ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ เสร็จแล้ว เตรียมเปิดรับฟังเสียงประชาชน 25 ก.ค.นี้ ก่อนเข้าสู่สภาฯ
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม รองประธานกรรมาธิการฯ และ นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ กรรมาธิการ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ได้พิจารณาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ครอบคลุมทั้งหมด 10 หมวด ประกอบด้วย
หมวด 1 บททั่วไป
หมวด 2 คณะกรรมการและองค์กรเพื่อการบริหารจัดการอากาศสะอาด
หมวด 3 เครื่องมือและกลไกในการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
หมวด 4 การป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดมลพิษ
หมวด 5 เขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศและเขตประสบมลพิษทางอากาศ
หมวด 6 เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด หมวด 6/1 กองทุนอากาศสะอาด
หมวด 7 (ยุบรวมในหมวด 2) เจ้าพนักงานอากาศสะอาด
หมวด 8 ความรับผิดทางแพ่ง
หมวด 9 โทษทางอาญา
หมวด 10 มาตรการปรับเป็นพินัย
โดย กมธ. ได้ตัดหมวด 7 ออก และรวมเนื้อหาไว้ในหมวด 2 เพื่อให้โครงสร้างของกฎหมายมีความกระชับและเหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านเว็บไซต์รัฐสภา www.parliament.go.th เป็นระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม ถึงวันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม 2568 โดยเนื้อหาในการรับฟังความคิดเห็นประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ., สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ., และ ประเด็นคำถาม เพื่อประกอบการพิจารณาในขั้นตอนถัดไป ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้อาจไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ในทันที แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ของประเทศไทยในการต่อสู้กับปัญหาฝุ่น PM 2.5 และสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทยในระยะยาว
ด้าน นางสาวคนึงนิจ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ถือเป็นร่างแรกที่เกิดจากการที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายกว่า 10,000 รายชื่อ และนำมาผนวกรวมกับร่างฉบับอื่นจนกลายเป็นร่างฉบับปัจจุบันที่ผ่านการพิจารณาโดย กมธ. ร่วมกัน และถือเป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับแรกที่สถาปนาสิทธิในอากาศสะอาดอย่างชัดเจน เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในสิ่งแวดล้อม และขณะนี้องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ยกระดับให้สิทธิในอากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่งแล้ว ซึ่งก่อให้เกิดภาระหน้าที่ของรัฐตามทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายฉบับนี้
ขณะเดียวกัน นายภัทรพงษ์ ได้กล่าวขอบคุณภาคประชาชนที่เป็นผู้ริเริ่มร่างกฎหมายฉบับนี้ และขอบคุณคณะรัฐมนตรีที่เล็งเห็นความสำคัญ โดยได้บรรจุให้เป็นวาระเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2567 รวมถึงขอบคุณทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องทั้งในคณะ กมธ. และคณะอนุ กมธ. ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 6 เดือน จนสามารถผลักดันร่าง พ.ร.บ. นี้ให้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนในอนาคต