BCPมั่นใจCODโครงการSAFทันปี68 หลังโดนผู้รับเหมาทิ้งงาน
“ชัยวัฒน์” มั่นใจโครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน(SAF)ที่ก่อสร้างไปแล้ว98%จะแล้วเสร็จและผลิตเชิงพาณิชย์ได้ทันในปี68 แม้โดนผู้รับเหมาทิ้งงาน แย้มแจ้งลูกค้าเพื่อขอเลื่อนการส่งมอบน้ำมันSAFไปจนกว่าโครงการจะCOD
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยความคืบหน้าโครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF)ว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 98% คาดว่าการก่อสร้างแล้วเสร็จและผลิตเชิงพาณิชย์(COD)ได้ภายในปี 2568 หลังจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักสืบเนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทิ้งงานไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ บริษัทฯได้ทำหนังสือแจ้งไปยังลูกค้าที่ทำสัญญาซื้อขายSAF เพื่อเลื่อนการส่งมอบน้ำมันSAFออกไปก่อน จนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มส่งมอบน้ำมันSAFได้ทันในปี68
แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัทบางจากฯ กล่าวว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางผู้รับเหมาได้บอกเลิกสัญญา EPC โครงการ SAF ซึ่งทางผู้บริหารบางจากฯ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และหารือกับที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยปัจจุบันโครงการฯ ก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว หรือมีความคืบหน้าก่อสร้าง 98% ดังนั้นหากจ้างผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการให้แล้วสร็จ จะกระทบสัญญาเดิมหรือไม่
อย่างไรก็ตามบางจากฯ ยังคงมั่นใจว่าแม้โครงการ SAF จะดีเลย์ออกไปบ้าง แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อบางจากฯมากนัก เนื่องจากมาร์จินน้ำมันSAFยังต่ำ และมีหลายประเทศเลื่อนการบังคับใช้SAFออกไป
ก่อนหน้านี้ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด(มหาชน)(TTCL )แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่าได้ยกเลิกสัญญาออกแบบ จัดหาและก่อสร้าง(สัญญา EPC)โครงการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างยั่งยืน(SAF)ของบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัดในเครือบางจากฯเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2568
โดยTTCL ใช้สิทธิตามสัญญาในการบอกเลิกสัญญาโดยมีผลทันที และจะดำเนินการทางกฎหมายที่จำเป็นต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของบริษัทและผู้ถือหุ้น
โครงการหน่วยผลิต SAF นี้เป็นหน่วยผลิต Neat SAF 100% แบบ Stand Alone แห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง ภายใต้ระบบที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ISCC (International Sustainability and Carbon Certification) โดยมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 1 ล้านลิตรต่อวัน ใช้เทคโนโลยี HEFA (Hydroprocessed Esters and Fatty Acid) แปรรูปกรดไขมันหรือน้ำมันพืช เช่น น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ที่ผ่านการออกแบบและพัฒนาโดยความร่วมมือกับ 2 บริษัทชั้นนำของโลก คือ Desmet จากประเทศเบลเยี่ยม ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการปรับสภาพวัตถุดิบ (Pretreatment) และ UOP Honeywell จากสหรัฐอเมริกา ผู้นำด้านเทคโนโลยีแปรสภาพไฮโดรโปรเซสซิ่ง ซึ่งเดิมคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส3นี้ ปัจจุบันบางจากฯได้ทำสัญญาซื้อขายSAFรวมแล้วประมาณ 60%ของกำลังผลิต
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO