คดีชั้น14 รพ.ตำรวจ "ทักษิณ" ไม่ผ่าตัด -ใช้ยาแทน หลังส่งตัวออกนอกเรือนจำ
คดีชั้น14 รพ.ตำรวจ "ทักษิณ" ไม่ผ่าตัด -ใช้ยาแทน หลังส่งตัวออกนอกเรือนจำ สวนทางแพทย์เรือนจำวินิจฉัยป่วยวิกฤติรุนแรงต้องผ่าตัดด่วน
วันที่ 15 ก.ค. 2568 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนในคดีการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยคดีนี้มีอัยการ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ และมีนายทักษิณ เป็นจำเลย เป็นนัดที่ 4
ศาลได้นัดไต่สวนพยานฝ่ายศาล รวม 6 ปาก ซึ่งในช่วงเช้าไต่สวนไปแล้ว 4 ปาก ประกอบด้วยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ , นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ , นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ , นายนัสที ทองปลาด อดีตผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้บัญชาการในช่วงเวลาที่นายทักษิณถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ โดยพยานปากที่ 1 และ 4 ใช้เวลาไต่สวน คนละประมาณ 1 ชั่วโมง ในขณะที่พยานปาก 2 และ 3 ใช้เวลาครึ่งชม.
โดยประเด็นการไต่สวนเน้นไปในเรื่องการส่งตัวนายทักษิณ ไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ปี 2560 และกฎกระทรวงหรือไม่ และการบังคับโทษ รวมไปถึงการพิจารณาพักโทษที่มีกระบวนการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา โดยให้เปรียบเทียบกับการปฏิบัติกับนักโทษรายอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปี และการให้ความเห็นชอบในการขยายเวลารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในช่วง 30 วัน 60 วัน 120 วัน และ 180 วัน
ซึ่งช่วงหนึ่งในการไต่สวน ศาลได้ตั้งข้อสงสัยว่าผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องในการอนุมัติขยายเวลาพักรักษาตัว มีการติดตามอาการหรือไม่และสามารถนำตัวกลับมารักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้หรือไม่
ช่วงหนึ่งในประเด็นการไต่สวนมีเรื่องกระบวนการส่งตัวไปรักษา ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยอาการว่ามีอาการป่วยเข้าขั้นวิกฤตรุนแรงต้องได้รับการรักษาหรือถีงขั้นต้องผ่าตัด แต่เมื่อส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาภายนอกแล้ว ท้ายที่สุดผู้ป่วยปฏิเสธการผ่าตัด แต่ขอรักษาโดยการใช้ยาแทน
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าการเบิกความของพยาน ของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คนปัจจุบันและคนก่อนหน้า มีประเด็นที่เบิกความไม่ตรงกัน คือขั้นตอนการส่งตัวไปรักษานอกเรือนจำ ว่าจะต้องส่งตัวไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นอันดับแรกก่อน หรือสามารถส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลภายนอก ที่เป็นโรงพยาบาลเครือข่ายได้เลย
สำหรับการ ฟังการพิจารณาของศาลในครั้งนี้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยศาลไม่ให้อนุญาตให้สื่อมวลชนจดบันทึกคำเบิกความและไม่ให้นำกระดาษและปากกาเข้าไป แต่อนุญาตให้เข้านั่งฟังการพิจารณาไต่สวน โดยในช่วงบ่ายภายหลังการพักพิจารณา จะมีการไต่สวนพยานต่ออีก 2 ปาก ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์