เกมภาษีทรัมป์ กดไทย–กัมพูชา หากหยุดยิงไม่จริง สินค้าไทยเจอภาษีแพงสุดในอาเซียน
สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะไม่ยอมลดอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่ 36% ต่อไทยและกัมพูชา หากยังไม่เห็น “การหยุดยิงอย่างแท้จริง” ในทางปฏิบัติ แม้การเจรจาจะมีความคืบหน้าในเชิงสัญลักษณ์
ขณะเดียวกัน ประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น หรือสหภาพยุโรป ต่างปิดดีลการค้าใหม่กับสหรัฐได้แล้วในอัตราภาษีเฉลี่ยเพียง 15–20% ส่งผลให้ไทยและกัมพูชากำลังเผชิญ แรงกดดันมหาศาล จากทั้งการทูตและการค้า ที่อาจทำให้เสียโอกาสสำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้หากทรัมป์ตัดสินใจ คงภาษี 36% ต่อไทย–กัมพูชา หลังเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 ผลกระทบจะเกิดขึ้นในมิติเศรษฐกิจ การทูต และภาคธุรกิจไทยอย่างไร และไทยควรตั้งรับอย่างไรในเกมที่เดิมพันไม่ใช่แค่การค้า แต่คือ อำนาจต่อรองระดับภูมิรัฐศาสตร์
- สถานการณ์จำลอง : หากภาษี 36% มีผลจริงกับไทย–กัมพูชา
หาก โดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าตามคำขู่ โดยคงอัตราภาษีตอบโต้ที่ 36% ต่อไทยและกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เพราะเชื่อว่าทั้งสองประเทศยังไม่มีพฤติกรรมหยุดยิงจริงตามที่เขาเรียกร้อง ผลที่ตามมาอาจไม่ใช่แค่ ต้นทุนส่งออกเพิ่ม แต่ยังหมายถึงความเสี่ยงระยะยาวด้าน ความสามารถแข่งขัน, ความเชื่อมั่นนักลงทุน, และ ทิศทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาค ดังนี้
1. ไทย–กัมพูชา สูญเสียความสามารถแข่งขัน ต่อเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ที่เป็นคู่แข่งขันสำคัญของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐ ทั้งนี้ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ต่างปิดดีลกับสหรัฐแล้วในอัตราภาษีเฉลี่ย 15–20% ขณะที่ไทยและกัมพูชายังต้องเสียภาษี 36% หมายความว่า :
• สินค้าส่งออกกลุ่มเดียวกัน เช่น เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา อัญมณี จากไทยหรือกัมพูชา จะ “แพงกว่า” อย่างน้อย 16–21% เมื่อเข้าสู่ตลาดสหรัฐ
• อาจเกิดการย้ายคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ไปยังเวียดนามหรืออินโดนีเซีย โดยเฉพาะในสินค้า OEM หรือกลุ่มที่แข่งขันด้านต้นทุนสูง
2. สหรัฐใช้ "ภาษี" เป็นคันโยกทางการทูต ไม่ใช่แค่การค้า
แม้เจรจาหยุดยิงจะเริ่มต้นขึ้น แต่หากสหรัฐประเมินว่าสถานการณ์ยังไม่สงบจริง หรือฝั่งกัมพูชายังมีการยั่วยุ สหรัฐก็อาจใช้ "ภาษี" เป็นเครื่องมือกดดันให้ไทย–กัมพูชาเร่งหาข้อยุติข้อพิพาทให้ชัดเจน
• ในมุม โดนัลด์ ทรัมป์ ภาษี เท่ากับ “อำนาจต่อรอง” และเขาใช้มันเชื่อมโยงกับความมั่นคง, ท่าทีต่อจีน, และพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิก
• หากไทยหรือกัมพูชาไม่สามารถแสดงให้เห็นถึง “ความตั้งใจที่น่าเชื่อถือ” ในการยุติความขัดแย้งจริง สหรัฐอาจ “ดองดีล” หรือยืดเวลาเจรจาให้ไทยเสียเปรียบต่อไป
3. เอกชนไทย–กัมพูชาเผชิญผลกระทบทันที
• สินค้าไทยที่มีสหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์, อัญมณี, อาหารแปรรูป จะเผชิญคำสั่งซื้อหดตัวทันที
• ต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้น หรือ ลูกค้าสหรัฐเปลี่ยนไปสั่งสินค้าจากเวียดนาม
• อาจเกิดการย้ายฐานผลิตจากไทยไปยังประเทศที่ปิดดีลแล้ว
4. สถานะไทยในเวทีระหว่างประเทศสั่นคลอน
ไทยมีภาพลักษณ์ว่าเป็นประเทศกลางในภูมิภาคที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การถูกสหรัฐขึ้นภาษีเท่ากับถูกตีตราว่า “ไม่น่าไว้ใจทางการเมือง” หรือไม่ร่วมมือกับแนวทางสันติภาพที่สหรัฐผลักดัน
• อาจถูก “เบรก” การเจรจาอื่น ๆ เช่น การค้าระหว่างภูมิภาค หรือการเข้าร่วมข้อตกลงต่าง ๆ
• นักลงทุนสหรัฐ หรือทุนข้ามชาติอาจเลี่ยงการลงทุนในไทยและกัมพูชา
5. ความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง: ไทยต้องปรับตัวอย่างไร?
หากไทยยังไม่ได้ข้อตกลงกับสหรัฐก่อน 1 ส.ค. 2568 และถูกเก็บภาษี 36% จริง การฟื้นตัวของภาคส่งออกจะช้าลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2568–2569 ซึ่งอาจเจอกับ
• การ ลดแรงงานภาคส่งออก และแรงกระแทกต่อ GDP รวม
• ความจำเป็นในการ หาตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือ ในอาเซียนด้วยกัน เช่น ลาว เมียนมา เวียดนาม
ทั้งนี้บทสรุปภาษีตอบโต้ 36% ของสหรัฐไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลข หากทรัมป์ใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกดดันให้ข้อพิพาทชายแดนยุติอย่างเด็ดขาด ไทย–กัมพูชาก็ไม่สามารถมองเรื่องนี้เป็นแค่ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของสองประเทศได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งในภูมิภาคกำลังเร่งขยับเข้าหาสหรัฐอย่างมีกลยุทธ์