โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

“เกรงจะวุ่นวาย” ตำรวจศาลยกเก้าอี้ออกจากห้องพิจารณาคดี ในวันที่ศาลไม่อยากให้มีคนมานั่งฟังการอ่านคำพิพากษา 112

iLaw

อัพเดต 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • iLaw

25 มิถุนายน 2568 เป็นอีกครั้งที่อานนท์ นำภา หรือ “ทนายอานนท์” ถูกพาตัวจากเรือนจำมาที่ศาล เพื่อฟังคำพิพากษาในคดี #มาตรา112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการปราศรัยที่ห้าแยกลาดพร้าวเมื่อปี 2563 เช้าวันนั้นมีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ Solidarity for Arnon เพื่อแสดงจุดยืนเคียงข้าง อานนท์ นำภา บริเวณสะพานลอยและป้ายรถเมล์หน้าศาลอาญา ในกิจกรรมมีการชูป้ายรูปอานนท์และตะโกน Free Arnon โดยหวังว่าอาจจะมีรถผู้ต้องขังที่อานนท์นั่งมาวิ่งผ่านเห็น และได้ยินข้อความ

ในคดีนี้ยังมีจำเลยอีกคนหนึ่งที่ต้องมาฟังคำพิพากษาด้วย คือ จิรฐิตา หรือ ฮิวโก้ ซึ่งทั้งสองคนให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีนี้โดยรับว่า พวกเขาได้กล่าวปราศรัยในวันดังกล่าวจริง แต่สิ่งที่พวกเขาพูดนั้นเป็นเสรีภาพการแสดงออก ไม่ได้มีเนื้อหาที่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง

ที่ห้องพิจารณาคดี 714 ศาลอาญารัชดา ผู้คนทยอยกันเดินทางมาฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจอย่างเนืองแน่นจนเก้าอี้ในห้องพิจารณาคดีเต็มทุกแถวแทบล้นออกมาหน้าห้อง โดยมีประชาชนทั่วไป, ภรรยาและลูกชายของทนายอานนท์, เพื่อนร่วมงานของจิรฐิตาจากพรรคประชาชน ทั้งชัยธวัช ตุลาธน อดีตผู้นำฝ่ายค้าน และ รังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน, ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสถานทูตและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาร่วมรับฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย

เวลาประมาณ 9.15 ตำรวจศาลปรึกษากับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์และหยิบกล่องกระดาษ A4 เปล่า และยื่นออกมาพร้อมกับแจ้งว่าจำเป็นต้องเก็บโทรศัพท์มือถือประชาชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ทุกคน ซึ่งประชาชนผู้ร่วมสังเกตการณ์บางคนได้หย่อนโทรศัพท์มือถือลงไปในกล่อง พร้อมกับมีเสียงบ่น เพราะนี่ไม่ใช่ทางปฏิบัติปกติของการไปฟังการพิจารณาคดีในศาล ขณะที่อีกหลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวและไม่ยินยอมที่จะเก็บโทรศัพท์ไว้กับกล่องกระดาษ A4 ใบนั้น จนนำไปสู่การถกเถียงกับเจ้าหน้าที่ว่าการเก็บโทรศัพท์นั้นเป็นการบังคับที่เกินกว่าเหตุ เพราะสามารถปิดเสียงโทรศัพท์แล้วเก็บไว้กับตัวก็ได้

เวลาประมาณ 09.40 ประชาชนเดินทางเข้ามาที่ห้องพิจารณาเรื่อยๆ รวมแล้วประมาณ 100 คน จนกระทั่งพื้นที่ห้องรองรับประชาชนไม่พอ หลายคนจึงออกมายืนรอให้กำลังใจอยู่ด้านหน้าห้องพิจารณาคดีที่ 714 ยาวไปจนตลอดทางเดินจากห้องด้านในสุดไปถึงโถงลิฟท์ ตำรวจศาลแจ้งกับประชาชนผู้มาร่วมสังเกตการณ์ว่าจะไม่เบิกตัวอานนท์ขึ้นมาที่ห้องพิจารณาด้านบน แต่จะอ่านคำพิพากษาที่ห้องเวรชี้ที่อยู่ใต้ถุนศาล เนื่องจากกรณีที่ช่วงเช้ามีการทำกิจกรรมชูป้ายให้กำลังใจอานนท์บริเวณถนนด้านหน้าทางเข้าศาลอาญาในช่วงเช้า อีกทั้งยังแจ้งให้จิรฐิตา ลงไปฟังการอ่านคำพิพากษาที่ห้องเวรชี้ด้านล่างด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ห้องเวรชี้เป็นห้องพิจารณาคดีที่ตั้งอยู่ใต้ถุนศาลติดกับห้องขังคนที่ถูกพาตัวมาจากเรือนจำ เป็นห้องที่จัดไว้ในพื้นที่พิเศษปกติใช้ทำกระบวนการฝากขังที่จะให้คนที่ถูกพามาจากสถานที่คุมขังได้เจอกับผู้พิพากษาเป็นระยะเวลาสั้นๆ จัดทำไว้เพื่อความสะดวกเพื่อจะไม่ต้องพาผู้ต้องขังเดินขึ้นห้องพิจารณาคดีด้านบนเนื่องจากผู้ถูกคุมขังที่พามามีจำนวนมากต่อวันและจะต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลจำนวนมาก จึงสร้างห้องพิเศษไว้ให้เดินจากห้องขังมายังห้องเวรชี้ได้เลย ไม่เปิดช่องให้ผู้ถูกคุมขังหลบหนีได้ โดยปกติแล้วประชาชนทั่วไปรวมทั้งญาติพี่น้องของผู้ต้องขังไม่สามารถเข้าไปฟังจะไม่สามารถเข้าไปในห้องนี้ได้ ยกเว้นมีกรณีที่ขออนุญาตศาลเป็นพิเศษจริงๆ

หลังตำรวจศาลแจ้งว่า จะอ่านคำพิพากษาคดีนี้ที่ห้องเวรชี้ ซึ่งหมายความว่า คนที่มารอร่วมรับฟังคำพิพากษาจะไม่ได้ฟังด้วย จึงเกิดการโต้เถียงกัน ตำรวจศาลก็แจ้งว่า จะอนุญาตเฉพาะทนายจำเลยและญาติบางส่วนเท่านั้นที่สามารถเข้าไปในห้องเวรชี้ได้ โดยอธิบายเหตุผลว่า เนื่องจากมีคนมาเยอะ เกรงว่าจะเกิดความวุ่นวาย ไม่เป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัย

ขณะที่ทนายความจำเลย และประชาชนผู้มาสังเกตการณ์ก็พยายาม อธิบายว่า วันนี้ศาลนัดพิจารณาที่ห้อง 714 การอ่านคำพิพากษาก็ต้องกระทำที่ห้องนี้ไม่สามารถทำที่ห้องอื่นได้ และการอ่านคำพิพากษาหรือการพิจารณาคดีใดๆ ต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชนทั่วไป ไม่มีเหตุใดที่จะไม่ให้ประชาชนเข้าฟัง

จิรฐิตา ซึ่งเป็นจำเลยอีกหนึ่งคนในคดีนี้จึงแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า เธอไม่ต้องการที่จะลงไปฟังคำพิพากษาที่ห้องเวรชี้ และจะไม่ยอมออกจากห้องพิจารณาคดีที่ 714 ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วการอ่านคำพิพากษาต้องทำต่อหน้าจำเลย หากจิรฐิตาไม่ไป วันนี้ก็อ่านคำพิพากษาไม่ได้ เจ้าหน้าที่และตำรวจศาลจึงบอกว่า หากจิรฐิตาไม่ยอมไปที่ห้องเวรชี้ จะพิจารณาออกหมายจับ หรือถอนการประกันตัว ทำให้บรรยากาศการพูดคุยระหว่างทนายความกับตำรวจศาลตึงเครียดขึ้น

หลังเวลาล่วงเลยมาถึงประมาณ 10.15 ทางตำรวจศาลได้แจ้งกับห้องพิจารณาว่าจะเบิกตัวอานนท์จากห้องขังใต้ถุนศาลขึ้นมาฟังคำพิพากษาบนห้องพิจารณาคดีที่ 714 โดยมีเงื่อนไขว่าจะให้ประชาชนอยู่ด้านในห้องพิจารณาคดีได้เพียง 6 คน โดยแบ่งเป็นญาติของอานนท์สามคนและญาติของจิรฐิตาสามคน และหลายคนในห้องพิจารณาไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ไม่ได้โต้เถียง และไม่มีคนลุกออกจากที่นั่งที่นั่งอยู่กันเต็มแล้ว เพราะไม่มีใครเป็นคนตัดสินใจได้ว่า จะ

ชัยธวัช ตุลาธน ได้กล่าวว่า หากศาลต้องการให้มีผู้เข้าฟังคำพิพากษาแค่ 10 คน ศาลจะต้องทำหนังสือสั่งการลงมาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ในขณะที่ผู้คนบางส่วนที่มาร่วมฟังคำพิพากษายืนยันว่าไม่ต้องการที่จะออกจากห้องพิจารณาคดี หากผู้พิพากษาต้องการมีคำสั่งให้ออกจากห้อง ควรให้ผู้พิพากษามาปรากฎตัวบนบัลลังก์เพื่อให้คำอธิบายด้วยตัวเอง ไม่ใช่มีเจ้าหน้าที่มาอ้างว่า ศาลสั่ง ทั้งที่ยังไม่แน่ชัดว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเป็นคนสั่งหรือไม่

จากนั้นตำรวจศาลจึงกล่าวว่า จะมีการล็อคประตูห้องพิจารณาคดี โดยห้ามคนที่นั่งอยู่ในห้องเดินออก และห้ามคนที่อยู่นอกห้องเดินเข้า และจะมีตำรวจศาลยืนเฝ้าประตูอยู่ ระหว่างนั้นตำรวจศาลได้แจ้งให้คนที่กำลังนั่งรอฟังคำพิพากษาลุกจากเก้าอี้ยาวหนึ่งตัว และยกออกไปนอกห้องพิจารณาคดี ทำให้คนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ต้องลุกขึ้นและไปนั่งเบียดกันบนเก้าอี้ตัวอื่นๆ จากนั้นก็ยังแจ้งให้คนลุกขึ้นจากเก้าอี้ยาวอีกตัวหนึ่งและกระจายกันไปนั่งเบียดเสียดในเก้าอี้ยาวตัวอื่นๆ อีกครั้ง โดยอ้างว่าจะเตรียมที่ไว้ให้อานนท์นั่ง

เวลาประมาณ 10.50 น. เจ้าหน้าที่พาอานนท์มาที่ห้องพิจารณาคดี โดยเมื่อเขาเดินเข้ามาตามทางเดินซึ่งมีประชาชนทั้งยืนและนั่งเพื่อรอฟังการพิจารณาคดีอยู่จำนวนมาก คนเหล่านั้นจึงลุกขึ้นยืนคล้ายการตั้งแถวต้อนรับให้อานนท์เดินผ่านเข้าไปที่ห้องพิจารณาคดีที่ 714 อานนท์เดินมาอุ้มลูกชายวัยสองขวบ และเดินทักทายผ่านผู้มาสังเกตการณ์เข้าไปในห้องพิจารณาคดี และเมื่อเข้ามาในห้องพิจารณาคดีที่มีคนนั่งอยู่เต็ม อานนท์จึงเดินไปนั่งข้างทนายความ และตำรวจศาลก็บอกให้คนที่เบียดกันอยู่กลับมานั่งบนเก้าอี้ตัวที่ว่างอยู่ได้

เวลาประมาณ 11:10 น: ตำรวจศาลแจ้งให้ทุกคนออกจากห้องพิจารณาคดีอีกครั้ง แล้วขอให้อานนท์ลิสต์รายชื่อหกคน เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้มีผู้เข้าฟังคำพิพากษาแค่หกคน โดยกล่าวว่า หลังจากที่ทุกคนออกไปแล้ว ตำรวจศาลจะถือลิสต์รายชื่อหกคนที่ได้จากอานนท์แล้วไปเรียกกลับเข้ามา ตำรวจศาลแจ้งกับผู้คนที่ยังนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีว่าถ้าไม่ยอมออกไป อาจจะต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปก่อน อานนท์ได้ตอบตำรวจศาลว่า ผู้คนที่มานั่งฟังการพิพากษาก็ตั้งใจมาและทุกคนก็อยู่ในความสงบเรียบร้อย ไม่ได้ก่อกวน และการอ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผยก็เป็นหลักการ และผู้คนก็มีสิทธิที่จะนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีโดยไม่ต้องลุกออกไปตามคำสั่งศาล ดังนั้น หากศาลต้องการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป ก็ยินดีให้เลื่อน และให้บันทึกไว้ด้วย ว่าเหตุผลในการเลื่อน เนื่องจากมีผู้คนสนใจมาฟังคำพิพากษากันมากเกินไป

เวลาประมาณ 11:25 น. ผู้พิพากษาปรากฏตัวขึ้นบัลลังก์ ก่อนที่จะเริ่มอ่านคำพิพากษาด้วยเสียงที่เบา ทำให้ผู้คนที่มารอฟังได้ยินไม่ชัด จับใจความได้ยาก ซึ่งศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาโดยละเอียดไปถึงราว 12:10 น. ผลคำพิพากษา ศาลให้จำคุกอานนท์ ในคดีนี้สามปี ลดโทษให้เหลือสองปี รวมโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 เท่าที่มี 27 ปีสี่เดือน

ดูหลักกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยได้ทาง

ขอบคุณภาพวาดประกอบ โดยปิยมาศ โมเลกุล

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก iLaw

ขณะรัฐสภากำลังพิจารณานิรโทษกรรม ยังมี 26 นักโทษม.112 ในเรือนจำถูก “ขังระหว่างพิจารณาคดี”

9 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ชวนเปลี่ยนรูปโปรไฟล์รูปถ่ายกับท้องฟ้า บอกสภาว่าต้องผ่านร่าง #นิรโทษกรรมประชาชน

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม