ประธานหอการค้า เชื่อไทยเจรจาสหรัฐในกรอบที่ยอมรับได้
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 7 กรกฎาคม 2568 เวลา 20.24 น. • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพฯ 7 ก.ค.- ประธานหอการค้า เชื่อไทยเจรจาสหรัฐอยู่ในกรอบที่ยอมรับได้ ไม่มองเสียเปรียบ-ได้เปรียบ ระบุหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราไม่ได้เสียเปรียบประเทศคู่แข่งมาก ส่งออกอาจไม่กระทบมาก
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเจรจาภาษีระหว่างไทย-สหรัฐ ว่า เท่าที่ทราบนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ส่งข้อเสนอใหม่ไปสหรัฐแล้วเมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) ทันเวลาก่อนครบกำหนดเส้นตาย 9 ก.ค.นี้ โดยไม่ได้มองว่าข้อเสนอเป็นการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เนื่องจากสหรัฐต้องการขยายการส่งออกไปทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย เชื่อว่าข้อเสนอของไทยอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม อยู่ในกรอบที่ยอมรับได้
ส่วนสินค้าที่ไทยสามารถนำเข้าจากสหรัฐทั้งพลังงาน และสินค้าเกษตร มองว่าต้องไม่สร้างผลกระทบกับสินค้าเกษตรในประเทศ สามารถต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างสมดุลได้
อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้อยากให้ไทยถูกเก็บภาษีในอัตราต่ำสุด ส่วนเวียดนามที่ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% เมื่อพิจารณาพบว่าเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่าไทยถึง 3 เท่า
ขณะที่ปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์ ทางกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชน หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม ควบคุมเข้มงวดมาเป็นระยะเวลา 1 เดือนกว่าแล้ว เชื่อสามารถแก้ปัญหาได้
ส่วนล่าสุดที่ประธานาธิบดีทรัมป์ที่โพสต์แจ้งผ่านทรูธโซเชียลว่า เขาจะเริ่มส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีต่างตอบแทนต่อประเทศต่าง ๆ 12 ฉบับ ในวันนี้ (7 ก.ค.) นั้น คาดว่าน่าจะเป็นประเทศที่ไม่มีการเจรจา ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา รวมทั้งไทย น่าจะยังรอผล
นายพจน์ ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 สำหรับการส่งออก ขึ้นกับผลการเจรจาสหรัฐ มองว่าหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ไม่ได้เสียเปรียบคู่แข่งมาก อาจกระทบส่งออกไม่มากและอาจดีขึ้น เนื่องจากไทยยังสามารถส่งออกไปยังประเทศอื่นได้ดี เพียงแต่ต้องเร่งเจรจา แต่ปัจจัยที่ยังห่วงคือการเมืองในประเทศ ที่อยากให้มีเสถียรภาพโดยเร็ว ชัดเจน รัฐบาลเป็นที่ยอมรับ โดยต้องเริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจรัง เพราะเวลาเราหมดแล้ว รวมถึงท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวจีนลดลง แม้นักท่องเที่ยวชาติอื่นเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมยังลดลง รวมถึงขอให้รัฐบาลมีการปรึกษาหารือกับภาคเอกชนด้วย.-516-สำนักข่าวไทย