ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางประกอบธุรกิจการเงิน ฝันหรูเป็น "ฟินฮับ" ของโลก
ครม.ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ….ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หวังส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินของโลก
วันนี้ (วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2568) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ….. ของ กระทรวงการคลัง (กค.) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินของโลก (Financial Hub) และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจในประเทศไทยผ่านกลไกในการส่งเสริม กำกับดูแล และการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub เพื่อให้บริการแก่นิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (Non-residents) อันจะช่วยพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงินและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน รวมทั้งสามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจเป้าหมายในประเทศไทย
โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา [คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)] ได้ตรวจพิจารณาโดยนำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว โดยยังคงเป็นไปตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ และแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้
- กำหนดแนวทางการจัดตั้ง Financial Hub ในเขตพื้นที่ที่กำหนดสำหรับการประกอบธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการการชำระเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และธุรกิจทางการเงินอื่นหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนดโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (เดิมตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด) และให้บริการเฉพาะผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-residents) เท่านั้น ยกเว้น 2 กรณี คือ
1) การให้บริการระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายด้วยกันเอง และ
2) การให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล [เนื่องจากเป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนตลาดภายในประเทศ (Market Participant) โดยมิได้ให้บริการแก่ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวโดยตรง] (ตัดข้อยกเว้นการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายที่เป็นการให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดออก เนื่องจากคำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ในลักษณะอื่น" อาจหมายถึง "คนไทย" ได้ ซึ่งการให้บริการแก่คนไทยได้ด้วยอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและเกิดปัญหากับลูกค้าคนไทยหรือระบบการเงินในภาพรวมได้) ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายจะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนในไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ และต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด
- กำหนดให้มี "คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน" (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ) มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบาย กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตในการประกอบธุรกิจ เป้าหมาย จัดทำแนวทางการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเป้าหมาย รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหรือเห็นชอบ (เดิมเป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ) ตลอดจนเพิ่มเติมให้เสนอแนะคณะรัฐมนตรีในการหราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ของสถานที่ประกอบธุรกิจเป้าหมาย นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังคงมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบการอนุญาต การต่ออายุ และการเพิกถอนการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย รวมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน
- ให้มีการจัดตั้ง "สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน" มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการ เพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub โดยคำนึงถึงเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเงินของประเทศ โดยเพิ่มเติมให้สำนักงานฯ ต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจเป้าหมายแก่หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจทางการเงินของประเทศร้องขอ
- การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตประกอบธุรกิจเป้าหมายโดยต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (เดิมกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ) และในกรณีที่การกำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตประกอบธุรกิจเป้าหมายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูและของหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ให้คณะกรรมการฯ หารือร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องนั้นก่อนด้วย รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายที่ได้รับอนุญาตได้รับยกเว้นไม่นำกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจทางการเงินจำนวน 7 ฉบับ(กฎหมายหลัก) มาใช้บังคับแก่การประกอบธุรกิจเป้าหมาย (โดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้ เช่น หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการจะกำหนดในเรื่องการกำกับดูแลฐานะทางการเงิน การจัดทำบัญชีเงินหรือทรัพย์สินของลูกค้าหรือผู้บริโภค การบริหารจัดการความเสี่ยง มาใช้บังคับในการกำกับดูแลแทน) เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายนั้นเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจตามกฎหมายหลักดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายนั้นจะต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายในการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจตามร่างพระราชบัญญัตินี้ด้วย
- กำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub (หลักการตามร่างฯ เดิม) เช่น สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับยกเว้นจากการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สิทธิในการนำคนต่างด้าว (ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญใด ๆ ที่คณะกรรมการฯ กำหนด ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ และคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว) เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่สำนักงานฯ อนุญาต
- การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมาย กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจออกประกาศหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมายให้มีความมั่นคงและปลอดภัย เช่น การกำกับดูแลฐานะทางการเงินและผลการดำเนินการมาตรฐานในการประกอบธุรกิจเป้าหมาย การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล การคุ้มครองลูกค้าหรือผู้บริโภค หรือเรื่องอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล
- มาตรการปรับเป็นพินัยและโทษทางอาญา โดยตัดบทบัญญัติที่กำหนดให้เป็นความผิดและมีโทษทางอาญา ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดเหมือนหรือคล้ายคลึงกับความผิดที่ได้กำหนดไว้แล้วในภาคความผิดของประมวลกฎหมายอาญา และกำหนดให้ใช้มาตรการปรับเป็นพินัยสำหรับกรณีที่เป็นการกระทำที่มิใช่ความผิดร้ายแรงหรือมิได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเงินของประเทศ และโทษทางอาญา สำหรับกรณีที่เป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงหรืออาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเงินของประเทศ โดยในกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียว กำหนดให้เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้
- กำหนดบทเฉพาะกาล โดยในวาระเริ่มแรก ให้รัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงานฯ ตามความจำเป็น และให้คณะกรรมการฯ โดยตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน โดยให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งทำหน้าที่ผู้อำนวยการไปพลางก่อน โดยให้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการและจัดตั้งสำนักงานฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสำนักงานฯ เป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่กำหนด (กระทรวงการคลังคาดว่าในระยะ 3 ปีแรก เป็นจำนวน 300 ล้านบาท และอัตรากำลังที่ไช้ในสำนักงานฯ จำนวน 50 อัตรา)
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO