รู้ให้ทัน! หนี้ภาษีย้อนหลัง กรมสรรพากร ส่งหนังสือถึงหน้าบ้าน เปิดข้อกฎหมาย-คู่มือรับมือ-จุดพลาด
เมื่อ "ปูนิ่ม" อดีตเจ้าของแบรนด์อาหารเสริมออกมาเล่าในรายการโหนกระแส ว่าโดนภาษีย้อนหลัง 600 ล้าน จนหมดตัว จนกลายเป็นชนวนให้คนไทยอีกจำนวนไม่น้อย ต้องออกมายอมรับว่า "ฉันก็โดนเหมือนกัน!"
โดยหลายคน ระบุว่า ช่วงนี้ เริ่มได้รับ หนังสือแจ้งจากกรมสรรพากร บางคนโดนย้อนหลัง 3 ปี บางคน 5 ปี หรือหนักสุดถึง 10 ปี ขณะบางคนไม่ได้ตั้งใจเลี่ยง แค่ไม่รู้ว่าต้อง “ยื่นภาษี” จึงกลายเป็นหนี้แผ่นดินโดยไม่รู้ตัว
ในบทความนี้ Thairath Money ชวนมาทำความเข้าใจ กลไกภาษีไทย ทำไม? ไม่จ่ายไม่ได้ และหมดอายุความหรือเปล่า รวมไปถึง คู่มือเบื้องต้น สำหรับคนที่ได้รับหนังสือแจ้งภาษีย้อนหลัง พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ฟรีแลนซ์ เจ้าของธุรกิจ ต้องรู้ภาษีอะไรบ้าง?
ทำความเข้าใจ "หนี้ภาษี" ของไทย
หนี้ภาษี คือ ภาษีอากรที่ค้างชำระ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีอื่นๆ ขณะที่ทนายดังอย่าง “ทนายแก้ว” เผยในรายการโหนกระแสว่า “หนี้สรรพากร” ไม่มีหมดอายุความ และต้องจ่ายก่อนหนี้อื่นเสมอ
สะท้อนข้อเท็จจริงทางกฎหมาย ว่าหนี้ภาษี ไม่ใช่แค่หนี้ธรรมดา แต่คือหนี้ที่ไม่จ่ายไม่ได้ !
- ถ้ามีเจตนาเลี่ยง : สรรพากรมีสิทธิไล่บี้ย้อนหลังถึง 10 ปี
- ถ้าไม่ยื่นแบบเลย : เข้าข่ายเจตนาโดยปริยาย!
ส่วนประโยคที่กล่าววว่า “ต้องจ่ายก่อนหนี้อื่นเสมอ” เพราะต่อให้คุณเมินเฉย ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ก่อนจ่ายหนี้ภาษี สุดท้าย สรรพากรก็สามารถมายึดทรัพย์ได้เลย
รวมไปถึง การอายัดบัญชี และฟ้องล้มละลายด้วย ซึ่งมีข้อมูลว่า แม้เราจะไม่มีเงินสดในบัญชี แต่ทรัพย์สินทุกอย่างสามารถถูกอายัด หรือขายทอดตลาดเพื่อนำไปชำระภาษีได้ (กรมสรรพากรมีอำนาจดำเนินการดังกล่าวภายใน 10 ปี นับแต่วันที่เกิดสิทธิ ประมวลแพ่ง มาตรา 193/31)
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่า จุดพลาดตรงไหนบ้าง? ที่อาจทำให้เราถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
- ขายของออนไลน์ ระบบหลังบ้านเก็บข้อมูลไม่ครบ
- ฟรีแลนซ์รับโอนเงินรายได้ผ่านบัญชีธนาคาร ถูกตรวจสอบง่าย ถ้าพยายามหลบเลี่ยง
- รายได้พุ่ง แต่ไม่ยื่นแบบภาษี อาจถูกพิจารณาเป็นเข้าข่าย “เลี่ยงภาษี”
- บิลซื้อโฆษณา / ค่าคอมมิชชันต่างๆ มีการหัก ณ ที่จ่าย เปิดช่องให้สรรพากรตรวจย้อนหลัง แล้วไล่สอบต่อ
ควรทำอย่างไร ? เมื่อได้รับจดหมายจากสรรพากร
ข้อมูลจาก บมจ.ธรรมนิติ ระบุ ในหนังสือฉบับจริง (ใช้ตรวจสอบกรณีอาจถูกหลอกลวง) ที่กรมสรรพากร ส่งมา จะประกอบข้อมูลไปด้วย …
- ระบุชื่อสถานที่ตั้งสำนักงานสรรพากรอย่างชัดเจน
- ระบุวันเวลาที่นัดหมายเพื่อเชิญพบ หรือ ส่งมอบเอกสาร
- ระบุชื่อนามสกุลของผู้เสียภาษีและเจ้าที่ผู้ติดต่อ
- ระบุเบอร์โทรศัพท์สำนักงาน สามารถโทรกลับเพื่อตรวจสอบ ได้
ซึ่งหากในหนังสือระบุครบถ้วนเช่นนี้ ให้ดำเนินการดังนี้
- โทรสอบถามเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร สายด่วน 1161 เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
- ติดต่อเจ้าหน้าที่ด้วยตนเอง ที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน หรือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังให้มาก เนื่องจากมีกรณีหลอกลวงโดยอ้างเป็นสรรพากรจำนวนมาก โดยสิ่งที่จะเน้นย้ำ คือ กรมสรรพากร จะไม่มีการเรียกชำระภาษีผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคล การกดลิงก์ หรือ การสแกน QR Code
อย่างไรก็ดี อย่าชะล่าใจ และขอชะลอ เมื่อมีเวลากำหนดให้ชี้แจง/โต้แย้ง เพราะการปล่อยผ่านจะเสียสิทธิได้
- อ่านหนังสือที่กรมสรรพากรส่งมาให้ครบทุกหน้า
- รวมเอกสารรายได้ - ค่าใช้จ่ายย้อนหลัง (บิล ใบเสร็จ บัญชี)
- ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยเร็ว เพื่อขอผ่อนจ่าย หรือเจรจา
- อุทธรณ์ได้ถ้าคิดว่าถูกประเมินเกินจริง (แต่ต้องทำตามขั้นตอน)
สำหรับจุดบอด หรือ ข้อผิดพลาดที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เกี่ยวกับ “ภาษี” มีหลายข้อ ดังนี้
- “รายได้ไม่ถึง ก็ไม่ต้องยื่น” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะ
คนมีรายได้ต่อปี ตั้งแต่ 120,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเสมอแม้ไม่ต้องเสียภาษีก็ตาม - “แค่ขายในไลน์ ไม่ออกหน้าร้าน คงไม่โดน” เป็นความเข้าใจที่ผิดเช่นกัน เพราะทุกช่องทาง กรมสรรพากรตามรอยได้ โดยเฉพาะจากแพลตฟอร์ม/บัญชีธนาคาร
- “ไม่ได้จดบริษัท แค่ชื่อเราเอง” เป็นข้อสุ่มเสี่ยงที่สุด เพราะ
บุคคลธรรมดาก็ต้องเสียภาษี และ ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่
บุคคลธรรมดา / ฟรีแลนซ์ / ขายของออนไลน์ / เจ้าของแบรนด์ ต้องรู้อะไรบ้าง เกี่ยวกับเรื่องการยื่นภาษี และ เสียภาษี !
ใครที่มีรายได้จากงานประจำเพียงทางเดียว คนที่มีฐานเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี ส่วนผู้ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 26,583 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี
แต่ถ้าหากรายได้เกิน 26,583 บาทเป็นต้นไป ไม่ว่าจะมาจาก การทำงานฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ นอกจากจะต้องยื่นภาษีแล้ว ต้องเสียภาษีด้วย
ทั้งนี้ “รายได้” หมายถึง ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะเรียกว่า กำไร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้กับค่าใช้จ่าย ถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่พบปัญหามากที่สุด คือ การไม่รู้รายได้และรายจ่ายที่ชัดเจน
ส่วนพ่อค้าแม่ค้าที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ ไม่ว่าจะทำงานประจำไปด้วยหรือว่าขายของออนไลน์อย่างเดียวต่างก็ต้องยื่นภาษี โดยการยื่นภาษีสำหรับการขายของออนไลน์นั้นจะต้องยื่น 2 รอบ (ภ.ง.ด. 94 และ ภ.ง.ด. 90) ตามช่วงเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด ดังนี้
รอบแรกยื่นภาษีครึ่งปี ยื่นภาษีโดยนำเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. มาแสดงในการยื่นภาษี ตามแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 94 ภายในวันที่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย. ในปีเดียวกัน โดยสาเหตุที่ให้มีการเสียภาษีครึ่งปีเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้มีรายได้ เพื่อไม่ให้เสียภาษีหนักในครั้งเดียว
รอบสองยื่นภาษีปลายปี ยื่นภาษีโดยนำเงินได้ทั้งปี มากรอกในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ภายในวันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. ของปีถัดไป (เช่น เงินได้ปี 2564 ต้องยื่นภายใน มี.ค.2565)
นอกจากนี้ใครที่ขายของออนไลน์แล้วมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียน VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และต้องออกใบกำกับภาษีให้กับผู้มาใช้บริการด้วย
- กรณียื่นภาษีไม่ทันมีโทษไหม? : ปรับสูงสุด 2,000 บาท + ดอกเบี้ย
- ไม่ออกใบเสร็จถือว่าเลี่ยง? : ใช่ ถ้าจงใจปกปิดยอดขาย
- โดนย้อนหลังได้กี่ปี? : ปกติ 5 ปี, ถ้าเจตนา 10 ปี
- ขอผ่อนได้ไหม? : ขอผ่อนจ่ายภาษีได้เป็นงวด
ที่มา : กรมสรรพากร , เมืองไทยประกันชีวิต ,cimbthai ,บมจ.ธรรมนิติ
อ่านข่าวการเงินส่วนบุคคล และการวางแผนการเงิน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดีได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/personal_finance
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : รู้ให้ทัน! หนี้ภาษีย้อนหลัง กรมสรรพากร ส่งหนังสือถึงหน้าบ้าน เปิดข้อกฎหมาย-คู่มือรับมือ-จุดพลาด
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- รู้ให้ทัน! หนี้ภาษีย้อนหลัง กรมสรรพากร ส่งหนังสือถึงหน้าบ้าน เปิดข้อกฎหมาย-คู่มือรับมือ-จุดพลาด
- ขายของออนไลน์ ยื่นภาษีกับสรรพากรอย่างไร มีอะไรบ้างที่ควรรู้
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : Thairath Money
- LINE Official : Thairath