เปิดกลไก TFFF กองทุนเพื่ออนุรักษ์ป่าฝน เตรียมเปิดตัวที่ COP30
เจ้าภาพ COP30 อย่างบราซิล ประเทศทั้ง 12 กำลังสรุปการจัดตั้งกองทุนที่มีเป้าหมายระดมเงิน 125,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อน และเปิดตัวในการประชุมสุดยอดด้านภูมิอากาศเดือนพฤศจิกายนนี้
ย้อนกลับไปในปี 2023 ระหว่างสัปดาห์ภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Climate Week) ที่นครนิวยอร์ก สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS) ได้เตือนรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของบราซิล เกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตของป่าไม้โลก โดยระบุว่า 25% ได้ถูกทำลายไปแล้ว
ตัวเลขนี้มาจากงานวิจัยของ WCS ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Nature Communications เมื่อปี 2020 และยังระบุว่า จากพื้นที่ป่าทั้งหมด 4.3 พันล้านเฮกตาร์ที่เหลืออยู่บนโลก มีเพียง 40% หรือ 1.7 พันล้านเฮกตาร์ ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ และน้อยกว่า 30% ของพื้นที่เหล่านี้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นทางการ
ป่าไม้ในสภาพธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คน แต่ก็มีความท้าทายอย่างมากในการป้องกันการเสื่อมโทรมและการตัดไม้ทำลายป่า
การประชุมในปี 2023 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง WCS กับรัฐบาลบราซิล ในการจัดตั้งโครงการเงินทุนเชิงนวัตกรรมเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ กองทุน “Tropical Forest Forever Facility” (TFFF)
กองทุน Tropical Forest Forever Facility (TFFF) คืออะไร
กองทุน TFFF มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในประเทศกำลังพัฒนา โดยรวมแล้วมีพื้นที่สีเขียวประเภทนี้อยู่ประมาณ 1.2 พันล้านเฮกตาร์ กระจายอยู่ใน 76 ประเทศ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำแอมะซอน ลุ่มน้ำคองโก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การู แบทมาเนียน อธิบดีกรมป่าไม้แห่งชาติบราซิล ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลป่าสาธารณะ และเป็นตัวแทนกระทรวงในการจัดตั้งกองทุนนี้ กล่าวว่า เป้าหมายของ TFFF คือการให้รางวัลแก่ประเทศที่สามารถควบคุมระดับการตัดไม้ทำลายป่าได้แล้ว แต่ยังต้องการเงินลงทุนเพื่อรักษาป่าไว้
นอกจาก WCS และรัฐบาลบราซิลแล้ว ยังมีองค์กรอีกหลายแห่งที่เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการนี้ ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในการประชุม COP30 ที่เมืองเบเลง ประเทศบราซิล ในเดือนพฤศจิกายน
อะไรคือความแปลกใหม่ของ TFFF
กลไกคุ้มครองป่าไม้ส่วนใหญ่จ่ายเงินเพื่อการหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่า โดยพิจารณาจากปริมาณคาร์บอนที่ไม่ถูกปล่อยออกมาเนื่องจากต้นไม้ยังคงอยู่ ตัวอย่างหลักคือโครงการ REDD+ ซึ่งเปิดตัวในการประชุม COP19 ปี 2013
ตามหลักการนี้ หากประเทศใดลดการตัดไม้ได้จนเหลือศูนย์ ก็จะไม่ได้รับเงินสนับสนุนอีกต่อไปเพราะไม่มีการลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มเติม นั่นหมายถึงว่า TFFF ตั้งใจจะแก้ช่องว่างนี้ ด้วยการจ่ายเงินให้ประเทศต่าง ๆ เพื่อการรักษาป่าอย่างต่อเนื่อง
อานี อาเลนคาร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมอเมซอน (IPAM) ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาการจัดตั้ง TFFF กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ มักไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการมีป่าไม้ กลไกนี้จึงช่วยเติมมุมมองดังกล่าว เพราะจะส่งเงินโดยตรงไปยังประเทศนั้น ๆ และสร้างแรงจูงใจที่ชัดเจนขึ้น
ประเทศในเขตร้อนที่สามารถรักษาหรือชะลอการตัดไม้ทำล่าได้ จะมีสิทธิได้รับเงินปีละ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อเฮกตาร์ของพื้นที่ป่าที่ได้รับการอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม จะมีการหักเงินในอัตรา 400-800 ดอลลาร์ต่อเฮกตาร์ สำหรับพื้นที่ที่ถูกตัดไม้ในแต่ละปี และจะหักอีก 100 ดอลลาร์ต่อเฮกตาร์สำหรับพื้นที่ที่เสื่อมโทรม เช่น พื้นที่ที่มีระบบนิเวศถูกทำลาย มีการแบ่งแยก หรือใช้แนวทางที่ไม่ยั่งยืนการหักเงินเหล่านี้ เป็นแรงจูงใจให้ประเทศที่มีอัตราการตัดไม้ต่ำอยู่แล้ว ยังคงเดินหน้าสู่เป้าหมายการตัดไม้เป็นศูนย์
TFFF ยังแตกต่างจากโครงการอนุรักษ์อื่น ๆ ในวิธีการคำนวณพื้นที่ป่า
โดยหลีกเลี่ยงการรวมคาร์บอนทั้งหมดจากประเทศเขตร้อน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง แต่จะใช้การตรวจสอบด้วยดาวเทียมและระบบรับรู้ระยะไกล ซึ่งเข้าถึงง่ายกว่า
หากประเทศใดไม่มีระบบเหล่านี้ ก็สามารถใช้แพลตฟอร์มระดับโลกในการคำนวณได้ ลีโอนาร์โด โซบราล ผู้อำนวยการด้านป่าของ Imaflora องค์กรภาคประชาสังคมของบราซิลอีกแห่งที่เข้าร่วมโครงการนี้อธิบาย MapBiomas ติดตามการปกคลุมของป่าทั่วอเมริกาใต้และอินโดนีเซีย และมีแผนจะขยายไปยังแอฟริกา
ใครมีส่วนร่วมในกองทุนนี้บ้าง
แนวคิดของกองทุนนี้ถูกเสนอโดยรัฐบาลบราซิลในปี 2023 ระหว่างการประชุม COP28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยรัฐบาลบราซิลร่วมกับการสนับสนุนด้านเทคนิคจากองค์กรอนุรักษ์ระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างรัฐบาล สถาบันการเงิน และกลุ่มคลังสมอง (think-tank) หลายแห่ง
เดือนมีนาคม 2025 คณะกรรมการกำหนดทิศทาง (steering committee) ได้ประชุมกันที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เพื่อสรุปรูปแบบของ TFFF โดยมีแผนจะเผยแพร่เอกสารแนวคิดฉบับที่ 2 (concept note 2.0) ในเดือนเมษายน จากนั้นจะมีการหารือกับประเทศต่าง ๆ นักลงทุนที่มีศักยภาพ และภาคประชาสังคม คาดว่าเวอร์ชันสุดท้ายจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยผู้แทนจาก 12 ประเทศ โดยครึ่งหนึ่งเป็นประเทศที่มีป่าฝนเขตร้อน รวมถึงบราซิล และอีกครึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีศักยภาพในการลงทุนในกองทุนนี้
ยกเว้นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศที่เหลือโดยทั่วไปมีส่วนร่วมในการให้ทุนเพื่อการอนุรักษ์ เช่น นอร์เวย์ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมกันเป็น 60% ของคำมั่นสัญญา 9.3 พันล้านดอลลาร์ที่ให้ไว้กับกองทุน Green Climate Fund และนอกจากฝรั่งเศสแล้ว ทุกประเทศเหล่านี้ยังเป็นนักลงทุนหลักในกองทุน Amazon Fund
รูปแบบการดำเนินงานของ TFFF
กองทุนนี้จะอยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรพหุภาคี ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเมื่อรูปแบบของกองทุนเสร็จสมบูรณ์ โดยหนึ่งในตัวเลือกคือ ธนาคารโลก ซึ่งได้ติดตามการหารือในประเด็นนี้อยู่
ก่อนจะเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน TFFF มีแผนจะขอ "shadow rating" หรืออันดับเครดิตไม่เป็นทางการจากสถาบันจัดอันดับเครดิต เพื่อรับรองว่ามีความเสี่ยงในการลงทุนน้อย หลังจากนั้นจะออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินจำนวน 125,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่กองทุน
เป้าหมายคือระดมคำมั่นสัญญามูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์ให้ได้ภายในงาน COP30 และใช้เงินก้อนนี้เป็นแรงผลักดันเพื่อดึงดูดเงินอีก 100,000 ล้านดอลลาร์จากตลาดการเงิน มีการคาดการณ์ว่า จะดึงดูดกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติและกองทุนบำเหน็จบำนาญ ซึ่งต้องการการลงทุนระยะยาวที่มีความเสี่ยงต่ำ ด้านมูลนิธิการกุศลก็ถือเป็นเป้าหมายสำคัญเช่นกัน
เงินทุนจาก TFFF จะถูกนำไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ประเภทอื่น ๆ โดยทุก ๆ เงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ จะสามารถนำมาลงทุนในป่าไม้ได้ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
วิธีเข้าร่วมและใช้ประโยชน์จากกองทุน
ประเทศเขตร้อนจะต้องมีอัตราการตัดไม้ประจำปีไม่เกิน 0.5% ของพื้นที่ป่าทั้งหมด และแสดงแนวโน้มการลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับเฉลี่ยของโลกตามการคำนวณของคณะกรรมการ
ตามเกณฑ์นี้ บราซิลมีคุณสมบัติผ่านการเข้าร่วม TFFF โดยจากการวิเคราะห์ของ Dialogue Earth ซึ่งอิงข้อมูลอย่างเป็นทางการจากสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ (INPE) และกรมป่าไม้แห่งชาติบราซิล พบว่าในปี 2023 พื้นที่ป่าแอมะซอนและแอตแลนติกของบราซิลสูญเสียพืชพรรณพื้นเมืองไปเพียง 0.25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ในการสมัครเข้าร่วม ประเทศจะต้องแสดงระบบติดตามป่าไม้ และแผนการใช้ทรัพยากรที่ได้รับ โดยต้องจัดสรรเงินทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูในระดับสาธารณะ อย่างน้อย 20% ของกองทุนจะต้องถูกจัดสรรให้กับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชนพื้นเมืองและชุมชนดั้งเดิม แบทมาเนียนกล่าว
เมื่อสิ้นปีแต่ละปี ประเทศจะต้องเผยแพร่รายงานการติดตามและส่งให้ TFFF เพื่อขอรับเงิน โดยอัตราการตัดไม้ต้องคงที่หรือมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาปัจจัยอย่างภัยธรรมชาติที่อาจทำลายป่า เช่น เฮอริเคนในแคริบเบียน หรือการระเบิดของภูเขาไฟในอินโดนีเซีย โดยในกรณีเหล่านี้ แบทมาเนียนระบุว่า กองทุนจะยอมให้มีความคลาดเคลื่อนได้สูงสุด 0.1%