ชื่นชม "หลวงปู่เลี่ยม"บริจาคครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ รพ.วารินชำราบ มูลค่ากว่า 21.9 ล้านบาท
โลกออนไลน์ต่างชื่นชม พระพรหมวชิรญาณโสภณ วิ.(หลวงปู่เลี่ยม ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 บริจาคครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลวารินชำราบ จำนวน 28 รายการ รวมมูลค่า 21.9 ล้านบาท
เพจเฟซบุ๊ก "วัดหนองป่าพง วารินชำราบ อุบลราชธานี" ได้โพสต์ถึง "หลวงปู่เลี่ยม จันทำ ฉายา ฐิตธมฺโม" เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ว่า วัดหนองป่าพง โดยพระพรหมวชิรญาณโสภณ วิ. บริจาคครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ให้โรงพยาบาลวารินชำราบ จำนวน 28 รายการ รวมมูลค่า 21,921,400 บาท
ขณะที่เพจ "ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา" ได้โพสต์ประวัติของ "หลวงปู่เลี่ยม" ระบุว่า รองสมเด็จผู้ติดดินแห่งเมืองดอกบัว พระพรหมวชิรญาณโสภณ วิ. (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 พระผู้รักษามรดกธรรมหลวงพ่อชา สุภทฺโท ผู้สมถะ เรียบง่าย วัตรปฏิบัติแบบพระสายวัดป่ากรรมฐาน
นามเดิม เลี่ยม จันทำ ฉายา ฐิตธมฺโม เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงสืบต่อจากพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ด้วยอุปนิสัยมักน้อย สันโดษ ถ่อมตน[1] จึงเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก เมื่อครั้งหลวงพ่อชาอาพาธหนัก ได้ขอให้พระอาจารย์เลี่ยม รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน เป็นเหตุให้ท่านดำรงตำแหน่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ชาติกำเนิด
พระพรหมวชิรญาณโสภณ นามเดิม เลี่ยม จันทำ เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ตรงกับวันพุธ แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเส็ง ที่บ้านโคกจาน ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ บิดาชื่อนายเพ็ง จันทำ มารดาชื่อนางเป้ง จันทำ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน โดยท่านเป็นคนที่ 4
อุปสมบท
พระอาจารย์เลี่ยม ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ 2504 โดยมีพระครูถาวรชัยเขต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระทิพย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระจันลา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกในปี 2507
ปฏิบัติกรรมฐาน
ในปี 2512 พระอาจารย์เลี่ยม ได้ออกเดินทางเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อเรียนรู้ธรรม จนได้มาพบสำนักของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง ซึ่งเป็นวัดที่ร่มรื่น สะอาดสะอ้าน เสนาสนะมีระเบียบเรียบร้อย ดูแล้วเย็นใจ และได้กราบนมัสการหลวงพ่อชา ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ในการนี้เอง หลวงพ่อชา ท่านได้เมตตาเปลี่ยนบริขารทุกอย่างให้หมด
ระเบียบปฏิบัติของหลวงพ่อชา ถือว่าเข้มงวดมาก แต่หลวงพ่อเลี่ยมก็ไม่ได้ย่อท้อแต่อย่างใด เพราะเคยฝึกมาตั้งแต่สมัยอยู่ที่วัดเดิม ซึ่งถือว่าตรงกับรูปแบบของตัวเองมากกว่าที่จะสร้างความยุ่งยากในฝึกฝน เพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของพระศาสนา ด้วยความพากเพียร แม้แต่ในวันพระก็ถือ #เนสัชชิก คือ การไม่นอนตลอดคืน ก็อยู่ได้อย่างสบาย จนจิตรู้สึกสว่างไสวและมีความสุขจากการปฏิบัติธรรม
สมณศักดิ์
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ดังนี้
- พ.ศ. 2544 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระวิสุทธิสังวรเถร
- พ.ศ. 2549 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระราชภาวนาวิกรม อุดมธรรมสิทธิ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ. 2564 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระเทพวชิรญาณ ภาวนาวิธานโกศล วิมลศาสนกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ. 2567 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ #พระพรหมวชิรญาณโสภณ วิมลสีลาจารวินิฐ วิปัสสนานุสิฐคณาจารย์ ไพศาลศาสนกิจดิลก สาธกธรรมวิจิตร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
ซึ่งหลังจากข้อมูลนี้ได้เผยแพร่ออกไป โลกออนไลน์ต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยชื่นชมหลวงปู่เลี่ยม ที่ได้ช่วยเหลือโรงพยาบาล และผู้ป่วย เป็นการสร้างกุศลครั้งใหญ่ และเชื่อว่าพระผู้ดีปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยังมีอยู่มาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "คบพระสงฆ์เป็นแฟน" เข้าข่ายป่วยทางจิตหรือไม่? ไขข้อสงสัย? ในมุมมองจิตแพทย์
- ตลาดการกุศลไทยแตะ 1.5 แสนล้านบาทในปี 68
- สำนักพุทธฯ เผย 8 พฤติกรรม "สีกาลวง" พระสงฆ์ต้องระวัง
- วัดมหาธาตุฯ ออกแถลงการณ์ “พระในข่าวกับสีกาก.” ออกจากวัดไปตั้งแต่ปี 62
- เติร์ด Tilly Birds ร่ายยาวขอโทษบุคลากรทางการแพทย์ เรื่องอาการป่วยคุณแม่