ขณะรัฐสภากำลังพิจารณานิรโทษกรรม ยังมี 26 นักโทษม.112 ในเรือนจำถูก “ขังระหว่างพิจารณาคดี”
ปี 2568 เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยหันกลับมาจับตาคดีการเมืองอีกครั้ง หลังร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถูกบรรจุเข้าสู่วาระประชุมสภาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ขณะที่บทสนทนาเรื่อง “นิรโทษกรรม” ซึ่งเป็นความหวังของผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองกำลังจะเกิดขึ้นในรัฐสภา แต่คำถามที่อยู่เบื้องหลังก็คือ เหตุใดผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมากจึงยังคงถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และทำไมสิทธิในการประกันตัวในคดีทางการเมืองจึงหายไปจากระบบยุติธรรม
สิทธิในการประกันตัวเป็นหลักประกันพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกฟ้องสามารถต่อสู้คดีอยู่ภายนอกเรือนจำได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า คดีการเมือง โดยเฉพาะคดีตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 มักถูกปฏิเสธการปล่อยชั่วคราว ด้วยเหตุผล เช่น "เป็นคดีอัตราโทษสูงเกรงว่าหลบหนี" หรือ "ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม" ในหลายกรณี การปฏิเสธให้ประกันตัวไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมของจำเลย แต่ผูกโยงอยู่กับน้ำหนักของข้อหาทางการเมือง ที่ศาลอาจมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ส่งผลให้การคุมขังกลายเป็นการลงโทษทางอ้อม ทั้งที่ผู้ต้องหายังอยู่ในสถานะ “บริสุทธิ์” ตามหลักการในรัฐธรรมนูญ
บทความนี้นำเสนอข้อมูลเชิงสถิติจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อชี้ให้เห็นว่า “ชั้นศาลใด” คือด่านที่สำคัญที่สุดในการตัดสิทธิผู้ต้องหาทางการเมืองไม่ให้ประกันตัว โดยจำแนกข้อมูลออกเป็นสี่กลุ่ม ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา และคดีที่ถึงที่สุดแล้ว
สิทธิพื้นฐานที่ถูกล็อก เมื่อความหวังประกันตัวคดีการเมืองริบหรี่
การปล่อยชั่วคราวหรือการประกันตัว เป็นกลไกพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมที่มีเป้าหมายเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวเกินกว่าความจำเป็น ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามหลักการ “สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ในทุกชั้นของกระบวนการ ตั้งแต่ช่วงสอบสวน ไปจนถึงชั้นฎีกา โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีคำพิพากษาเสียก่อนจึงจะยื่นขอได้
ในชั้นสอบสวน การขอปล่อยชั่วคราวสามารถทำได้เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออัยการนำตัวผู้ต้องหามาขออนุญาตฝากขังต่อศาล ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ที่ถูกดำเนินคดียังคงเป็นเพียง “ผู้ต้องหา” ตามกระบวนการยุติธรรม
เมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้องคดีจะเข้าสู่ศาลชั้นต้น ผู้ต้องหาจะเปลี่ยนสถานะเป็น “จำเลย” และสามารถยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ตั้งแต่ก่อนวันนัดพิจารณา ไปจนถึงหลังวันนัดก็ยังสามารถยื่นได้ หากศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุก จำเลยยังสามารถยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้ โดยสามารถยื่นก่อน ระหว่าง หรือหลังการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดแล้วในชั้นฎีกาต้องรับโทษให้ครบเท่านั้น
แม้จะมีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ขอปล่อยตัวชั่วคราวในหลายระดับ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ศาลในบางชั้น โดยเฉพาะศาลอุทธรณ์ มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีทางการเมือง
เกินครึ่งหนึ่งของนักโทษคดีการเมือง ถูกศาลปฏิเสธสิทธิประกันตัว
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2568 ระบุว่า มีผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 50 คน ในจำนวนนี้อย่างน้อย 26 คนเป็นผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดี และอย่างน้อย 24 คนเป็นผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคดีตามประมวลกฎหมายมาตรา 112
หากแยกตามประเภทของ “ศาลที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัว” จะพบว่าในชั้นศาลอุทธรณ์มีผู้ไม่ได้รับการประกันตัวมีจำนวนมากที่สุด จำนวน 16 คน สะท้อนบทบาทของศาลอุทธรณ์ในการยืนยันคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้น โดยมักให้เหตุผลว่า “ไม่มีสาเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” แม้จะมีการยื่นขอประกันหลายครั้งก็ตาม
รายชื่อจำเลยที่ไม่ได้ประกันในศาลอุทธรณ์
และในชั้นศาลฎีกา ปฏิเสธการให้ประกันตัวจำนวนเจ็ดคน แม้จะเป็นกระบวนการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลสูงสุดก็ยังคงคำสั่งเดิมไว้เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ต้องหาหวังจะได้สิทธิในการต่อสู้คดีโดยไม่ต้องถูกคุมขัง แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จ
รายชื่อจำเลยที่ไม่ได้ประกันในศาลฎีกา
ส่วนในศาลชั้นต้น มีจำนวนจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวจำนวนสามคน ซึ่งแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าศาลอื่นๆ แต่ศาลชั้นต้นคือจุดเริ่มต้นของการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัว และเมื่อมีคำสั่งไม่อนุญาต คำสั่งดังกล่าวก็มักถูกศาลสูงยืนยันตามมา
รายชื่อจำเลยที่ไม่ได้ประกันในศาลชั้นต้น
กลุ่มสุดท้ายคือผู้ที่คดี “ถึงที่สุดแล้ว” ซึ่งไม่สามารถยื่นขอประกันตัวได้อีกต้องรับโทษให้ครบตามคำพิพากษาเท่านั้น มีจำนวนรวม 24 คน (รวมเยาวชนหนึ่งคน) ซึ่งหมายความว่าจำเลยกลุ่มนี้ต้องรับโทษตามคำพิพากษาจนกว่าจะครบกำหนด แม้บางรายจะเคยยื่นขอประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีแต่ไม่เคยได้รับอนุญาตเลยตลอดทั้งกระบวนการ
รายชื่อผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว
สถาพร (ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2568)
ภาพรวมจึงสะท้อนว่า การต่อสู้คดีในศาลโดยไม่ถูกคุมขัง ยังคงเป็น “สิทธิที่ไม่ได้รับการรับรองอย่างเต็มที่” ในคดีการเมือง โดยเฉพาะเมื่อศาลชั้นต้นไม่ให้ประกัน และศาลอุทธรณ์เลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม การไม่ให้ประกันตัวในคดีการเมืองไม่ได้สะท้อนเพียงแค่การจำกัดสิทธิในการประกันตัวของประชาชน แต่ตอกย้ำถึงอำนาจอันกว้างขวางของศาล ซึ่งการนิรโทษกรรมอาจเป็นที่พึ่งสุดท้ายสำหรับอิสรภาพของนักโทษทางการเมืองทั้ง 50 คนนี้