัดแย้งโดยตรงกับสำนักงานบิทคอยน์ของประเทศ ที่ยังคงอ้างว่า “มีการซื้อรายวันอย่างต่อเนื่อง”
เควนติน เอเรนมันน์ ชี้ว่า การดำเนินการเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อรัฐ แต่ประชาชนไม่ได้รับผลดีโดยตรง
"นโยบายและความยั่งยืน" กลายเป็นคำถามสำคัญที่ "เอลซัลวาดอร์" ตอบไม่ได้
ในเดือนมกราคม สภานิติบัญญัติเอลซัลวาดอร์มีมติยกเลิกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในโครงการบิทคอยน์เพื่อตอบสนองเงื่อนไขของ IMF ส่งผลให้แอปพลิเคชันกระเป๋าเงิน “Chivo” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนการใช้บิทคอยน์ถูกแปรรูปเป็นของเอกชน และรัฐจะไม่สามารถอัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมได้อีกต่อไป
สถานการณ์นี้จุดประเด็นวิพากษ์ถึงทิศทางระยะยาวของ “ยุทธศาสตร์คริปโตระดับประเทศ” ที่เอลซัลวาดอร์เคยเป็นผู้นำ แต่วันนี้กลับดูคล้ายกับการพับแผนเงียบๆ มากกว่าจะเป็นการปรับยุทธวิธี
ซุ่มซื้ออย่างเงียบ ๆ แต่ซื้อเพื่อใคร?
สำนักงานบิทคอยน์ของประเทศเปิดเผยว่า รัฐบาลยังคงถือครองบิทคอยน์อยู่ประมาณ 6,244 BTC หรือคิดเป็นมูลค่าราว 742 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่บริษัทวิเคราะห์บล็อกเชน เช่น Arkham พบว่ามีการโอนบิทคอยน์วันละ 1 BTC อย่างสม่ำเสมอจากแพลตฟอร์มอย่าง Binance และ Bitfinex ไปยังที่อยู่ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล
แม้ข้อมูลนี้จะยืนยันว่ามีความเคลื่อนไหว แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็น “การซื้อของรัฐบาล” หรือเป็นธุรกรรมของบุคคลวงในหรือใครบางคน
แนวโน้มโลก เมื่อรัฐกลายเป็น ‘พอร์ตคริปโต’
ขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ และองค์กรข้ามชาติยังคงเร่งสะสมบิทคอยน์ในฐานะสินทรัพย์ยุทธศาสตร์ ตัวอย่างล่าสุดคือ Metaplanet บริษัทในญี่ปุ่นที่เพิ่งซื้อ BTC จำนวน 797 เหรียญ มูลค่า 93.6 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย The Blockchain Group (ฝรั่งเศส) และ Smarter Web Company (อังกฤษ) ที่ถือรวมกันกว่า 340 BTC
บริษัทกลยุทธ์ด้านคลังคริปโตระดับโลก เช่น MicroStrategy รายงานผลกำไรยังไม่เกิดขึ้นจริง (unrealized gain) สูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 2 ปี 2568
หวั่นวิกฤตฟองสบู่คริปโต
แรน นอยเนอร์ นักวิเคราะห์คริปโตชื่อดัง ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทคริปโตขนาดใหญ่กำลัง “ทำตัวเหมือนทางออกของนักลงทุนวงใน” มากกว่าจะเป็นผู้ถือครองระยะยาว โดยอาศัยการระดมทุนจากเหรียญดิจิทัลของผู้ถือเดิม เพื่อแลกกับหุ้นในตลาดที่ขายด้วยราคาพรีเมียม
เจมส์ เช็ค หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Glassnode ก็แสดงความกังวลต่อโมเดล “Treasury-as-a-Service” ว่าอาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อการเติบโตของตลาดเริ่มถึงจุดอิ่มตัว
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO