Infinite Workday การงานล้ำเส้นชีวิต เป็นมือที่ 3 เพิ่มการหย่าร้าง
ผลการสำรวจใหม่จาก Microsoft เผย เทรนด์คนทำงานยุคใหม่กำลังเผชิญ “Infinite Workday” หรือ “ชีวิตทำงานที่ไร้วันสิ้นสุด” จนลามไปกระทบชีวิตคู่ หลายคนเริ่มโกหก แยกตัว ห่างเหิน และรู้ตัวอีกที ความสัมพันธ์ก็พังไม่รู้ตัว
หากคุณเคยต้องไปงานรวมญาติเพียงลำพัง เพราะอีกฝ่ายติดงาน เคยรออีกคนกลับบ้านเพื่อกินข้าวเย็นด้วยกัน แต่ก็ถูกเบี้ยวนับครั้งไม่ถ้วน หรือได้ยินคำว่า “พรุ่งนี้จะหยุดทำงานดึกแล้ว” แต่ “พรุ่งนี้” นั้นไม่เคยมาถึง…
สัญญาณเหล่านี้อาจบ่งชี้ว่า มันถึงเวลาที่คุณต้องเผชิญหน้ากับปัญหา “Infinite Workday” หรือ “ชีวิตทำงานไร้วันจบ” ของคู่รัก ที่กำลังกัดกินความสัมพันธ์ของคุณทั้งคู่อยู่เงียบๆ
'Infinite Workday' เมื่อชีวิตการทำงานไม่รู้จบ ลุกลามถึงเตียงนอน
รายงาน Microsoft Work Trend Index ประจำปี 2025 เผยผลสำรวจชวนอึ้งว่า พนักงานออฟฟิศ 40% แหกตาตื่นนอนมาเช็กอีเมลตั้งแต่ 6 โมงเช้า อีก 29% กังวลเรื่องงานจนต้องคอยเช็กอีเมลดึกๆ ตอน 4 ทุ่ม และหลายคนยังนั่งประชุมข้ามคืน หรือทำงานวันหยุดเป็นปกติ
พฤติกรรมนี้เกิดจากรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด และการเข้ามาของ AI ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “เวลาทำงาน” และ “เวลาส่วนตัว” แทบไม่หลงเหลืออยู่เลย
ที่น่ากังวลมากกว่านั้นก็คือ บางคนถึงขั้นโกหกคนรักเพื่อจะได้แอบกลับไปทำงาน เช่น "อีธาน" (นามสมมติ) ที่เคยบอกคู่หมั้นว่าจะไปดูบอลกับเพื่อน แต่จริงๆ แอบขับรถกลับเข้าออฟฟิศ พอแฟนจับได้ เขารู้สึกเหมือนโดนจับได้ว่าแอบมีชู้ ทั้งๆ ที่จริงๆ ไม่ได้มีใครอื่น แต่มีงานยุ่งพันตัวจนเป็นเหมือนมือที่สามในความสัมพันธ์ของพวกเขา
“เจนา” ภรรยาของสามีซึ่งเป็นผู้บริหาร ซึ่งเขาทำงานหนักตลอดเวลาแบบไม่ยอมพัก เธอเล่าว่า ตอนนี้แม้จะมีสามีแต่กลับรู้สึกว่าตัวเองเหมือนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทั้งที่มีบ้านใหญ่ เรือส่วนตัว รถหรูครบ แต่ชีวิตกลับเต็มไปด้วยความโดดเดี่ยว ผิดหวัง และคำสัญญาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ขณะที่ “ซารา” ต้องโกหกสามีว่าไปเข้าคลาสแอโรบิกหลังเลิกงาน ทั้งที่ความจริงเธอนั่งทำโอทีอยู่ในออฟฟิศ แล้วแกล้งทำให้เหงื่อออกเหมือนเพิ่งออกกำลังกาย เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากเขาที่อยากให้เธอกลับบ้านตรงเวลา
งานที่ไม่มีวันจบ ทำลายชีวิตรักจริงหรือ? งานวิจัยชี้ชัดว่า “ใช่”
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of North Carolina at Charlotte ได้ทำการศึกษาคู่รักที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดอยู่ในวงจร Infinite Workday และค้นพบว่า.. คู่รักที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำงานหนักเกินไป มีแนวโน้ม "หย่าร้างสูงกว่า" คู่รักที่มี Work-Life Balance ขณะที่ ผู้หญิงที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ รายงานว่า ตนรู้สึกห่างเหิน อารมณ์ถดถอย คิดจะเลิกกับแฟนหรือสามี มากกว่าผู้หญิงกลุ่มอื่น
นอกจากนี้ รายงานระบุอีกว่า ผู้หญิงที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบ Infinite Workday เพียง 45% เท่านั้นที่ยังรักษาชีวิตแต่งงานได้อยู่ เทียบกับผู้หญิงที่มีคู่สมดุลระหว่างงานกับชีวิต ยังคงมีชีวิตการแต่งงานอยู่ถึง 84% ส่วนฝ่ายชายที่ทำงานหนักกว่าเฉลี่ย 9.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีแนวโน้มทำให้ชีวิตคู่แตกร้าว
ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังสอบถามฝั่งผู้ชาย และพบว่าหากฝ่ายหญิงเป็น Infinite Worker ก็ส่งผลคล้ายกัน คือ ทำให้รู้สึกห่างเหิน ผิดหวัง และไม่มีความสุขกับชีวิตคู่เช่นกัน
6 สัญญาณอันตราย คุณกำลังมีชีวิตคู่กับ “คนที่แต่งงานกับงาน” อยู่หรือเปล่า?
1. คุณรู้สึกเหมือนอยู่ลำพัง ต้องเป็นฝ่ายแบกทั้งความสัมพันธ์และครอบครัว
2. คู่ของคุณไม่ยอมให้สิ่งใดมาขัดขวางเวลาทำงาน
3. คุณรู้สึกตัวเองไม่มีความสำคัญ ถูกลดคุณค่า หรือถูกเมิน
4. คุณเก็บสะสมความรู้สึกโกรธ เศร้า หรือเสียใจอยู่เงียบ ๆ
5. ชีวิตครอบครัวต้องอยู่ภายใต้ “กฎลับ” ของตารางงานเขา/เธอ
6. ทุกกิจกรรมต้องวางแผนตามเวลางานของอีกฝ่ายเสมอ
เมื่อพบสัญญาณเหล่านี้แล้ว จะมีวิธีเยียวยาความสัมพันธ์ได้อย่างไร เมื่องานกลายเป็นมือที่สาม? เรื่องนี้ ดร.ไบรอัน โรบินสัน (Bryan Robinson) อาจารย์ นักเขียน และผู้เชี่ยวชาญด้านความยืดหยุ่นและความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว แนะนำว่า อย่ารอให้ความสัมพันธ์พังแล้วค่อยซ่อม หากเริ่มรู้สึกว่าชีวิตคู่กำลังถูกบ่อนทำลายด้วย “งานที่ไม่มีวันจบ” ให้เริ่มปรับปรุงด่วน อาจเริ่มจาก…
1. เปิดอกคุยกับคู่รักอย่างตรงไปตรงมา
2. ตั้งกฎร่วมกัน เช่น ห้ามทำงานช่วงมื้อเย็น วันหยุด หรือเวลาเข้านอน
3. วางแผนกำหนดกรอบเวลาในการอยู่ด้วยกันอย่างตั้งใจ เช่น เลือก 1 ชั่วโมงต่อวัน ให้เป็นเวลาห้ามจับมือถือ ห้ามทำงาน
4. ตกลงร่วมกันว่า “วันหยุดคือวันหยุดจริง ๆ” ห้ามตอบอีเมล
5. อย่าปล่อยให้ชีวิตของคุณต้องรออีกฝ่ายตลอดเวลา หากเขาหรือเธอเบี้ยวนัด ให้คุณใช้ชีวิตต่อไปแทนที่จะรอ
การยอมโอนอ่อนให้อีกฝ่ายโดยไม่พูดคุยอะไรให้เคลียร์ใจกัน อาจยิ่งทำให้พฤติกรรม Infinite Workday ของคู่รักของคุณรุนแรงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น “ถ้าคุณวางแผนไปเที่ยวทั้งครอบครัวแล้วอีกฝ่ายยกเลิก ก็ไปเองเถอะ ถ้าอีกฝ่ายเบี้ยวไม่กลับมากินข้าว ก็กินก่อนไปเลย ไม่ใช่เพราะโกรธ แต่เพราะคุณก็มีคุณค่าพอจะดูแลตัวเอง”
ท้ายที่สุด หากทุกความพยายามไม่ได้ผล ลองเสนอให้อีกฝ่ายเข้ารับการปรึกษาร่วมกัน หรือหากเขา/เธอไม่ยอม ลองเริ่มจากการดูแลใจตัวเอง ด้วยการเข้ากลุ่มสนับสนุน หรือพูดคุยกับนักบำบัดส่วนตัวก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีเช่นกัน ทั้งนี้ ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยอารมณ์จนเกิดการจบความสัมพันธ์ที่รวดเร็วก่อนที่จะได้แก้ไขร่วมกัน
อ้างอิง: Forbes, Microsoft’s 2025 Work Trend Report