หุ้นไทยหวังผลคำขู่“ทรัมป์” ฟื้นเชื่อมั่น-ดึงเงินไหลกลับ
ดัชนีตลาดหุ้นไทย 7 เดือนแรกยังปรับตัวลง 12% นักลงทุนต่างชาติขายต่อเนื่อง และยังไม่เห็นสัญญาซื้อคืนในระยะสั้น ภาพรวมตลาดหวังพึ่งผลเจรจาภาษีไทย-สหรัฐฯออกมาในทิศทางที่ดี ช่วยหนุนให้ดัชนีฟื้นตัว หลัง “ทรัมป์”ขู่ทั้ง ไทย และ เขมร หยุดยิงไม่งั้นไม่เจรจาภาษี คาดหากสถานการณ์คลี่คลายความเชื่อมั่นนักลงทุน และเม็ดเงินต่างประเทศไหลกลับ แต่ถ้าไม่ยุติส่อแววดัชนีดิ่งเหว
ใกล้จะจบเดือนที่ 7 ของปี 2568 ล่าสุดดัชนีหลักทรัพย์ (25 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 1,212.49 จุด หากพิจารณาจากวันที่ 2 ม.ค. 2568 ซึ่งปิดที่ระดับ 1,379.85 จุด ปรับตัวลดลง 12.10% หรือ 167.36 จุด ขณะที่การซื้อขายในเดือนนี้ (1-25ก.ค.) พบว่าในช่วงต้นเดือน ดัชนีฯ เริ่มต้นในช่วงประมาณ 1,110–1,115 จุด ทำให้ ณ เวลานี้ Set Index เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นเดือนประมาณ 100 จุด ขณะที่ Set 50 ซึ่งเป็นหุ้นขนาดใหญ่ลดลงราว –0.7% จากเดือนก่อน และลดลง –12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการซื้อขายรายวันอยู่ในช่วง 3.0-5.3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้มีรายงานว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยต่อเนื่องร่วม 13 วันติดต่อกัน นับเป็นการขายที่ยาวนานที่สุดในรอบเกือบครึ่งปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือนมีสัญญาณนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อกลับบางส่วน โดยนักลงทุน สถาบันในประเทศ และ รายย่อย ยังมีความเคลื่อนไหวแบบระมัดระวัง และอาจมีการถือครองหรือซื้อเพิ่มในกลุ่มที่คาดว่า undervalued
สำหรับภาพรวมหุ้นรายกลุ่ม พบว่า กลุ่มอาหาร8209;ค้าปลีก/CPALL, CPF, CRC ปรับลงเล็กน้อย 0.5% - 0.9% ขณะที่กลุ่มธนาคาร/การเงินปรับตัวลง 0.5% - 2.3% ตามมาด้วยกลุ่มพลังงาน/ปิโตรเคมี มีทั้งปรับขึ้นและปรับลง เช่นเดียวกับกลุ่มเทคโนโลยี/โทรคมนาคม ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์/ก่อสร้าง/บริการ ติดลบบางส่วน
นั่นทำให้อัตราส่วน P/E ของตลาดไทย อยู่ที่ 15.41 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปี (18.58 เท่า) แสดงว่า ตลาดมีความ “undervalued” สะท้อนได้จากนักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิหุ้นไทยเป็นวงกว้าง โดยมูลค่าการขายสะสมอยู่ที่ ประมาณ 7.8 -8.0 หมื่นล้านบาท เนื่องจากต้องการความชัดเจนด้านนโยบายและเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ประเมินว่ายังไม่น่าจะกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิในระยะสั้น หากไม่มีปัจจัยบวกใหม่ชัดเจน และปัจจัยลบสำคัญอย่างสถานการณ์ไทย-กัมพูชายังไม่มีข้อสรุป
ผลกระทบต่อประเทศไทย
โดย ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา ณ เวลานี้ ส่งกระทบต่อภาคการค้าและโลจิสติกส์ของประเทศ หลังจากมีการปิดด่านชายแดนทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่งของไทย ต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 30% .
ขณะเดียวกันยังมีผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 32.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (24ก.ค.) ลดลงเหลือ 32.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึง ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 70% ในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน
แรงคาดหวังภาษีUSยังหนุน
ทำให้ภาพรวมในช่วงที่เหลือของเดือนก.ค. และต้นเดือน ส.ค. 2568 ถูกประเมินว่า SET Index มีโอกาสดีดตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากความคาดหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ หลังจากมีรายงานว่าญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ได้บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งสร้างความหวังว่าไทยจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่คล้ายคลึงกันได้
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการปรับตัวขึ้น แต่บางโบรกเกอร์ เช่น บล.ทิสโก้ ได้มีการปรับลดเป้าดัชนี SET ทั้งปี 2568 ลงเหลือ 1,208 จุด ขณะที่บางสำนักก็มองแนวต้านที่สูงขึ้นในช่วงสั้น โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของเดือนนี้ คือ การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพราะหากไทยสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้อัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่า 19% จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อตลาด
ประเด็นถัดมา คือผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) วันที่ 29-30 ก.ค. เนื่องจากการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและท่าทีของ FED จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย รวมไปถึงผลประกอบการไตรมาส 2/68 ของบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งบริษัทต่างๆ กำลังทยอยประกาศผลประกอบการ ถือเป็นตัวสะท้อนสุขภาพของธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของไทย
การเมืองไม่แน่นอนกดดัน
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการไหลเข้าออกของเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากจะส่งผลต่อสภาพคล่องและทิศทางของตลาด รวมถึงหากเสถียรภาพทางการเมืองมีความไม่แน่นอนมากขึ้น อาจส่งผลให้ พ.ร.บ.งบประมาณล่าช้า ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่น รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.1 แสนล้านบาท ถูกคาดว่าจะช่วยหนุน GDP ประเทศ ทำให้มีการประเมินแนวรับของ SET Index ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคมที่ 1,205 และ 1,175 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,230 และ 1,255 จุด
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิด พบว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกำลังซื้อที่อ่อนแอ แม้จะมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐก็ตาม
“หากข่าวเรื่องภาษีของทรัมป์ไม่แย่เกินคาด ตลาดหุ้นไทยอาจมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก ภาพรวมตลาดมีแนวโน้มผันผวนสูงจากปัจจัยภายนอกและภายในที่ยังคงไม่แน่นอน โดยรวมในช่วงที่เหลือของเดือนนี้ การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และผลการประชุม FED ถือเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา แม้จะคาดว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคจำกัด แต่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตาม”
คาด SET ปรับตัวลงจำกัด
ล่าสุด บล.กสิกรไทย ประเทินทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 – 25 ก.ค.) ว่า ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ แต่ยังคงปิดเหนือ 1,200 จุดได้เป็นสัปดาห์ที่สอง ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ก่อนจะร่วงลงแรงในเวลาต่อมาตามแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยเฉพาะในหุ้นบิ๊กแคปรายตัว อาทิ หุ้นบริษัทพลังงาน ค้าปลีก เทคโนโลยี รวมถึงแบงก์ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการประกาศงบไตรมาส 2/2568
อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นและกลับมายืนเหนือ 1,200 จุดในช่วงกลางสัปดาห์ จากความคาดหวังเกี่ยวกับผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ หลังมีรายงานข่าวว่าญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ได้บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ แล้วและอัตราภาษีนำเข้าจะถูกปรับลงเหลือ 15% และ 19% ตามลำดับ
โดยดัชนีหุ้นไทยย่อตัวลงอีกครั้งในเวลาต่อมา หลังสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชามีความตึงเครียดและยกระดับความรุนแรงขึ้น แต่กรอบการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมีการประเมินว่า ประเด็นดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบจำกัดต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แม้จะยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ตลาดยังกลับมารอติดตามประเด็นการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากใกล้เส้นตายวันที่ 1 ส.ค. 2568
สำหรับสัปดาห์ที่ (28 ก.ค. – 1 ส.ค.) KSecurities คาดแนวรับที่ 1,205 และ 1,175 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,230 และ 1,255 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (29-30 ก.ค.) การประชุม BOJ (30-31 ก.ค.) ผลประกอบการไตรมาส 2/2568 ของ บจ.ไทย ผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนมิ.ย. และข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2568 ของสหรัฐฯ และโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ
ไม่เพียงเท่านี้ นักวิเคราะห์บางส่วน ยังประเมินว่า การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยช่วงก่อนครบกำหนดที่สหรัฐฯ จะนำอัตราภาษีใหม่มาใช้ในเดือนสิงหาคม มีแนวโน้มแกว่งตัวแคบเพื่อรอติดตามความชัดเจน ขณะเดียวกันนอกจากเรื่องอัตราภาษีแล้ว ยังต้องติดตามว่าข้อตกลงต่างๆ ที่ไทยเสนอให้สหรัฐฯ พิจารณาจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงความเสี่ยงจากการปะทะกันระหว่างไทยและกัมพูชา นำไปสู่คำแนะนำกลยุทธ์ลงทุนแบบ Lock กำไร สำหรับนักลงทุนระยะกลางถึงยาว
ขณะเดียวกัน โบรกเกอร์บางแห่งยังปรับเป้าหมาย SET Index เป็น 1,376 จุด ภายใต้สมมติฐาน EPS ปี 2568 ที่ 86 บาท และมองว่าหากข่าวภาษีของทรัมป์ไม่แย่เกินคาด ตลาดไทยอาจมีโอกาสขาขึ้น (Upside) อีกมากกว่า 15-20% จากจุดต่ำสุด
นอกจากนี้ พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นสำหรับครึ่งปีหลัง โดยมีการปรับลดคาดการณ์ GDP และ SET Index ลง โดยคาดการณ์ว่า SET Index อาจอยู่ที่ 1,166 จุด ณ สิ้นไตรมาส 3 (ซึ่งรวมเดือนสิงหาคมด้วย) และจะจบปี 2568 ในกรอบ 1,023 ถึง 1,267 จุด โดยมีเป้าหมายสิ้นปีที่ 1,231 จุด
บจ.ลงทุนในเขมรยังน่ากังวล
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บล.เกียรตินาคินภัทร ระบุถึงการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาคส่วนต่างๆ ของไทยจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับกัมพูชา ซึ่งส่งผลให้มีการปิดชายแดนและหยุดการค้าขายระหว่างกัน ว่าผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยจะจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังกัมพูชามีเพียงประมาณ 3% ของการส่งออกทั้งหมด และการนำเข้าจากกัมพูชามีเพียง 0.01% ของการนำเข้าทั้งหมด
นั่นเพราะแม้ว่าผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักอย่างน้ำมันปิโตรเลียม, เครื่องดื่ม, น้ำตาล และปุ๋ยจะได้รับผลกระทบ แต่การหยุดชะงักอาจถูกจำกัดได้โดยการใช้ช่องทางการค้าทางเลือกอื่น ถึงแม้ว่าการค้าชายแดนจะคิดเป็น 70% ของการส่งออกไปยังกัมพูชาก็ตาม แต่ยังมี บางบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่จำเป็นต้องจับตา โดยเฉพาะบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น CBG (บมจ. คาราบาวกรุ๊ป) ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง นั้นมีรายได้ประมาณ 15% จากกัมพูชา และได้เปลี่ยนไปใช้การขนส่งทางทะเล ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ถัดมาคือ OR (บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก) มีความเสี่ยงโดยตรงสูงสุด โดยมี EBITDA 1.2 พันล้านบาทจากกัมพูชา และการหาตลาดทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์กลั่นในระยะสั้นอาจเป็นเรื่องท้าทาย อย่างไรก็ตาม เกียรตินาคินภัทรยังคงให้คำแนะนำ "Neutral"
รวมถึง TOP (บมจ.ไทยออยล์) เนื่องจากขายผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ให้กับกัมพูชา แต่การเปลี่ยนการส่งออกไปยังสิงคโปร์จะส่งผลกระทบต่อ Gross Refinery Margin (GRM) เพียงเล็กน้อย
ส่วนหุ้นในกลุ่มภาคการค้าปลีก คาดว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย โดยผู้ค้าปลีกกำลังพิจารณาแหล่งนำเข้าทางเลือกอื่น เช่นเดียวกับกลุ่มภาคโทรคมนาคม คาดว่า ผลกระทบต่อรายได้จากบริการของบริษัทไทย เช่น ADVANC และ TRUE คาดว่าจะไม่มากนัก แม้ว่าความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออาจเป็นอุปสรรคต่อความทะเยอทะยานของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางข้อมูลระดับภูมิภาค
เช่นเดียวกับ
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่าการสู้รบระหว่างไทย กับ กัมพูชา มีแนวโน้มกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้นไทยจำกัด เนื่องด้วยการสู้รบดังกล่าวยังไม่ขยายวงออกจากพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา อีกทั้งมูลค่าการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา คิดเป็นเพียง 3% เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าทั้งหมดของประเทศไทยเท่านั้น
"ย้อนดูสถิตในช่วงปี 2554 ที่มีการสู้รบกันของทั้ง 2 ประเทศ ในช่วงที่สถานการณ์รุนแรงเดือน ก.พ - มี.ค. 2554 ปรากฏว่า ในช่วงดังกล่าว SET Index กลับปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าหุ้นในภูมิภาคเดียวกันอีกด้วย โดย SET Index เดือน ก.พ. ปรับตัวขึ้นได้ 2.5% จากเดือนก่อน และ มี.ค. ปรับตัวขึ้นได้ 4.5% จากเดือนก่อน และการปะทะกันครั้งนี้ คาดว่าจะไม่ยืดเยื้อเนื่องจากด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศไทยค่อนข้างเหนือกว่า ซึ่งเมื่อมีการสู้รบมักจะจบกันเร็ว เพราะจะมีการเจรจาหยุดยิง แต่ที่ผ่านมาสถานการณ์ยืดเยื้อเพราะฝ่ายความมั่นคงพยายามหาวิธีหลีกเลี่ยงการปะทะ" นายณัฐพลกล่าว
ดังนั้น การปะทะกันรอบนี้ คาดว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากการปะทะขยายวงกว้างออกมาจากพื้นที่ปัจจุบัน อาจจะกระทบต่อดัชนีหุ้นไทยราว 5% เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านภาคการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ
ส่วนหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดหลังมีการสู้รบระหว่างไทย - กัมพูชา ประกอบด้วย SAV, OR และ CBG เนื่องจากมีสัดส่วนธุรกิจอยู่ในประเทศกัมพูชาค่อนข้างสูง
“ทรัมป์” ขู่ไทย-เขมรหยุดยิง
ล่าสุด จากรายงานข่าวที่ระบุประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์ถึงผู้นำไทยและกัมพูชาเพื่อเรียกร้องให้ยุติการสู้รบและเตือนว่าจะไม่ดำเนินการข้อตกลงทางการค้าหากความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปนั้น นักวิเคราะห์ประเมินว่าหากเป็นจริง จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยในหลายมิติ
เริ่มที่ผลกระทบเชิงบวก นั่นเพราะหากมีการหยุดยิงและเริ่มเจรจาตามที่สหรัฐฯ เรียกร้อง จะช่วยลดความไม่แน่นอนและความกังวลที่ปกคลุมตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุน อีกทั้งการที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในการไกล่เกลี่ย และการที่สถานการณ์มีแนวโน้มคลี่คลาย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เงินทุนมีโอกาสไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย
ไม่เพียงเท่านี้ หุ้นของบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้หรือการลงทุนในกัมพูชาสูง เช่น SAV, CBG, OR, OSP, MAJOR, BDMS, BH, BCH, CHGPTT, TOP, PTTGC, IRPC, CPF และ TFG ที่ได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดในช่วงก่อนหน้า จะได้รับผลบวกโดยตรงจากสถานการณ์ที่ดีขึ้น
รวมไปถึง คำเตือนของทรัมป์ที่เชื่อมโยงกับข้อตกลงทางการค้า เป็นการเร่งให้ทั้งสองประเทศยุติความขัดแย้ง หากไทยสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้อัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่า 19% จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญอย่างมากต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งจะสะท้อนมายังตลาดหุ้น
ส่วนผลกระทบเชิงลบ หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อหรือคำเตือนของทรัมป์ไม่เป็นผล ถูกให้น้ำหนักไปที่การสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ หากความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป และไทยไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ จะส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
ไม่เพียงเท่านี้ ยังเกิดความผันผวนและแรงกดดันต่อตลาด หากสถานการณ์ยังตึงเครียดต่อไป ความกังวลของนักลงทุนจะยังคงอยู่ ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนสูง และอาจมีแรงเทขายออกมาเป็นระยะ
จึงกล่าวได้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่นักลงทุนต้องติดตาม นั่นเพราะจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่เหนืออื่นใด ประเทศไม่เคยรักษาสัญญาอะไรอย่าง “กัมพูชา” ยังเป็นปัจจัยที่น่ากังวลอย่างมากสำหรับนักลงทุน
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO