‘ส่ง Reels ก็เหมือนกับสวัสดีวันจันทร์’ การมี Reels-Friend เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของชาวเจน Y
สตอรี่ (Stories) และรีลส์ (Reels) เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราหมกมุ่นนั่งดูมันทั้งวัน ถ้ามองย้อนไปที่สตอรี่ไอจี รวมถึงการมาถึงของรีลส์ที่ตั้งใจแข่งขันกับวิดิโอสั้นแนวตั้งของติ๊กตอก เมื่อเวลาผ่านไป รูปแบบคอนเทนต์ก็ค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารและการเสพ รวมถึงกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมกันขึ้น
เปิดมาเหมือนบทความวิชาการ แต่จริงๆ The MATTER อยากชวนย้อนดูพฤติกรรม เช่น เมื่อกี้ หรือช่วงพักของเราว่า เราได้ไถรีลส์หรือสตอรี่ที่ผ่านสายตาเราไปกันไปกี่สิบเรื่อง และเราได้ยิ้มคิกคัก และกดส่งสิ่งเหล่านั้นไปให้เพื่อนไปกี่คลิป ก็ในเมื่อเรามีเพื่อนส่งรีลส์ตลกๆ มาให้จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว
อันที่จริงนิยามของ ‘ความสัมพันธ์ผ่าน Reels’ หรือ Reelationship ไม่ใช่เรื่องใหม่ ด้วยเป็นสิ่งที่น่าจะเริ่มก่อตัวขึ้นในยุคโควิด-19 แต่ทุกวันนี้เชื่อว่าหลายคนเริ่มมีรีลส์ รวมถึงเพื่อนส่งรีลส์ ซึ่งก็คือเพื่อนกันนี่แหละที่คุยกันบ่อยๆ จนบางทีไม่มีอะไรจะคุย มีแต่การส่งรีลส์ที่เราจะแอบรู้สึกว่า นี่คือเพื่อนที่มีรสนิยม มีอารมณ์ขันแบบเดียวกัน เราทำการคัดเลือกเรื่องราวดีๆ เพื่อส่งต่อให้จนเป็นกิจวัตรประจำวัน จนบางทีบางคนก็บอกว่า การรักษาความสัมพันธ์ด้วยรีลส์นี่ก็ดีนะ บ้างก็บอกว่ามันแห้งแล้งไปรึเปล่า หรือบางครั้งก็มีการแอบงอนหรือน้อยใจ ถ้าอีกฝ่ายไม่ตอบสนองกับเรื่องราวที่เราส่งให้ไป
และแน่นอน ก็มีคำบาดใจที่บอกว่า พวกเจนวายที่ส่งสตอรี่ให้กันไม่หยุด ก็เหมือนกับการสวัสดีวันจันทร์ของเหล่าบูมเมอร์นั่นแหละ
Reels-Friend เมื่อชีวิตยุ่งเกินกว่าจะคุย แต่ยังคิดถึงกัน?
เรื่องรีลส์ถ้าพูดในภาพที่ดูใหญ่โตหน่อย คือการที่ความสัมพันธ์ หรือตัวตนของเรามีอุปกรณ์ใหม่ๆ ในที่นี้หมายถึง การคิดวิดิโอแนวตั้ง เล่าเรื่องสั้นๆ ซึ่งเป็นอีกฟีเจอร์ของโลกโซเชียลที่เราใช้ชีวิต รวมถึงการออกแบบให้เจ้ารีลส์เหล่านั้นถูกกดส่งไปให้เพื่อนๆ ต่อได้ จนมันเริ่มมาเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือมาช่วยเราสร้างความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์แบบใหม่ๆ
เมื่อปี 2024 ยุคที่รีลส์และติ๊กตอกกำลังมา มีหลายสำนักข่าวนิยามความสัมพันธ์แบบนี้ไว้ว่า Reelationship หรือการที่เราอาจจะไม่ได้คุยอะไรกันมากมาย แต่เราเริ่มใช้สตอรี่สั้นๆ ที่เรากดเจอ แล้วส่งต่อไปให้คิดว่าเพื่อนที่เราคิดว่าเขาน่าจะชอบ การส่งรีลส์จึงคล้ายๆ กับช่วงที่เกิดอิโมจิขึ้น เพราะเริ่มเกิดแนวทางการกดส่ง หรือการตอบรับอีโมจิอย่างเหมาะสม
นัยของรีลส์ คือพวกมันสะดวก ง่าย และเรากำลังสื่อสารด้วยพลังของเทคโนโลยี รีลส์ทั้งหลายซึ่งเป็นเรื่องราวสั้นๆ สำเร็จรูป แง่หนึ่งก็ถูกจัดการด้วยอัลกอริทึม และเราในฐานะมนุษย์ก็เสพและส่งต่อพวกมัน
ในเบื้องต้น ยุคที่เกิดรีลส์ขึ้นเลยมีมุมมอง 2 ด้าน คือเรากำลังถูกบงการด้วยโลกดิจิทัล ในอีกด้านก็บอกว่า รีลส์นี่ไงเป็นอีกวิธีที่เราจะใช้รักษามิตรภาพและความสัมพันธ์เอาไว้
ส่ง Reels ก็คือสวัสดีวันจันทร์ของเจน Y
พูดแล้วก็เจ็บปวดหัวใจ แต่ก็อาจจะจริง เมื่อการส่งคลิปสั้นๆ อาจเป็นวิธีการที่คนเจน Y ซึ่งมีชีวิตยุ่งเหยิงและเหนื่อยกับโลกออนไลน์ กำลังใช้ความขบขันและเรื่องราวน่ารักมาเติมใจ พร้อมกับส่งไปให้เพื่อนๆ เพื่อรักษาตัวตนและความสัมพันธ์เอาไว้
พูดจากมุมของคนวัย 30 ปลายๆ และมี Reel-friend เรามีเพื่อนที่ชอบเรื่องตลก หรือมีความชอบบางอย่างที่อาจจะเฉพาะเจาะจง เช่น ชอบเรื่องตลกแบบมีมๆ ไปจนถึงชอบสัตว์บางประเภท ชอบสิ่งน่ารักๆ หรือเรื่องราวที่ไม่ได้ชอบกันโดยทั่วไป เช่น ธรรมชาติ หนังบางเรื่อง ไปจนถึงหมาแมว อย่างหมาชิวาว่า หรือแมวลายวัว
เพื่อนๆ เหล่านี้ รวมถึงตัวเราเอง มักจะใช้ชีวิตยุ่งเหยิง ไม่ค่อยมีเวลาชิตแชต พูดคุยกัน ต่างคนต่างใช้ชีวิต ทว่าเมื่อเราเจอมีมต่างๆ หรือวิดิโอที่ทำให้นึกถึงเพื่อนที่เฉพาะเจาะจง เราก็จะกดส่งไปให้ เพื่อตอกย้ำถึงการแชร์เรื่องราวความชอบที่เรามีซึ่งกันและกัน
สำหรับปี 2025 ที่เราอยู่กับรีลส์ สตอรี่ หรือเรื่องราวที่อัลกอริทึมกำหนดให้เรา และความสะดวกสบาย รวมถึงการเชื่อมต่อกันที่เริ่มไม่รู้จะคุยอะไร หรือเหนื่อยที่จะเชื่อมต่อแล้ว รีลส์จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เราใช้คลายเครียดให้ตัวเอง ใช้เพื่อรักษาความชอบ หรือใช้บอกตัวเราและเพื่อนที่เราส่งให้ ว่า เออ เรายังมีเรื่องที่เราชอบ โลกยังมีเรื่องที่เราชอบ มีเรื่องสนุก เรื่องตลกที่เรายังคงมีร่วมกันนะ-ท่ามกลางความวุ่นวายของการทำงาน เก็บเงิน เลี้ยงลูก และอื่นๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม การส่งรีลส์อาจจะมีความหมาย หรือไม่ได้สลักสำคัญขนาดนั้น แต่บางครั้งก็นำไปสู่บทสนทนา การอัปเดตกันสั้นๆ ไปจนถึงการนัดแนะเพื่อนๆ เพื่อกลับไปทำกิจกรรมอีกครั้ง ไปจนถึงการตอบสนองอย่างการกดขำ กด 555 หรือการหาสตอรี่มาเสิร์ฟให้กันอย่างไม่หยุดหย่อน
ในฐานะเจน Y ก็อาจจะยอมรับถึงความแก่ แต่ในแง่หนึ่ง มันคือการกลับมาเข้าใจตัวเองกับการใช้รีลส์หรือสตอรี่สำหรับพักใจ หรือรักษาอารมณ์ขัน และถ้าพูดแล้วจะฟังดูยิ่งใหญ่เลย คือเราใช้รีลส์และสตอรี่ในการพูดถึงความชอบ พูดถึงตัวตนบางอย่าง ซึ่งเราก็ส่งเรื่องพวกนั้นไปให้เพื่อนๆ เพื่อยืนยันว่า ชีวิตเรายังมีมิติอื่นๆ หรือโลกยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เราชอบอย่างหลากหลายอยู่นะ
ถ้าจะแก้ต่างสักหน่อย แม้การส่งรีลส์ในคนเจน Y อาจเป็นสัญญาณของความแก่ ที่เรานึกถึงความชอบ หรือความสนุกของคนอื่นๆ แต่เราเองก็คัดเลือกอย่างมีศิลปะ และการส่งรีลส์เองก็เป็นศิลปะเหมือนกัน อย่างเราส่งสิ่งที่คาดว่าผู้รับจะชอบ การส่งจึงควรทำเป็นระบบเหมือนบทสนทนา เช่น ส่งไปอันแรกก็หวังผลว่า เพื่อนว่างไหมน้า แต่ถ้าเราดูและส่งรีลส์ต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจจะเกิดการส่งไปซ้อนๆ ไปกองๆ กัน ซึ่งมิตรรักแฟนรีลส์ที่ดี ก็อาจไม่พึงส่งไประเบิดแชตของอีกฝ่ายครั้งละมากๆ
เมื่อรีลส์เป็นเรื่องของการคัดเลือก การสื่อสาร การสร้างการพูดคุยกับอีกฝ่าย ตรงนี้เองเราก็เข้าใจแหละ ว่าเวลาเราเจอรีลส์สนุกๆ เยอะๆ เราก็อยากให้อีกฝ่ายสนุกและมีบทสนทนา มีปฏิสัมพันธ์กับรีลส์นั้นๆ ว่าตลกไหม ชอบไหม แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่รู้ว่าเพื่อนเราทำอะไรอยู่ เพื่อนว่างหรือเปล่า ทำไมดูแล้วไม่ตอบ หรือตอบเพียงสั้นๆ
ถ้าเราอยู่ในยุคการสื่อสารออนไลน์ใหม่ๆ เหมือนหลายปีก่อน เราคงจะเริ่มเจอปัญหาในความสัมพันธ์ น้อยใจบ้าง งอนบ้าง แต่ในยุคปัจจุบันที่เราเริ่มมองอีกด้านของโทรศัพท์ เพื่อนเราอาจมีเงื่อนไขอื่นๆ อยู่ แม้ลึกๆ จะแอบงอน แต่เราก็พยายามตีความ และพูดกับเพื่อนขำๆ ไปแบบว่างานเยอะเนอะ เป็นต้น เพราะการส่งรีลส์มันเป็นเรื่องขำๆ และจากเรื่องขำๆ นี้ ก็ไม่น่าให้มันมากระทบความรู้สึกและความสัมพันธ์ เราควรใช้นวัตกรรมให้เป็นประโยชน์จะดีกว่า
ดังนั้น ความสัมพันธ์แบบรีลส์ในยุคปัจจุบัน เป็นวิธีการสื่อสารที่เราอาจเข้าใจ และใช้มันในการเชื่อมต่อกับเพื่อนได้ดีขึ้น เราอาจไม่ได้มองว่ามันดาษดื่น ไม่พยายาม หรือนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ในทางกลับกัน เราก็อาจใช้มันตอบเงื่อนไขของความสัมพันธ์ คือเป็นสะพานของชีวิตที่ยุ่งเหยิง และมองว่าการส่งรีลส์เล็กๆ ถือเป็นการชวนให้เรานึกถึง ทั้งความชอบของเรา ความชอบของเพื่อนที่อาจจะไม่ได้คุยเล่นกันบ่อยๆ แต่นึกถึงกันผ่านเรื่องต่างๆ
คนเจน Z อาจจะใช้สตอรี่ เช่น การคอมเมนต์สตอรี่เพื่อการจีบกัน ส่วนเจน Y ซึ่งเริ่มแก่แล้ว ก็อาจจะใช้รีลส์ในการส่งต่อความห่วงใย ซึ่งความห่วงใยเหล่านี้ก็ต้องไม่ฟลัด หรือกดส่งไปเป็นพืด
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Editorial Staff: Taksaporn Koohakan