มองสีสันและเรื่องราวการเติบโตของ “Lorde” จากอัลบั้ม Pure Heroine ถึง Virgin
หากลองนึกถึงศิลปินสักคนที่มีเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ ท่วงทำนองดนตรีและเนื้อหาเพลงสุดล้ำราวกับเป็นงานศิลปะข้ามยุคสมัย เชื่อว่าชื่อของนักร้องและนักแต่งเพลงสาวชาวนิวซีแลนด์อย่าง ลอร์ด (Lorde) คงอยู่ในหัวของใครหลายคนมาอย่างแน่นอน
หลังจากที่ลอร์ดห่างหายไปจากวงการเพลงและการปล่อยอัลบั้มใหม่มานานกว่า 4 ปี เธอได้กลับมาอีกครั้งกับ ‘Virgin’ อัลบั้มใหม่ล่าสุดที่ยังคงคอนเซปต์ความเป็นลอร์ด อย่างการใช้อัลบั้มและเพลงเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดตัวตนและการเติบโตของตนเองสู่แฟนเพลงของเธอ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่แฟนเพลงรับรู้เกี่ยวกับตัวของลอร์ดมาโดยตลอด คือการที่เธอเป็น ‘ซินเนสทีเซีย (Synesthesia)’ ภาวะพิเศษที่ทำให้บุคคลสามารถมองเห็นสีเมื่อได้ยินเสียง ตัวของลอร์ดเอง ก็ได้ออกมายืนยันในหลายบทสัมภาษณ์ว่า ภาวะดังกล่าวช่วยให้เธอสร้างสรรค์เพลงออกมาได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะเธอสามารถมองเห็นสีที่เฉพาะเจาะจงได้ เมื่อเล่นโน้ตบางโน้ต ซึ่งบางครั้งเธอเองก็จะเห็นผลลัพธ์ของเพลงได้ แม้เพลงเหล่านั้นจะยังคงไม่เสร็จก็ตาม
และด้วยภาวะพิเศษที่เธอมี ทำให้ลอร์ดสามารถมองเห็นสีสันที่แตกต่างกันในแต่ละอัลบั้มได้ นอกจากมันจะสะท้อนตัวตนและเรื่องราวของเธอเองแล้ว หากมองผ่านแง่มุมทางศิลปะหรือจิตวิทยา สีสันเหล่านี้ก็อาจมีนัยหรือความหมายอันเชื่อมโยงกับเรื่องราวในแต่ละอัลบั้มได้ด้วยเช่นกัน
Pure Heroine กับ สีเขียวแห่งการเติบโตในฐานะวัยรุ่น
ลอร์ดปล่อยอัลบั้มแรกอย่าง “Pure Heroine” ออกมาในปี 2013 ด้วยคอนเซปต์การบอกเล่าเรื่องราวการเติบโตและประสบการณ์ในช่วงวัยรุ่น ผู้ต้องพบเจอกับทั้งความคาดหวัง แรงกดดัน ตลอดจนความเป็นโลกแห่งวัตถุนิยมของยุคสมัยใหม่ ลอร์ดจึงต้องการถ่ายทอดชีวิตวัยรุ่นชานเมืองอันแสนธรรมดาของเธอ ซึ่งเต็มไปด้วยความเดียวดาย ความผิดหวัง และความขบถต่อโลกวัตถุนิยม
ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Vouge ว่า เธอมองเห็น “สีเขียว” จากอัลบั้มชิ้นแรกของเธอ เมื่อพูดถึงสีเขียว ในมุมมองทางศิลปะ ก็คงหมายถึงธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ และความปลอดภัย หากแต่ในทางจิตวิทยา สีเขียวยังบ่งบอกถึงชีวิตและการเติบโต ซึ่งเชื่อมโยงไปกับธีมและเนื้อหาของเพลงในอัลบั้ม Pure Heroine
Ribs (2013) หนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอัลบั้ม ตัวเพลงถ่ายทอดความรู้สึกของความเจ็บปวดระหว่างการเติบโต ซึ่งเต็มไปด้วยความหวาดกลัวต่อวันที่เราต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และแก่ชราลง รวมถึงการหวนคิดถึงอดีตอันหอมหวานในวัยเด็ก ช่วงวัยที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องง่าย ทำให้เพลงนี้สามารถสะท้อนความรู้สึกของลอร์ดต่อชีวิตวัยรุ่น ผ่านเนื้อเพลงที่ผสมผสานทั้งความเศร้าและความสุขออกมาได้อย่างลงตัว
“This dream isn't feeling sweet
We're reeling through the midnight streets
And I've never felt more alone
It feels so scary getting old”
สีเขียวที่เธอมองเห็นจาก Pure Heroine จึงอาจเป็นสีที่ช่วยย้ำเตือนเธอถึงช่วงชีวิตอันแสนเรียบง่ายในวัยเด็ก ความขัดแย้งทางความคิดขณะเป็นวัยรุ่น และการกังวลไปสู่อนาคตที่ยังมาไม่ถึง ทั้งหมดล้วนเป็นหมู่มวลความคิดที่เกิดขึ้นมาเมื่อขาสักข้างเริ่มก้าวเดินไปสู่ถนนแห่งการเติบโต ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยผ่านและพบเจอ
Melodrama กับ สีม่วงแห่งอารมณ์และเรื่องราว
หลังจากปล่อยอัลบั้มแรกออกมา ลอร์ดก็ได้ห่างหายไปจากวงการเพลงกว่า 4 ปี กระทั่งเธอได้ปล่อยอัลบั้ม “Melodrama” ในปี 2017 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่ตราตรึงใจแฟนเพลงมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการบอกเล่าเรื่องราววัยเปลี่ยนผ่าน จากวัยรุ่นสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (ขณะนั้นลอร์ดมีอายุ 21 ปี) ผ่านธีมงานปาร์ตีที่ถูกจัดขึ้นในบ้าน
เรื่องราวและอารมณ์ของเพลงในอัลบั้มหลักๆ ให้ความรู้สึกเหมือนกับตอนที่เรากำลังอยู่ในงานปาร์ตีสักแห่ง เมื่อเพลงเพราะๆ ถูกเปิดและเริ่มดังขึ้น เรารู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขกับเพลงเหล่านั้น แต่หลังจากที่เวลาล่วงเลยผ่านไป เราเริ่มปลีกตัวออกมาอยู่ในห้องน้ำ จ้องมองตัวเองในกระจก จนกระทั่งเริ่มคิดว่าตัวเองดูแย่
เหตุผลที่เนื้อหาและอารมณ์ของแต่ละเพลงในอัลบั้มมีความขัดแย้งกันค่อนข้างชัดเจน ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากเหตุการณ์ในชีวิตจริงของลอร์ด ณ เวลานั้น ซึ่งเธอเพิ่งเลิกรากับแฟนหนุ่มอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก แม้ลอร์ดจะปฏิเสธว่าเพลงในอัลบั้มไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเลิกกันในครั้งนั้น แต่แฟนเพลงต่างก็เชื่อว่า ก็อาจมีบ้างที่เศษเสี้ยวของความรู้สึกในเหตุการณ์ดังกล่าว ถูกใช้เป็นส่วนผสมในการทำอัลบั้มชิ้นนี้
ด้วยความที่อัลบั้มนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวและความลึกซึ้งทางอารมณ์ จึงอาจเกี่ยวข้องกับสีที่ลอร์ดมองเห็นจากอัลบั้มนี้ อย่าง ‘สีม่วง’ ในทางจิตวิทยาสีม่วงให้ความรู้สึกถึงอารมณ์ความรู้สึก ความเป็นผู้หญิง จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ แถมในทางศิลปะสีม่วงยังเป็นเหมือนสีแห่งความขัดแย้งระหว่างโทนเย็นและร้อน ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปกับความย้อนแย้งทางความรู้สึกระหว่างความสนุกและความโศกเศร้าของเพลงในอัลบั้มได้ด้วย
เพลงที่อธิบายอัลบั้มนี้ได้ชัดเจนที่สุด หนีไม่พ้น Green Light (2017) เพลงไตเติลที่บอกเล่าเรื่องราวของความรู้สึกหลังจากการอกหัก อย่างในท่อน “I do my makeup in somebody else's car” หรือ
“We order different drinks at the same bars” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความคุ้นเคยที่เปลี่ยนแปลงไป บางอย่างที่เคยเหมือนเดิม กลับไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ราวกับเป็นจุดที่ตอกย้ำถึงการแยกทางที่มาถึงแล้ว
แม้เนื้อหาในช่วงต้นจะเต็มไปด้วยความโศกเศร้าจากแยกทางกับคนรัก ทว่าลอร์ดกลับเลือกไม่นำเสนอเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งไปตลอด เพราะเธอได้เล่าต่อหลังจากเลิกรากันว่า ตัวของเธอเองก็กำลังรอไฟเขียว อันเป็นสัญญาณสำหรับเดินหน้าต่อ เพื่อไปในเส้นทางใหม่ๆ ของตนเองด้วย
“I'm waiting for it, that green light, I want it”
Solar Power สีทองเรืองรอง แห่งความสดใสของชีวิต
เวลาล่วงเลยมากว่า 4 ปี Solar Power อัลบั้มลำดับที่ 3 ของลอร์ด ก็ถูกปล่อยออกมาในปี 2021 กับภาพลักษณ์และสไตล์ดนตรีที่ค่อนข้างแตกต่างจากสองอัลบั้มก่อนหน้าอยู่พอสมควร โดยทั้ง Pure Heroine และ Melodrama จะมีความเป็นอิเล็กโทรพ็อปและอัลเทอร์เนทิฟพ็อป ทว่าในอัลบั้มนี้ลอร์ดหยิบเอากลิ่นอายความเป็นฤดูร้อน เสียงกีตาร์อะคูสติก และเสียงร้องอันชวนฝันมาชูเป็นธีมหลัก หากเปรียบเทียบว่าสองอัลบั้มแรกคือภาพสะท้อนของเส้นทางการเติบโตในสองช่วงเวลาของลอร์ด Solar Power ก็คงเป็นเหมือนจุดแวะพักสำหรับการเดินทางอันเหนื่อยล้า
ในอัลบั้มนี้ลอร์ดต้องการนำเสนอการหลีกหนีจากความเป็นจริง เพื่อมองความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ การใช้ความสงบของความโดดเดี่ยวเพื่อสำรวจตัวตน รวมถึงวัฒนธรรมเรื่องสุขภาพและการดูแลตัวเอง ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้จะถูกนำเสนอออกมาผ่านธีมที่สดใส เหมือนเป็นหัวข้อที่เรากำลังขบคิดกับตัวเองขณะนอนอยู่บนชายหาดและมีแสงแดดสาดส่อง
ด้วยบรรยากาศอันสดใสของธีมและคอนเซปต์ต่างๆ จึงไม่แปลกที่ลอร์ดจะบอกว่า เธอมองเห็นอัลบั้มนี้ เป็น ‘สีทอง’ ในทางจิตวิทยาสีทองคือภาพแทนของความอบอุ่น ความเชื่อมั่น และแรงบันดาลใจ อีกทั้งสีทองก็ยังถือเป็นตัวแทนของแสงแดดและดวงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ Solar Power ด้วย
The Path (2021) เพลงแรกของอัลบั้มที่เธอเขียนขึ้น กับการนำเสนอการคิดทบทวนชีวิตของตัวเธอเอง จึงทำให้เนื้อหาของเพลงแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ คือพาร์ตที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของเธอ อย่าง ในท่อนแรกของเพลงที่ถูกขับร้องในลักษณะของกวี “Born in the year of OxyContin” บอกเล่าเหตุการณ์ในปีเกิดของตนเอง (ค.ศ. 1996) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บริษัท Purdue Pharma พัฒนาและจดสิทธิบัตรอ็อกซีคอนติน (OxyContin) อันเป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์เสพติดสูง แม้เหตุการณ์จะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับตัวเธอเอง แต่การที่ลอร์ดหยิบมันขึ้นมาเป็นท่อนเปิดของเพลง ก็อาจมองได้ว่าลอร์ดได้นั่งพิจารณาและทบทวนชีวิตที่ผ่านมาของตนอย่างถี่ถ้วนแล้ว
พาร์ตถัดมาของเพลง ลอร์ดพูดถึงความรู้สึกของตนเองกับการอยู่ในวงการเพลง ซึ่งในหลายท่อนก็ได้สะท้อนมุมมองและความคิดของเธอต่อวงการออกมาได้อย่างชัดเจน “Teen millionaire having nightmares from the camera flash” พูดถึงช่วงเวลาที่เธอตกเป็นที่สนใจอย่างรวดเร็ว หลังจากออกซิงเกิลแรกตอนอายุ 16 และ “Won't take the call if it's the label or the radio” กล่าวว่าตัวเธอจะไม่รับสายหากเป็นสายจากค่ายเพลงหรือคลื่นวิทยุ
เห็นได้ชัดเจนว่าการกลับมาในครั้งนี้ของลอร์ด เธอได้ผ่านการไตร่ตรองและทบทวนเรื่องราวของตนเองมาแล้วอย่างละเอียด จึงทำให้เนื้อหาของทุกเพลงผูกโยงกับความเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ตัวเราได้รู้จักมันแล้วจริงๆ ซึ่งเมื่อลองย้อนกลับไปฟังอีกครั้ง มันก็ให้ความรู้สึกเหมือนแสงสีทองอันเรืองรองของแสงแดดที่กำลังจุดประกายแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับเรา
Virgin กับสีโปร่งใส แห่งการมองทะลุถึงตัวตนที่แท้จริง
ในปี 2025 ลอร์ดกลับมาอีกครั้งกับ “Virgin” อัลบั้มในลำดับที่ 4 พร้อมกับภาพปกอัลบั้มสุดแปลกตา อย่างภาพเอ็กซ์เรย์กระดูกอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง แถมในภาพยังมีหัวเข็มขัด ซิป และห่วงคุมกำเนิดด้วย นับเป็นอีกครั้งที่ศิลปินสาวสามารถดึงความสนใจของแฟนเพลงกลับมาได้ หลังจากห่างหายไปกว่า 4 ปี ตามธรรมเนียมในการออกแต่ละอัลบั้มของเธอ
ลอร์ดประกาศให้กับแฟนเพลงได้รับรู้แต่แรกเกี่ยวกับอัลบั้มนี้ว่า เธอมองเห็นอัลบั้มนี้เป็นสีโปร่งใส พร้อมกับเปรียบเทียบว่ามันเหมือนกับน้ำในอ่างอาบน้ำ หน้าต่าง น้ำแข็ง และน้ำลาย หากมองด้านความหมาย สีโปร่งใสก็คงหมายถึงการเปิดเผยไม่ปิดบังและการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา เพราะมันคือสีที่ไม่มีสี สามารถมองทะลุเข้าไปข้างในโดยไร้ซึ่งเกราะกำบังใดๆ
Virgin จึงเป็นอัลบั้มที่ลอร์ดต้องการนำเสนอความเป็นผู้หญิงในสไตล์ของตนเองอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นความดิบ ความไร้เดียง ความสง่างาม มีความเป็นจิตวิญญาณ แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจมีความเป็นชายปนอยู่ด้วย อย่างในเพลงHammer (2025) ก็ได้มีท่อนที่สะท้อนตัวตนของเธอออกมาชัดเจน “Some days, I'm a woman, some days, I'm a man, oh” ลอร์ดรู้สึกว่าบางวันเธอก็เป็นผู้หญิง แต่บางวันเธอก็เป็นผู้ชาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับ เข้าใจ และกล้าแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศในตัวเอง
What was that (2025) อีกหนึ่งเพลงที่ถ่ายทอดความเป็นสีโปร่งใสออกมาได้อย่างชัดเจน กับการนำเสนอตั้งแต่เรื่องราวในชีวิตประจำวันทั่วไป อย่าง “A chair and a bed” หรือ “Make a meal I won't eat” กระทั่งเพลงเข้าสู่ช่วงที่สอง ซึ่งพูดถึงตัวเธอเองในช่วงที่อกหักและดำดิ่งอยู่กับความเสียใจ เช่น ท่อน “Yeah, I'm missing you And all the things we used to do” ทำให้เพลงนี้เป็นเหมือนกับการเปิดเผยตัวตนในช่วงที่เธอกำลังเผชิญกับความหนักหน่วงในชีวิต ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน What was that จึงเป็นเหมือนการทบทวนเรื่องราวความรักที่ผ่านมาของตัวเธอเอง อันเป็นบทเรียนให้เธอลุกขึ้นก้าวต่อไปได้
สีสันของแต่ละอัลบั้มที่ลอร์ดเห็น ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวการเติบโตและเศษเสี้ยวชีวิตของตัวเธอเอง ซึ่งถูกสะท้อนออกมามาผ่านเนื้อเพลงและดนตรีที่ร้อยเรียงเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้ ทุกเสียงดนตรีและทุกเนื้อหาที่เราได้จากทุกเพลงของลอร์ดจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยตัวตนในแทบทุกด้านของเธอ
อ้างอิงจาก