นิวเคลียร์ สงคราม มหาอำนาจ: เข้าใจรากเหง้าปัญหาในตะวันออกกลาง ผ่านการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์
วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2025 เครื่องบินบรรทุกระเบิดกว่า 200 ลำของกองทัพอิสราเอล เปิดฉากโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ ฐานทัพทหาร และพื้นที่อื่นๆ มากกว่า 100 แห่งทั่วอิหร่าน
ปฏิบัติการครั้งนี้เรียกว่า ‘สิงโตผงาด’ (Operation Rising Lion) ได้คร่าชีวิตพลเรือน เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่านไปหลายราย และนำมาซึ่งการตอบโต้ของอิหร่านด้วยการส่งโดรนกว่า 100 ลำ มุ่งหน้าสู่อิสราเอล ส่งผลให้มีรายงานผู้บาดเจ็บหลายรายเช่นกัน
ในขณะเดียวกันก็สร้างคำถามถึงต้นตอของปัญหาระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โครงสร้างเชิงอำนาจ และความขัดแย้งระหว่างนานาประเทศ ที่ล้วนสัมพันธ์กันและส่งผลให้ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมภูมิภาคนี้ จึงเกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง?
The MATTER ได้พูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ จากภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อทำความเข้าใจความเป็นมาของเหตุการณ์ครั้งนี้ รวมถึงความสัมพันธ์ของเหล่าประเทศคู่กรณีในตะวันออกกลาง
ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ (Photos by Adidet Chaiwattanakul)
หากจะทำความเข้าใจความขัดแย้งในภูมิภาคอย่างกระจ่างชัด อาจารย์มาโนชญ์ระบุว่า เราจำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่ก่อร่างให้เกิดความขัดแย้งที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้
อาจารย์ชวนเราย้อนกลับไปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือช่วงเวลาของการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ในตะวันออกกลาง ซึ่งดินแดนตะวันออกกลางหรือดินแดนอาระเบีย อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน ซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่นครอิสตันบูล (Istanbul) ประเทศตุรกีปัจจุบัน
การเจรจาลับของอังกฤษ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษได้ทำข้อตกลง หรือเจรจากันลับๆ ระหว่างหลายฝ่าย ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อโค่นล้มอาณาจักรออตโตมันและชนะสงครามโลก นำไปสู่สัญญาหรือหลักฐานของการตกลงสำคัญ ดังนี้
1) Hussein-McMahon Correspondence (1915–1916) หรือหนังสือตอบโต้กันระหว่างเซอร์ เฮนรี เมคมาฮอน (Sir Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษในอียิปต์ กับชารีฟ ฮุสเซน (Sharif Hussein) ผู้ครองแคว้นฮิญาซ หรือซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน โดยอังกฤษได้ตกลงว่า หากชารีฟ ฮุสเซนหรือชาวอาหรับ ให้ความร่วมมือช่วยอังกฤษในการโค่นล้มอาณาจักรออตโตมัน ด้วยการลุกฮือขึ้นต่อต้านอาณาจักรออตโตมันจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ และทำให้อังกฤษสามารถชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้
อังกฤษก็สัญญาว่าจะ ให้อาหรับปกครองตัวเอง โดยไม่ต้องไปขึ้นอยู่กับอาณาจักรอื่นหรืออาณาจักรออตโตมัน ตามหลักการกำหนดใจตัวเอง (Self-Determination) ซึ่งชารีฟ ฮุสเซน ก็ตกลงกับอังกฤษ
2) Sykes-Picot Agreement (1916) หรือข้อตกลงระหว่างเซอร์ มาร์ค ไซก์ส (Sir Mark Sykes) นักการทูตชาวอังกฤษ และฟร็องซัวส์-จอร์จ ปิโกต์ (François Georges-Picot) นักการทูตชาวฝรั่งเศส เพื่อร่วมมือกันโค่นอาณาจักรออตโตมัน แล้วเมื่อสำเร็จก็จะแบ่งดินแดนกัน ซึ่งต่อมาทำให้เกิดการจัดตั้งดินแดนใต้อาณัติ (Mandate System) ที่อังกฤษและฝรั่งเศสแบ่งดินแดนกัน
3) Balfour Declaration (1917) หรือแถลงการณ์บัลโฟร์ อันเป็นผลจากการเจรจาระหว่างอังกฤษกับเหล่านายทุนและนักวิทยาศาสตร์ชาวยิวในยุโรป ซึ่งมีทั้งความสามารถทางด้านการผลิตระเบิดและอำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อตกลงกันว่า หากนายทุนชาวยิวให้ความร่วมมือกับอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1 และสามารถโค่นอาณาจักรออตโตมันได้สำเร็จ แล้วอังกฤษจะมอบดินแดนส่วนหนึ่งให้เป็นของชาวยิว
Balfour Declaration (Source: Imperial War Museums)
หลังสงครามโลกที่ 1 สิ้นสุดลง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ด้วยการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน แต่ปรากฏว่าอังกฤษไม่ได้ทำตามที่สัญญาไว้กับชารีฟ ฮุสเซน กล่าวคือไม่ได้ให้ผู้นำคนนี้ปกครองดินแดนอาระเบีย แต่กลับสนับสนุนให้ อับดุลอะซีซ อิบนุ ซะอูด (Abdulaziz ibn Saud) ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนอาระเบีย กลายเป็นที่มาของประเทศซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน ซึ่งตั้งตามชื่อของ มุฮัมมัด ซะอูด
ในขณะเดียวกัน ดินแดนอื่นๆ เช่น ซีเรีย เลบานอน ก็ตกอยู่ใต้การดูแลของฝรั่งเศส ส่วนอังกฤษก็ได้พื้นที่อิรักและบริเวณจอร์แดน ตาม Sykes-Picot Agreement
การแบ่งดินแดนตาม Sykes-Picot Agreement (Source: The Institute for Curriculum Services)
ด้านข้อตกลงกับนายทุนชาวยิวในยุโรป อาเธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Arthur James Balfour) รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ก็เขียนจดหมายถึงลอร์ด วอลเตอร์ รอธไชลด์ (Lord Walter Rothschild) ผู้นำชุมชนยิวในอังกฤษ เพื่อแสดงความยินดีกับชาวยิวและแกนนำขบวนการไซออนิสต์ (Zionism) ในยุโรป และเมื่อจดหมายฉบับนี้ถูกเผยแพร่ในภายหลัง จึงกลายเป็นที่รู้จักในชื่อแถลงการณ์บัลโฟร์ Balfour Declaration ในปี 1917
ในแถลงการณ์ ยังระบุว่าอังกฤษได้เตรียมการมอบดินแดนส่วนหนึ่งให้เป็นบ้านแห่งชาติ (National Home) สำหรับชาวยิว ซึ่งก็คือการตั้งรัฐ ‘อิสราเอล’ บนดินแดนปาเลสไตน์ และหลังจากนั้นชาวยิวจากหลายพื้นที่ ทั้งในยุโรป โซเวียต และประเทศอื่นๆ ก็อพยพเข้ามาที่ปาเลสไตน์ ทำให้สัดส่วนของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว
อาจารย์ชี้ว่า ในดินแดนปาเลสไตน์ในช่วงก่อนหน้านั้น ไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อกันเช่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติศาสนา ซึ่งชาวยิวดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่ ก็สามารถดำรงอยู่ได้กับชาวคริสต์และชาวมุสลิมในขณะนั้น โดยไม่มีปัญหาต่อกัน แต่อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่า ความขัดแย้งเริ่มก่อตัวขึ้นในดินแดนตะวันออกกลาง หลังจากที่ชาวยิวอพยพมาจากยุโรปจำนวนมาก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2
การแบ่งแยกดินแดนไม่ลงตัว
เมื่อจำนวนชาวยิวเพิ่มขึ้นในปาเลสไตน์ที่ขณะนั้นอยู่ในอาณัติของอังกฤษ ชาวยิวจำนวนมากก็เรียกร้องดินแดนของตัวเอง อังกฤษจึงมีแผนการแบ่งแยกดินแดนให้กับทั้งชาวยิวและชาวอาหรับ อย่างไรก็ตาม ดินแดนที่เตรียมจะมอบให้ชาวยิวในขณะนั้น มีพื้นที่น้อยกว่าสัดส่วนดินแดนที่แบ่งให้ชาวอาหรับ จึงเป็นเหตุให้เกิดกระแสความไม่พอใจในกลุ่มชาวยิว จนมีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นมา เพื่อต่อต้านอังกฤษในประเด็นดังกล่าว
จนกระทั่งอังกฤษเห็นว่า ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงนำความขัดแย้งครั้งนี้ เข้าสู่ที่ประชุมสหประชาชาติ ในปี 1947 กลายเป็นมติสหประชาชาติที่ 181 (UN Resolution 181) ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่เสนอให้มีการแบ่งดินแดนออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนแบ่งของชาวอาหรับปาเลสไตน์ คือดินแดนที่ติดกับอียิปต์ในปัจจุบัน หรือฉนวนกาซา และเขตเวสต์แบงค์ ส่วนแบ่งของชาวยิว คือพื้นที่ตรงกลางที่คั่นระหว่างปาเลสไตน์สองฝั่ง เยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นเมืองหลวงสากล (International City) ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ในอีกมุมหนึ่ง การแบ่งสัดส่วนดินแดนเช่นนี้ทำให้ชาวอาหรับไม่พอใจ เนื่องจากต้องการพื้นที่ในการปกครองตนเองสำหรับชาวปาเลสไตน์ อีกทั้งแผนการแบ่งแยกนี้ ก็ไม่ได้สำรวจความยินยอมหรือความต้องการจากชาวอาหรับเลย ดังนั้นหลังจากที่ข้อมตินี้เกิดขึ้น และยังไม่ทันจะนำมาปฏิบัติด้วยซ้ำ ก็เกิดสงครามระหว่างชาวอาหรับกับอิสราเอลขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1948
ผลของสงครามในปี 1948 คือความพ่ายแพ้ของฝ่ายอาหรับ ทำให้ต้องเสียดินแดนเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยอาจารย์มาโนชญ์อธิบายว่า การเข้ามาสนับสนุนอิสราเอลของมหาอำนาจ อย่าง สหรัฐฯ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดผลลัพธ์เช่นนี้
วันแห่งความหายนะ
ในวันสถาปนารัฐอิสราเอล ชาวอาหรับตั้งชื่อว่า ‘วันนักบา’ (Nakba Day) หรือวันแห่งความหายนะ ซึ่งภายในวันนั้นเพียงวันเดียว ชาวปาเลสไตน์กว่า 7-8 แสนคน ต้องกลายเป็นผู้อพยพและกระจายตัวกันออกไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วปาเลสไตน์และประเทศอาหรับรอบๆ
ภาพการรวมตัวเนื่องในวันนักบา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2025 ที่บรูคลิน นครนิวยอร์ก (Photo by SPENCER PLATT/Getty Images via AFP)
อาจารย์มาโนชญ์ชี้ว่า การตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นมาในวันนั้น สามารถสะท้อนปัญหาหลายอย่างด้วยกัน
ปัญหาระหว่างอาหรับปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอล ปัญหาระหว่างอาหรับกับอาหรับด้วยกันเอง กล่าวกรณีที่อังกฤษไปสัญญากับชารีฟ ฮุสเซนไว้อย่างหนึ่ง แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง อังกฤษกลับไม่ได้ทำตามสัญญา และหันไปสนับสนุนตระกูลซะอูดให้ขึ้นมาปกครองอาระเบีย แล้วให้ลูกหลานของชารีฟ ฮุสเซนไปปกครองที่จอร์แดนบ้าง ซีเรียบ้าง จึงสร้างความขัดแย้งขึ้นในอาหรับเช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า อิสราเอลก่อตั้งขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างหลายฝ่าย ดังนั้นประเทศอิสราเอล ซึ่งเปรียบเหมือนไข่แดงตรงกลางที่รายล้อมด้วยศัตรูนั้น จึงจำเป็นต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ หรือมหาอำนาจภายนอก เพื่อความมั่นคง อีกทั้งในระยะต่อมา อิสราเอลยังทำสงครามกับอาหรับถึง 3 ครั้ง คือปี 1948 1967 และ 1973 ยิ่งทำให้ประเทศไข่แดงนี้ จำเป็นต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
การเข้ามาของอเมริกา
ในมุมของสหรัฐฯ อิสราเอลเป็นเหมือนตัวแทนผลประโยชน์ที่สำคัญของตัวเองในภูมิภาคตะวันออกกลางเช่นเดียวกัน ด้วยสภาพที่มีศัตรูรายล้อม อาจบีบให้อิสราเอลต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ อย่างมาก มหาอำนาจรายนี้จึงมองว่า อิสราเอลเป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่ไว้ใจได้ เพราะจะไม่มีวันมีปัญหากับตัวเอง เพราะจะกระทบกับความมั่นคงของอิสราเอล เป็นเหตุให้ในหลายๆ เหตุการณ์ สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่
แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ให้การสนับสนุนชาวอาหรับด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่มีอิทธิพลรอบอ่าวอาหรับ และประเทศระดับร่ำรวยทั้งหลาย
อีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ ก็ให้การสนับสนุนอิหร่านด้วย เนื่องจากในช่วงเวลานั้นอิหร่านมีความสัมพันธ์ที่เป็นปกติกับอิสราเอล รวมทั้งซาอุดีอาระเบีย ส่วนหนึ่งเพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ และก็เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ด้วยกันทั้งคู่ ฉะนั้นในระยะดังกล่าว อาหรับไม่ได้มีปัญหากับอิหร่านมาก และอิหร่านก็ไม่ได้มีปัญหากับอิสราเอลมาก
การวางความสัมพันธ์ทางอำนาจ ผ่านการสนับสนุนของสหรัฐฯ
อาจารย์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภูมิภาคในช่วงนั้นว่า ดูเผินๆ แล้วสหรัฐฯ คล้ายกับจะสนับสนุนทุกฝ่าย แม้ว่าแต่ละฝ่ายจะขัดแย้งกันเองก็ตาม แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ การสนับสนุนแต่ละประเทศของสหรัฐฯ ได้วาง ‘ความสัมพันธ์ทางอำนาจ’ หรือสถานะทางอำนาจของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางในอดีตไว้ ดังต่อไปนี้
อิสราเอลต้องเป็นประเทศที่มีอำนาจสูงสุด เป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ทั้งในเรื่องอาวุธ เรื่องของการพัฒนาต่างๆ และการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อิหร่านจะเป็นประเทศที่มีแสนยานุภาพในลำดับที่รองลงมา แต่ต้องไม่สูงกว่าอิสราเอลหรือไม่สามารถเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลได้ ถึงอย่างนั้น อิหร่านก็ต้องไม่อ่อนแอ จนกระทั่งไม่สามารถที่จะข่มขู่หรือทำให้อาหรับอื่นๆ หวาดกลัวได้ กลุ่มประเทศอาหรับอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนเป็นหลัก จะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี แต่ไม่มีความสามารถทางด้านความมั่นคง กล่าวคือ ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ และจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านความมั่นคง ทั้งนี้อาจารย์ระบุว่า การวางสถานะทางอำนาจเช่นนี้ ได้กลายเป็นที่มาของสูตรความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาหรับ หรือระบบที่เรียกว่า น้ำมันแลกความมั่นคง (Oil for Security) ซึ่งเราอาจเห็นลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเหล่าประเทศอาหรับ ว่าดำเนินเช่นนี้เป็นส่วนใหญ่
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจารย์มาโนชญ์อธิบายว่าเป็น ‘รากเหง้าของปัญหา’ ซึ่งเราจะเห็นว่า ประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลางตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐฯ ได้ปูพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเหล่าประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจในปัจจุบัน ที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้
การปฏิวัติอิหร่าน 1979
ในปี 1979 เกิดการปฏิวัติในอิหร่าน ซึ่งผู้นำ อยาตอลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ได้โค่นล้มระบอบกษัตริย์ โดยพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Shah of the Pahlavi Dynasty) ลง แล้วก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง (Regime change) จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบสาธารณรัฐแห่งอิหร่าน จนกระทั่งปัจจุบัน
ผู้ชุมนุมชูภาพของ Ayatollah Ruhollah Khomeini ในเดือนมกราคม 1979 ที่กรุงเตหะราน (Photo by Kaius Hedenström / EPU / AFP)
เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของภูมิภาคครั้งสำคัญ กล่าวคือ ในขณะนั้นเกิดอิหร่านกับสหรัฐฯ ได้ตัดความสัมพันธ์ลง จากความแตกหักระหว่างกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ วิกฤตการณ์ตัวประกันอิหร่าน (Iran Hostage Crisis) หรือเหตุการณ์ที่กลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงผู้สนับสนุน ผู้นำโคไมนี ได้บุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน แล้วจับตัวพลเรือนและนักการทูตอเมริกันกว่า 52 คน เป็นตัวประกันนานกว่า 444 วัน เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งตัวพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ผู้หนีไปยังสหรัฐฯ หลังจากการปฏิวัติ กลับมาอิหร่าน แต่สหรัฐฯ ปฏิเสธ
ในขณะเดียวกัน Regime change ครั้งนี้ ก็นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย เพราะซาอุดีอาระเบียมองว่า หากเคลื่อนการปฏิวัติในอิหร่านถูกส่งออกไปยังประเทศอาหรับอื่นๆ จะทำให้ระบอบกษัตริย์สั่นคลอน และสูญเสียความมั่นคงจนอาจเป็นภัยคุกคามต่อซาอุดีอาระเบีย
ขั้วอำนาจใหม่หลังการปฏิวัติในอิหร่าน ปี 1979
นับตั้งแต่ปี 1979 อาจารย์ชี้ว่าโครงสร้างอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอำนาจหลัก โดยฝั่งแรกคือ อิหร่านและเครือข่ายพันธมิตรของตัวเอง เช่น ฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน และซีเรีย เป็นต้น ส่วนอีกฝั่งหนึ่งคือ ซาอุดีอาระเบีย
ด้านประเทศอาหรับอื่นๆ ก็มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเช่นเดียวกัน โดยประเทศอียิปต์ กลายเป็นประเทศอาหรับประเทศแรก ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต กับอิสราเอลอย่างเป็นทางการในปี 1979 ถึงแม้ว่าประเทศอาหรับอื่นๆ จะยังมีความขัดแย้งกับอิสราเอลอยู่ก็ตาม
ส่วนอิหร่าน หลังจากการปฏิวัติอิสลาม ประเทศก็ให้ความสำคัญกับปัญหาความยุติธรรมมากขึ้น อิหร่านจึงมองว่า รัฐอิสราเอลที่ตั้งขึ้นมานั้น ไม่มีความชอบธรรม พร้อมกับมองว่า ชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ที่ถูกกระทำและถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นอิหร่านจึงระบุ ‘ประเด็นปาเลสไตน์’ ไว้บนรัฐธรรมนูญของประเทศตัวเองว่า เป็นหน้าที่ของอิหร่านที่จะต้องให้การสนับสนุนปาเลสไตน์ และไม่ยอมรับรัฐอิสราเอล
อาจารย์ชี้ถึงประเด็นที่สำคัญจากการปฏิวัติครั้งนี้ว่า “ตราบใดที่ปัญหาปาเลสไตน์ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประเด็นนี้ก็จะยังคงเป็นปัญหาระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลต่อไป”
Menachem Begin Doctrine**
เมื่อมีปัญหากันแล้ว อิสราเอลก็มีนโยบายว่าไม่ให้ประเทศอาหรับ หรือประเทศใดในตะวันออกกลาง มีแสนยานุภาพทางการทหาร ที่จะเป็นภัยคุกคามต่อประเทศอิสราเอล ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นหลักการที่มีมาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมนาเฮม เบกิน (Menachem Begin) ในช่วงต้นของทศวรรษ 80 ที่รู้จักกันในชื่อ ‘Menachem Begin Doctrine’ ซึ่งกำหนดไม่ให้อาหรับครอบครองหรือพัฒนาอาวุธร้ายแรง รวมถึงอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction หรือ WMDs) ที่อาจจะเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอลได้
อาจารย์ระบุว่า ภายใต้หลักการ Menachem Begin Doctrine อิสราเอลได้โจมตีอิรักเป็นครั้งแรก ในปี 1981 หรือช่วงเริ่มของสงคราม 8 ปี ระหว่างอิรักกับอิหร่าน อีกทั้งอิสราเอลยังกล่าวหาอิหร่าน เกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เรื่อยมา ยกตัวอย่างในปี 1984 อิสราเอลได้กล่าวหาอิหร่านว่า อิหร่านกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ในอีกไม่นาน และอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนา แม้จะเชื่อกันว่า ในเวลานั้นอิสราเอลก็มีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว และอาจมีมาตั้งแต่ปี 1967
หลังจากปี 1984 อิสราเอลก็เริ่มกล่าวหาอิหร่านหนักขึ้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 90 หลังจาก เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนปัจจุบันเข้ามามีอำนาจ โดยอาจารย์ชี้ว่า มีการกล่าวหาอิหร่านมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี 1992 1995 2000 2011 และ 2012 เรื่อยมา**
**เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
สถานการณ์นิวเคลียร์ในอิหร่าน
การกล่าวหาของอิสราเอล นำไปสู่การคว่ำบาตรอิหร่านโดยโลกตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ส่วนอิหร่านก็จะยืนยันมาโดยตลอด ว่าโครงการนิวเคลียร์ของตัวเอง เป็นโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ และเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพราะแม้ว่าอิหร่านจะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันมาก แต่ก็ยังคงมีปัญหาเรื่องของพลังงานหรือไฟฟ้าไม่เพียงพอ ฉะนั้นอิหร่านจึงมองว่า ตัวเองจำเป็นจะต้องพัฒนาแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมา เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
ในขณะเดียวกัน อิหร่านเองก็มองการพัฒนานิวเคลียร์ ในเชิงการสร้างอำนาจป้องปราม (Deterrence) ของตัวเองด้วย
อย่างไรก็ตาม ในประเทศอิหร่านเองก็เคยมีการถกเถียงกันว่า อิหร่านสามารถที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ได้หรือไม่ ทั้งในเชิงของหลักการศาสนา ว่าอนุญาตให้มีอาวุธนิวเคลียร์ได้หรือไม่ ด้วยความเป็นอาวุธร้ายแรงและศักยภาพทำลายล้างสูง ซึ่งหากนำมาใช้จริงๆ แล้ว อาจกระทบต่อคนบริสุทธิ์จำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายผู้นำอิหร่านก็ได้วินิจฉัยไว้ว่า ประเทศไม่ควรมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง
อาจารย์มาโนชญ์ระบุว่า ในระยะหลังข้อถกเถียงในประเด็นดังกล่าวก็กลับมาอีกครั้ง เนื่องจากอิหร่านมองอิสราเอลเป็นภัยคุกคามมากขึ้น ทั้งยังมีการกล่าวหาและข่มขู่ว่า จะมีการปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่านมากขึ้นเนี่ย แต่เท่าที่ติดตามอาจารย์ตอนนี้ อิหร่านก็ยังคงสรุปว่า ไม่ควรมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
แต่กระนั้น อิหร่านก็ใช้ยุทธศาสตร์ ‘การเสริมสมรรถนะยูเรเนียม’ ให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ให้ถึงในระดับที่ยังไม่ถึงเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้ แต่ก็ไม่น้อยจนเกินไป กล่าวคือ หากวันใดที่อิหร่านตัดสินใจที่จะมีนิวเคลียร์ ก็อาจจะทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ที่ผ่านมา เราอาจเห็นว่าอิหร่านจะรักษาระดับของการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ให้ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป หรืออยู่ในระดับที่ประมาณ 60% และควบคุมให้ไม่ถึง 90% หรือระดับที่เข้มข้นจนกระทั่งนำไปพัฒนาเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้ เรียกว่าอยู่ในสภาพ ‘ปริ่มน้ำ’ ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ถือเป็นการสร้างอำนาจป้องปรามของตัวเองขึ้นมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้อิสราเอลมีความกังวลว่า อิหร่านจะพัฒนานิวเคลียร์ของตัวเองขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้
ทั้งนี้อิหร่านลงนามในสนธิสัญญา Non-Proliferation Treaty (NPT) หรือข้อตกลงด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งสัญญาว่า จะไม่มีการพัฒนาหรือครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมกับเปิดทางให้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) เข้ามาตรวจสอบองค์การนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ตลอด**
**Mahmoud Ahmadinejad อดีตประธานาธิบดีอิหร่าน ระหว่างการประชุมข้อตกลง NPT ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2010 (Photo by MARIO TAMA / Getty Images via AFP)
อาจารย์กล่าวว่า ที่ผ่านมา IAEA ก็ได้ตรวจสอบอิหร่านมาโดยตลอด และไม่ได้พบว่าผิดปกติใดๆ จนกระทั่งมาถึงในช่วงหลังที่เริ่มเกิดสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นว่า จะมีการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน อิหร่านจึงเคลื่อนย้ายยูเรเนียมไปไว้ในที่ที่ปลอดภัย โดยเก็บเป็นความลับสูงสุด จนทำให้ IAEA มองว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในการขนย้ายยูเรเนียม กลายเป็นเหตุให้ทางอิสราเอลอ้างเหตุผลดังกล่าว ในการบุกโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในวันที่ 13 มิถุนายน 2025
โครงสร้างอำนาจตะวันออกกลาง หลังปี 1979
อาจารย์มาโนชญ์ระบุว่า ตั้งแต่ปฏิวัติอิสลามอิหร่านในปี 1979 โครงสร้างอำนาจในตะวันออกกลางก็เปลี่ยนไป ทั้งซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านก็ขัดแย้งแข่งขันกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ สหรัฐฯ ที่ไม่พอใจอิหร่านนั้น ก็ไปสนับสนุนซาอุดีอาระเบียเต็มที่ โดยการสนับสนุนให้ซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งเป็นผู้นำอิรักไปทำสงครามกับอิหร่าน จึงเป็นที่มาของสงคราม 8 ปี อิรัก-อิหร่าน
โครงสร้างอำนาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งที่สำคัญคือ หลังสหรัฐฯ ทำสงครามอ่าวเปอร์เซียโจมตีอิรักในปี 1990 ตั้งแต่นั้นมา ตะวันออกกลางจึงแบ่งออกเป็น 3 ขั้วอำนาจหลักที่เป็นคู่ขัดแย้งระหว่างกัน กล่าวคือ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และอิรัก
หากมองโครงสร้างอำนาจเช่นนี้ในมุมของอิสราเอล อาจารย์ชี้ว่า ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นนี้ “มันคือความมั่นคงของประเทศเขาเลย” เพราะในสภาพที่ประเทศรายล้อมตัวเองมีความขัดแย้งต่อกันมากมาย อิสราเอลกลับมองว่าตัวเอง ‘มีความมั่นคง’ เพราะขณะที่เหล่าประเทศอาหรับขัดแย้งกันเอง ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง อาจไม่ได้ให้ความสนใจกับประเด็นปัญหาปาเลสไตน์เท่าที่ควร ซึ่งต่างจากในอดีตที่อาหรับหลายประเทศมุ่งความสนใจมาที่ปัญหาปาเลสไตน์จึงทำให้เกิดสงครามอาหรับกับอิสราเอลถึง 3 ครั้ง (1947, 1967 และ 1973)
อย่างไรก็ตาม หลังสหรัฐฯ ทำสงครามและโค่นซัดดัม ฮุสเซน ในปี 2003 โครงสร้างอำนาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยกลับสุ่ภาวะความขัดแย้งเข้มข้นและการแข่งขันกันมากขึ้นระหว่าง 2 ขั้วอำนาจเดิมคือซาอุฯ กับอิหร่าน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์อาหรับสปริง หรือตั้งแต่ ปี 2011 เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลง การลุกฮือประท้วงของผู้คนในหลายประเทศ การเกิดสงครามกลางเมืองและภาวะสุญญากาศทางอำนาจในหลายพื้นที่ อิหร่านและซาอุดีอาระเบียต่างเข้าไปสนับสนุนกลุ่มหรือตัวแทนของตัวเองในประเทศต่างๆ
อาจารย์กล่าวว่า ผลของการกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่มีนัยสำคัญเชิงอำนาจและภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งดุลอำนาจอิทธิพลของอิหร่านที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดกระแสอิสลามการเมือง (Political Islam) ที่ทำให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิม หรือ Muslim Brotherhood (อิควาน) ได้รับความนิยมและชนะการเลือกตั้งในหลายประเทศ โดยแกนนำของกลุ่มนี้มีแนวคิดต้องการให้ประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางยุติความขัดแย้งแล้วหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นปาเลสไตน์ หลายประเทศก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ โดยเฉพาะตุรกี กาตาร์ อาเซอร์ไบจาน ปากีสถาน มาเลเซีย ฯลฯ
นอกจากนั้น ยังเกิดการจับขั้วกันใหม่ของบรรดาประเทศที่เลือกเกาะกลุ่มกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับภายนอก และเลือกดำเนินนโยบายอิสระมากขึ้น กล่าวคือ ไม่อิงกับมหาอำนาจภายนอกเหมือนที่ผ่านมา แต่เลือกรักษาดุลอำนาจกับมหาอำนาจทั้งฝั่งสหรัฐฯ และฝั่งจีนกับรัสเซีย
ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์ของภูมิภาคตะวันออกกลางจึงเปลี่ยนไป คู่ขัดแย้งต่าง ๆ หันหน้ามาคุยกัน พยายามคลี่คลายปัญหาระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ซาอุดีอาระเบียกับกลุ่มฮูษี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) กับตุรกี ตุรกีกับอียิปต์ กาตาร์กับซาอุดีอาระเบีย ซีเรียกับสันนิบาตอาหรับ เป็นต้น ปัญหาปาเลสไตน์กลับมาอยู่ในความสนใจของภูมิภาคนี้อีกครั้ง ภายใต้บริบทใหม่ โครงสร้างอำนาจใหม่ และภูมิรัฐศาสตร์ใหม่
การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ ในยุคปัจจุบัน
เรื่องราวดำเนินเข้าสู่ยุคปัจจุบัน โดยหลายคนมองว่า โครงสร้างอำนาจระดับโลกและระดับภูมิภาคกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทำให้ความขัดแย้งในยุคนี้จะมีลักษณะแตกต่างไปจากยุคที่ผ่านๆ มา และเป็นผลมาจากปัจจัย ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ ที่เปลี่ยนไป
อาจารย์ชี้ว่า ในช่วงเวลานี้กลุ่มประเทศอาหรับหลายรายหันมาประนีประนอมกัน และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันมากขึ้น โดยยกตัวอย่าง ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่เริ่มปรับความสัมพันธ์กับอิหร่าน จากที่ทั้งสองประเทศเคยแตกแยกกัน โดยการปรับความสัมพันธ์ครั้งนี้มี ‘จีน’ เป็นตัวกลางในการประสานรอยร้าว
ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคนี้ก็เกิดกลุ่มประเทศที่จับมือกัน โดยเน้นความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายมากขึ้น เช่น ตุรกี และกาตาร์ เนื่องจากมีแนวคิดให้อาหรับแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกัน และต้องการให้อาหรับกับอิหร่านจับมือกัน เพื่อหันมาสนใจประเด็นปัญหาปาเลสไตน์
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการผงาดขึ้นมาของ ‘จีนและรัสเซีย’ ซึ่งได้กลายเป็นสองตัวแสดง ที่เข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในฐานะ ‘มหาอำนาจทางเลือก’ ให้กับประเทศต่างๆ ได้พึ่งพิง ได้ถ่วงดุลความสัมพันธ์กันมากขึ้น
“นี่คือประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป” อาจารย์มาโนชญ์ระบุ
**ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไปนี้อาจหมายความว่า สหรัฐฯ อาจสูญเสียอิทธิพลไปในระดับหนึ่ง จากที่เคยมีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ทั้งอิทธิพลในการควบคุมกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งเคยใกล้ชิดกันมาก่อน แต่วันนี้เมื่อเกิดกลุ่มประเทศที่ดำเนินนโยบายอิสระขึ้นมา และอาหรับก็ไม่ได้มีปัญหากับอิหร่านเหมือนเดิมแล้ว อาจส่งผลให้ประเทศอาหรับ อย่าง ซาอุดีอาระเบีย เริ่มที่จะไม่ฟังสหรัฐฯ แล้วเริ่มที่จะไปสร้างสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้อาจารย์ยังเชื่อมโยงอิทธิของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ต้องหันไปสนใจที่สมรภูมิรบระหว่างรัสเซียกับยูเครน จนไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคตะวันออกกลางเท่าที่ผ่านมา
ส่วนในมุมมองของอิสราเอลนั้น ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไปนี้กลับ ‘อันตรายมาก’ โดย นัฟตาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) อดีตนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล เคยระบุถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ว่า อันตรายมากที่สุดเท่าที่เคยก่อตั้งประเทศมา พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ คนปัจจุบันของอิสราเอลว่า ‘ล้มเหลว’ จากการปล่อยให้ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านจับมือกัน นับเป็นความล้มเหลวที่ทำให้อิสราเอลเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีต ในช่วงที่เหล่าประเทศอาหรับไม่ได้มีขัดแย้งขั้นรุนแรง เราอาจพบว่า ประเทศเหล่านี้จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับ ‘ประเด็นปาเลสไตน์’ และอาจนำไปสู่การทำสงครามกับอิสราเอล อย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 1948-1947
“สถานการณ์แบบนั้นเนี่ย วันนี้มันกำลังกลับมา” อาจารย์มาโนชญ์ระบุ
**อาจารย์เชื่อว่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็มาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ และโครงสร้างอำนาจในตะวันออกกลาง บวกกับเหล่ามหาอำนาจเดิมในภูมิภาคตะวันออกกลาง–ทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯ ต่างก็ต้องการรักษาสถานภาพ (Status Quo) เดิม ไม่ให้เปลี่ยนไป
7 ตุลาคม 2023
จากพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาทั้งหมด อาจารย์มาโนชญ์ชวนทำความเข้าใจเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งกลุ่มฮามาส (Hamas) จากฉนวนกาซา เปิดฉากโจมตีอิสราเอล
“คือการปะทุขึ้นมาของรากเหง้าของปัญหาที่มันสะสมมา 70 กว่าปี ของกลุ่มฮามาสที่มีปัญหากับทางอิสราเอล” อาจารย์กล่าวว่า ความขัดแย้งและเหตุการณ์ที่ผ่านมา ล้วนก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้**
การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลที่เมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2023
ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดปัญหาและการยกระดับขึ้นแล้ว อิสราเอลก็จะใช้โอกาสตรงนี้ในการ ‘ปรับดุลอำนาจ’ ในภูมิภาคตะวันออกกลางใหม่ เราจึงเห็นเนทันยาฮูพยายามใช้ช่วงเวลานี้ ในการปรับดุลอำนาจและพลิกโฉมตะวันออกกลาง
ดังจะเห็นได้จากปฏิบัติการสิงโตผงาด (Operation Rising Lion) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2025 ซึ่งแม้อิสราเอลจะไม่ได้ระบุเลยว่า ปฏิบัติการครั้งนี้มาจากปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ หรือจากการที่ที่อิหร่านไปสนับสนุนกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ หรือกลุ่มอื่นๆ ในตะวันออกกลาง แต่อิสราเอลก็มุ่งถึงประเด็น ‘นิวเคลียร์’ และการมุ่งทำลายแสนยานุภาพทางการทหารของอิหร่าน
อาจารย์มองว่าเหตุการณ์สำคัญทั้ง 2 วันที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับประเด็นเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่กำลังเป็นปัญหาสำหรับอิสราเอลอยู่ โดยอธิบายว่า วันที่ 7 ตุลาคม 2023 เปรียบเหมือน ‘อาการของปัญหา’ จากรากเหง้าของปัญหาที่สะสมมา 70 กว่าปีและปะทุขึ้น ส่วนวันที่ 13 มิถุนายน 2025 คือการที่อิสราเอล ‘พยายามเปลี่ยนสถานการณ์’ หรือใช้จังหวะปรับเปลี่ยนโครงสร้างและดุลอำนาจในภูมิภาค พร้อมกับทำให้ Status Quo ของอิสราเอลกลับไปเป็นเหมือนเดิม
“เมื่อมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเนี่ย มองย้อนกลับไปเนี่ย เราจึงไม่ต้องแปลกใจเลย” อาจารย์ระบุ
วิเคราะห์บทบาทของสหรัฐฯ ในสถานการณ์ล่าสุด**
เมื่อกล่าวถึงบทบาทของมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ ในสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน อาจารย์มาโนชญ์ชี้ว่า ที่ผ่านแม้อิสราเอลจะต้องการทำลายขีดความสามารถทางทหารของอิหร่าน และเพื่อให้อิหร่านเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่ที่ผ่านมาอิสราเอลไม่อยู่ในฐานะที่จะเปิดศึกกับอิหร่าน ดังนั้น อิสราเอลจึงพยายามดึงสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้องครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ความพยายามดังกล่าวไม่สำเร็จคือ หลายประเทศไม่ยอมให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพรวมทั้งน่านฟ้าประเทศของตัวเอง ในปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่านในศึกครั้งนี้
ด้านสหรัฐฯ ก็เห็นว่าสิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ดี ด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งกลัวว่าฐานทัพของตัวเองจะตกเป็นเป้าโจมตีของอิหร่าน กลัวเสียพันธมิตรประเทศอาหรับไปให้จีน จนถึงกลัวติดหล่มสงครามอีก อาจารย์ชี้ว่า สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยแรก รัฐบาล โจ ไบเดน และรัฐบาลทรัมป์สมัยที่สอง จึงปฏิเสธที่จะเข้าสู่สงครามกับอิหร่านโดยตรงมาตลอด แต่ก็ยังคงมีบทบาทสนับสนุนอิสราเอล ในด้านการสนับสนุนทางอาวุธ การเมือง และการสกัดกั้นขีปนาวุธจากอิหร่านไม่ให้เข้าไปในอิสราเอล ในขณะที่ไม่สามารถช่วยอิสราเอลป้องกันการโจมตีจากอิหร่านได้**
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พบปะกับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2025
สำหรับปฏิบัติการสิงโตผงาด อาจารย์ระบุถึงหนึ่งในปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้คือ การเจรจา ‘ข้อตกลงนิวเคลียร์’ ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ที่มีกำหนดการเจรจาในวันที่ 15 มิถุนายน 2025 โดยที่ผ่านมาทั้งสองมีการเจรจาหลายครั้งที่โอมาน ซึ่งก็มีสัญญาณเชิงบวกและความเป็นไปได้ว่าข้อตกลงครั้งนี้จะบรรลุได้ แต่เพียง 2 วันก่อนการเจรจาจะเกิดขึ้น อิสราเอลก็เปิดฉากโจมตีเสียก่อน
อาจารย์ชี้ถึงความเป็นไปได้ 2 สมมติฐานสำหรับการโจมตีในปฏิบัติการสิงโตผงาด วันที่ 13 มิถุนายน
สหรัฐฯ รู้เห็นกับปฏิบัติการครั้งนี้และตั้งใจให้อิสราเอลโจมตีอย่างหนัก โดยทั้งสองคาดการณ์ว่าอิหร่านจะตอบโต้กลับอย่างไม่รุนแรง หรือตอบโต้เพียงในเชิงสัญลักษณ์ พร้อมกับมองว่าอิหร่านจะถูกกดดันให้ยอมรับข้อตกลงนิวเคลียร์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน จนจบลงที่อิหร่านยอมรื้อถอนโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด แต่ก็ประเมินสถานการณ์พลาด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ อิหร่านตอบโต้กลับอย่างหนัก อิสราเอลชิงโจมตีก่อน เพื่อล้มการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ในวันที่ 15 มิถุนายน โดยแจ้งให้สหรัฐฯ ทราบล่วงหน้าเพียงไม่นานก่อนลงมือ เพราะมองว่าการเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ตอบโจทย์ของตัวเองที่ต้องการดึงสหรัฐฯ เข้ามาร่วมโจมตีอิหร่าน
ไม่นานหลังจากอิสราเอลเปิดฉากโจมตีพื้นที่มากกว่า 100 จุดทั่วอิหร่าน ต่อมาก็เกิดการแลกเปลี่ยนการโจมตีกันระหว่างทั้งสองประเทศ โดยอาจารย์มาโนชญ์ระบุถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “แน่นอนว่า สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้กับอิหร่าน แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์ให้กับอิสราเอลเช่นกัน”
“ในขณะที่อิหร่านก็อ้างว่า เป็นความภาคภูมิใจของประเทศชาติ ที่สามารถลงโทษรัฐไซออนิสต์และสหรัฐฯ อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และได้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว” อาจารย์กล่าว**
เหตุการณ์ในกรุงเตหะราน ช่วงเช้าตรู่วันที่ 13 มิถุนายน 2025 หลังการโจมตีของอิสราเอล (Photo by SEPAH NEWS / AFP)
“ระเบียบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น”
อาจารย์ชี้ว่า เมื่อปัญหาครั้งนี้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งสัมพันธ์กับหลายตัวแสดงในภูมิภาค และยังมีเดิมพันสูง “เดิมพันตรงนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ระเบียบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น”
ระเบียบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นว่านี้ อาจหมายความว่า
ภูมิภาคนี้จะลดอิทธิพลและบทบาทของสหรัฐฯ ลง อิหร่านจะผงาดขึ้นมามากขึ้น ในขณะที่กลุ่มประเทศอาหรับก็ไม่ได้ขัดแย้งกับอิหร่าน เหมือนที่ผ่านมา และจะหันไปพึ่งพามหาอำนาจทางเลือกอื่นๆ อย่างจีนกับรัสเซียมากขึ้น จีนกับรัสเซียก็จะมามีบทบาทในเวทีสากลมากขึ้น
นี่คือสิ่งที่กำลังจะก่อตัวขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งอาจารย์ย้ำว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนั้น ก็จะเกิดแรงต้านทานจากทั้งสหรัฐฯ และอิสราเอล เพราะทั้งสองจะไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และรักษา Status Quo ของตัวเองให้เป็นเหมือนเดิมที่ผ่านมา
“นี่คือสถานการณ์ของปัญหาในปัจจุบัน” อาจารย์มาโนชญ์กล่าว
วิเคราะห์ปัจจัยของปัญหาในระดับเล็กลงมา**
เมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ รากเหง้า และโครงสร้างของปัญหา ซึ่งเป็นปัจจัยระดับภูมิภาคและระดับนานาประเทศกันแล้ว อาจารย์มาโนชญ์ชวนมองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้ววิเคราะห์ปัจจัยในระดับปัจเจกหรือตัวผู้นำ และระดับภายในประเทศ ที่ล้วนมีผลต่อความเป็นไปในตะวันออกกลาง เพื่อทำความเข้าใจความขัดแย้งให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจัยระดับปัจเจกหรือตัวผู้นำ
อาจารย์ชี้ว่า เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ ของอิสราเอล คือตัวแปรสำคัญ เพราะเขาดำรงตำแหน่งนายกฯ มาอย่างยาวนาน และยังมีส่วนในนโยบายต่างประเทศหลายข้อ ที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง
ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมานาน มีอุดมการณ์แบบขวาจัด มีคดีความเกี่ยวกับการคอร์รัปชันเดิม ที่ยังอยู่ในการพิจารณาชั้นศาล ล้มเหลวในด้านการป้องกันประเทศ ทำให้เกิดเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาทางศาลอีกมากในอนาคต
ปัจจัยที่กล่าวมา ล้วนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เนทันยาฮูตัดสินใจยื้อสงคราม และยกระดับสงครามมาเรื่อยๆ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่สงครามครั้งนี้สิ้นสุดลง เขาจะต้องกลับไปเผชิญกับชะตากรรมทางการเมือง และการถูกดำเนินการคดีต่างๆ ต่อไป กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลให้การเจรจาที่ผ่านๆ มาเป็นไปได้ยาก เพราะเนทันยาฮูไม่ยอมรับข้อตกลง ทั้งๆ ที่ภายในประเทศเอง ก็เกิดกระแสต่อต้านค่อนข้างมาก เขาจึงขัดแย้งกับทหารในประเทศตัวเอง
อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาเราจะเห็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามเรียกร้องไปถึงขบวนการทางศาลของอิสราเอล เพื่อขอไม่ให้มีการดำเนินคดี พร้อมกับสะสางคดีความต่างๆ ให้กับเนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล เพื่อให้เกิดข้อตกลงหยุดยิง เพราะทรัมป์รู้ดีว่า สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อ เพราะเนทันยาฮูไม่ต้องการที่จะจบสงคราม**
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ขณะเดินทางมาถึงทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2025
ปัจจัยระดับภายในประเทศ
หากพิจารณาปัจจัยภายในประเทศของอิหร่าน อาจารย์ระบุว่าระบอบการปกครองแบบอิสลามในอิหร่าน มีลักษณะที่มีความเป็นชาตินิยมสูง ดังนั้นเมื่ออิหร่านถูกโจมตี ก็จะมีแรงกดดันภายในประเทศที่บีบให้อิหร่านต้องตอบโต้กลับอย่างหนัก เช่นเดียวกัน
ในทางกลับกันหากอิหร่านไม่ตอบโต้กลับตามที่สังคมคาดหวัง รัฐบาลอิหร่านก็จะเผชิญกับกระแสต่อต้าน หรือแรงกดดันภายในประเทศ ซึ่งก็จะเข้าทางอิสราเอล ที่สนับสนุนให้เกิด Regime change ในอิหร่าน
“ดังนั้นปัจจัยภายในก็กระตุ้นให้อิหร่านต้องตอบโต้อิสราเอลกลับเช่นเดียวกัน” อาจารย์กล่าวว่า แต่ในขณะเดียวกัน อิหร่านก็ต้องระวังไม่ตอบโต้หนักจนดึงสหรัฐฯ เข้ามาร่วมสงครามด้วย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่อิสราเอลต้องการ
**สำหรับปัจจัยภายในประเทศของอิสราเอล อาจารย์มาโนชญ์กล่าวถึงกระแสภายในประเทศว่า ในช่วงหลังมีการกระตุ้นฝ่ายขวามากขึ้น โดยต้องการที่จะขยายดินแดนสร้างนิคมใหม่ๆ รวมถึงนิคมชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา พร้อมกับไล่ชาวอาหรับออกไปจากปาเลสไตน์
ส่วนการเมืองภายในอิสราเอลก็รุนแรงด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาเราอาจเห็นว่า มีรัฐมนตรีขวาจัดหลายคนสามารถขึ้นมามีอำนาจขึ้นมาได้ในเวทีการเมืองของอิสราเอล และกลายเป็นผู้ผลักดันให้เนทันยาฮู ทำสงครามหนักขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มนักการเมืองขวาจัดที่คอยสนับสนุน
แล้วในอนาคต สันติภาพในภูมิภาคนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร?
จากทั้งหมดที่เล่ามา น่าตั้งคำถามสำคัญว่า ความรุนแรงและความขัดแย้งในภูมิภาคนี้จะสิ้นสุดที่ตรงไหน หรือจะแนวทางอย่างไรให้สันติภาพก่อตัวขึ้นในตะวันออกกลาง?
อาจารย์มาโนชญ์ชี้ถึง 2 เงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยให้ปัญหาในตะวันออกกลางคลี่คลาย
หนึ่ง การตั้ง ‘รัฐปาเลสไตน์’ ตามแนวทางสองรัฐ (two-state solution) กล่าวคือ ให้ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์เป็นรัฐที่ปกครองตัวเองและอยู่ร่วมกัน โดยอาจารย์อธิบายว่า “เพราะนี่คือใจกลางของปัญหา” ซึ่งกลุ่มประเทศอาหรับก็ยังไม่ยอมรับอิสราเอล และอิหร่านก็ยังคงต้องสนับสนุนปาเลสไตน์ต่อไป ทำให้ “ปัญหามันยังไม่จบ”
“หากยังไม่มีการตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมา ตามแนวทาง two-state solution สันติภาพในภูมิภาคนี้ก็จะไม่เกิด” อาจารย์มาโนชญ์กล่าว
**แต่ในขณะเดียวกัน อิสราเอลก็ไม่ยอมรับแนวทาง two-state solution และจะไม่ยอมให้มีการตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมาอย่างแน่นอน ดังนั้นอาจารย์ชี้ว่า “วันนี้เรายังไม่เห็นว่า มันจะมีแสงสว่างแห่งสันติภาพในตะวันออกกลางได้อย่างไร มันก็คงจะมีปัญหาต่อไป”
สอง ปรับสมดุลแห่งอำนาจในภูมิภาค โดยอาจารย์ชี้ว่า ในตอนนี้อิสราเอลมีทั้งแสนยานุภาพ อำนาจทางทหาร และมีการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ที่คอยหนุนหลังอยู่ ในขณะที่อิหร่านก็ต้องการมีอำนาจของตัวเอง รวมถึงอำนาจเชิงป้องปราม ซึ่งจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนา ทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ แต่แน่นอนว่า อิสราเอลก็จะไม่ยอมรับการขึ้นมามีอำนาจของอิหร่าน ซึ่งจะมาคานอำนาจตัวเอง จนเกินเป็น ‘สภาวะไม่สมดุลในเชิงอำนาจ’
ส่วนกลุ่มประเทศอาหรับที่แม้จะมีเศรษฐกิจดี แต่ไม่มีอำนาจป้องปรามหรืออำนาจทางการทหารเพียงพอ จึงต้องการที่จะพัฒนาเรื่องความมั่นคงของตัวเองมากขึ้น เพื่อให้เกิดสมดุลของอำนาจในภูมิภาค
ดังนั้นคำถามสำคัญที่อาจารย์ตั้งคือ “สมดุลของอำนาจตรงนี้ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยมั่นคง แล้วก็ไม่มีใครกล้าที่จะรุกรานกัน มันอยู่ที่จุดไหน”
**อาจารย์เสนอว่า มหาอำนาจภายนอก เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน อาจเข้ามารับประกันความมั่นคงให้กับอิหร่าน และกลุ่มประเทศอาหรับอื่นๆ ว่าจะไม่ถูกอิสราเอลโจมตีในอนาคต หรือมีภัยคุกคามอื่นๆ เพื่อให้สมดุลของอำนาจเกิดขึ้น และในขณะเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ก็ต้องการที่จะพัฒนาระบบป้องกันของตัวเองด้วย เราจึงเห็นว่า ที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียพยายามเรียกร้องให้สหรัฐฯ เข้ามาพัฒนาระบบป้องกันประเทศให้ตัวเอง รวมไปถึงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อเป็นอำนาจป้องปรามด้วย
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชี้ว่าเงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งสองนั้น ไม่ใช่สิ่งที่อิสราเอลต้องการ จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ ในการปรับสมดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเราคงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป
Editor: Thanyawat Ippoodom
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon