AI ไม่ธรรมดานะ
AI ไม่ธรรมดานะ
สัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 27 มิถุนายน 2568 มีการประชุมความร่วมมืออุตสาหกรรมสื่ออาเซียน-จีน 2025 (ASEAN-China Audio-visual Industry Cooperation Conference 2025) ที่โรงแรมแชงกรีล่า
ส่วนใหญ่ ตัวแทนจากเขตปกครองตนเองกวางสี กับบรรดาผู้ผลิตสื่อจากมณฑลนี้ มาเสนอตัว แสวงหาผู้สนใจร่วมพัฒนาเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ตามสื่อต่างๆเน้นกลุ่มออนไลน์
คือมาประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่า ความก้าวหน้าของการพัฒนาสื่อด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ของเขาก้าวกระโดดถึงไหนแล้ว
การตัดต่อ การสร้างภาพนิ่งหรือวิดีโอตามสั่ง ที่แอปลิเคชั่นจากจีนมีออกมาให้ใช้กันดาดดื่น สนุกสนาน ถือเป็นเรื่องธรรมดา
ใช้กันจนลืมว่า นั่นคือการช่วยพัฒนาหรือฝึกให้ AI เก่งมากขึ้น
ท่านผู้ว่าการจากเขตปกครองตนเองกวางสี บรรยายผ่านล่าม จับความได้ว่า มีการส่งเสริมงานด้านสื่อเป็น 1 คลัสเตอร์ มีตั้งแต่ระบบพอร์ทัล การสร้างฐานอุตสาหกรรมออนไลน์ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมสื่อของจีน อาเซียน มีการบ่มเพาะซีรี่ส์สั้น การแลกเปลี่ยน พัฒนาบุคลากร บ่มเพาะอินฟลูเอนเซอร์ การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีเอไอ ครอบคลุมถึงการซื้อขายลิขสิทธิ์แบบวันสต็อปเซอร์วิส สร้างแพลตฟอร์ม บริการภาษา
ด้านการร่วมลงทุน ส่งเสริมความร่วมมือการวิจัยและพัฒนา สร้างมิติใหม่ให้กับภาพยนตร์สั้น เน้นพัฒนาซีรีสั้น สนับสนุนความร่วมมือ AI Immersive คือการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มารวมกับเทคโนโลยีการรับรู้เสมือนจริง (Immersive Technology) สร้างประสบการณ์ที่สมจริงและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้
โดยAI จะวิเคราะห์ สร้างเนื้อหาที่ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และพฤติกรรมของผู้ใช้ ให้น่าสนใจมากขึ้น
ฟังจากหลายเสียงที่มาเสนอข้อมูล แล้วใช้เอไอตรวจสอบความก้าวหน้าในจีน เฉพาะที่กวางสี ได้ความว่า มณฑลนี้ มีความก้าวหน้าของการพัฒนาผู้ประกาศข่าว AI โดยใช้ Deep Learning & NLP (Natural Language Processing) สร้างเสียงและใบหน้าที่เหมือนมนุษย์
มี Real-time Rendering นำเสนอข่าวแบบสดได้
Emotional Voice Synthesis ปรับน้ำเสียงให้สื่ออารมณ์ได้ใกล้เคียงมนุษย์
อาจเคยเห็นบางสำนักข่าวของจีนเปิดตัวผู้ประกาศ AI ช่วงใหม่ๆ มีเสียงติติงตามธรรมดาแต่สำหรับกวางสี มีรายงานว่า เขาพัฒนาให้แสดงอารมณ์และโต้ตอบแบบเรียลไทม์ได้แล้ว
จึงเป็นไปได้ว่า ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ และกล้องเดินภาพจากจุดที่อันตราย หรือเข้าถึงยาก อาจถึงขั้นมีผู้รายงานข่าวภาคสนาม AI ที่เสนอข้อมูลได้ทันที โดยไม่เกี่ยงเวลา
ในสื่อบันเทิง การใช้AI มีหลายขั้นตอนแล้ว เช่น Script Writing: AI ช่วยเขียนบทหรือเสนอแนวคิด
Virtual Actors: สร้างตัวละคร CGI แทนนักแสดงจริง (เช่น "สังเคราะห์" ดาราด้วย Deepfake)
Post-production: ตัดต่อ, ใส่เอฟเฟกต์, หรือสร้างฉากทั้งฉากด้วย Generative AI
แต่ก็ยังต้องพึ่งมนุษย์ในขั้น Creative Decision-making เช่น การกำกับศิลป์ หรือการควบคุมเนื้อหาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ
และยังไม่ถึงขั้นสร้างตัวแสดงจาก AI เพื่อทำละครหรือภาพยนตร์ทั้งเรื่องได้ มีเพียงหนังหรือละครสั้น
แต่อนาคตอันใกล้คงทำได้
อาชีพดารา นักแสดงค่าตัวแพง หรือคนบางอาชีพ บางวงการเข้าใจว่า งานที่ทำเป็นความสามารถเฉพาะตัว AI ทำแทนไม่ได้ ควรปรับความคิดใหม่ ไม่ประมาทและเตรียมทางถอย
เทคโนโลยีนี้มาเร็วและล้ำหน้ากว่าที่เราคิด
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ติดตามเราได้ที่