สงครามกลางเมืองที่มะกันกังวล
สถานการณ์การเผชิญหน้าของผู้คนในประเทศสหรัฐอเมริกา ในด้านต่างๆ ส่งสัญญาณส่อเค้าทวีความร้อนแรงเพิ่มมากขึ้น จนสร้างความวิตกกังวลให้แก่หลายภาคส่วนว่าอาจจะลุกลามบานปลายออกไป
จากการชุมนุมประท้วงที่เห็นกันอยู่ทั่วไป ก็อาจลุกลามนำไปสู่ความขัดแย้งเห็นต่างระหว่างกลุ่มคน ก่อนก่อเกิดจลาจล บานปลายจนไปสู่การเกิด “สงครามกลางเมือง” เหมือนอย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยประสบและผจญชะตากรรมของความภินท์พังในสงครามกลางเมืองมาแล้ว เมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษ 1860
กว่าประเทศจะกลับตั้งหลักตั้งลำกันได้ ก็ต้องใช้เวลานับสิบปี สำหรับ การปฏิสังขรณ์ประเทศที่ภินท์พังจากสงครามกลางเมือง ที่ชาวอเมริกันเหนือ-ใต้ ต้องมารบพุ่งเข่นฆ่ากันเอง จนถือเป็นหนึ่งในจุดดำทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ให้ได้ศึกษาเล่าขานมาตราบเท่าทุกวันนี้
ความสูญเสียของสงครามกลางเมืองข้างต้น ก็สร้างความสะพรึงให้แก่ผู้คน โดยการสู้รบที่ดำเนินไปเป็นเวลา 5 ปี ก็คร่าชีวิตชาวอเมริกันรวมแล้วเกือบ 5 แสนคน ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 4 แสนคน
ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ ดังกล่าว ก็ได้ตามมาหลอกหลอนสั่นประสาทชาวอเมริกันอีกครั้งในคริสต์ทศวรรษ 2020 นี้
เมื่อปรากฏว่า การชุมนุมประท้วงในประเด็นปัญหาความไม่พอใจต่างๆ ในสหรัฐฯ แต่ละครั้ง ได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นสถานการณ์จลาจลในหลายเหตุการณ์ด้วยกัน ในช่วงไม่กี่เพลาที่ผ่านมา จากหลายกรณีด้วยกัน ได้แก่
การชุมนุมประท้วงและกลายเป็นจลาจลจากความไม่พอใจอย่างรุนแรงของประชาชนที่มีต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิเช่น กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำทารุณกรรมจนนำไปสู่การชีวิตของนายจอร์จ ผู้ต้องสงสัยชาวผิวสี เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2020 (พ.ศ. 2563) เป็นต้น
การชุมนุมประท้วงโดยกลุ่มที่ต่อต้านสงครามในฉนวนกาซาในสหรัฐฯ เพราะไม่พอใจที่กองทัพอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาอย่างเหี้ยมโหด ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 (พ.ศ. 2566) จวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในการชุมนุมประท้วงบางจุด ก็ถึงขั้นบานปลายกลายเป็นจลาจล
กระทั่ง สถานการณ์ชุมนุมประท้วงในปีล่าสุด หลังการมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้มีประชาชนจำนวนหนึ่ง ก่อหวอดชุมนุมประท้วงในหลายเหตุการณ์ด้วยกัน
โดยหลักๆ ก็เป็นการชุมนุมประท้วงเพราะไม่พอใจในการดำเนินนโยบายหลายประการของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งนโยบายที่ถูกยกให้เป็นชนวนก่อเหตุชุมนุมประท้วงจลาจลกันก็คือ การดำเนินนโยบายต่อผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ที่ทางการสหรัฐฯ ได้เนรเทศกลุ่มผู้อพยพเหล่านั้นออกนอกประเทศสหรัฐฯ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์
ก่อนที่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงดังกล่าวในหลายพื้นที่ได้เกิดการจลาจล จากการที่กลุ่มผู้ชุมนุม ก่อเหตุความวุ่นวายเป็นประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเผาทำลายทรัพย์สินของประชาชน รวมไปจนถึงการปล้นสะดมร้านค้าต่างๆ
ทั้งนี้ เหตุชุมนุมประท้วงเพราะไม่พอใจในการดำเนินนโยบายผลักดันผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายออกนอกประเทศ เริ่มมีให้เห็นกันตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมของปีนี้แล้ว
เรียกว่า ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่นายทรัมป์ เข้าทำเนียบขาว ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคมในปีนี้กันเลยทีเดียว
ก่อนสถานการณ์ชุมนุมประท้วงจะทวีความรุนแรง ดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้น ในช่วงเดือนมิถุนายนที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้เอง โดยเหตุชุมนุมประท้วงที่นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเมื่อกล่าวถึงนครแห่งนี้ ก็จัดได้ว่า เป็นแหล่งชุมนุมผู้อพยพจากประเทศต่างๆ รวมทั้งคนไทยเราก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย ถึงขนาดเปรียบเปรยยกให้เป็นอีกหนึ่งจังหวัดของไทยเราเลยก็ว่าได้
โดยความรุนแรงของการชุมนุมประท้วง จนนำไปสู่การจลาจลในนครลอสแอนเจลิส ก็ถึงขนาดทำให้ทางการสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องสั่งให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ หรือเนชันแนลการ์ด มารักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ “เอาไม่อยู่” กับสถานการณ์ชุมนุมประท้วงที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นจลาจลขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ จากการระดมกำลังเจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิมารักษาการในลอสแอนเจลิสดังกล่าว ก็ทำให้เกิดวิวาทะระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ กับนายแกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อเมืองของรัฐแคลิฟอร์เนีย ตามมา ซึ่งทั้งประธานาธิบดีทรัมป์ และผู้ว่าฯ นิวซอม ก็มีปัญหาไม่ลงรอยกันไปเป็นทุกเดิมอยู่แล้ว จากการทั้งสองฝ่ายอยู่คนละพรรค คนละขั้ว
นั่นคือ ประธานาธิบดีทรัมป์ อยู่ทางฟากพรรครีพับลิกัน ส่วนผู้ว่าฯ นิวซอม สังกัดพรรคเดโมแครต
นอกจากนี้ ก็ยังมีการชุมนุมประท้วง ที่ใช้ชื่อ “โนคิง (No King)” เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่า ประชาชนชาวอเมริกัน ได้จัดการเดินขบวน ในพื้นที่ 50 รัฐของประเทศสหรัฐฯ กันเลยทีเดียว พร้อมกันนี้ ก็มีการประเมินกันว่า มีประชาชนชาวอเมริกันเข้าร่วมชุมนุมมากกว่า 5 ล้านคน
ใช่แต่เท่านั้น การเผชิญหน้ากันในทางการเมืองในสหรัฐฯ ก็มีความรุนแรงถึงขั้นหมายปองเอาชีวิตกันเลยทีเดียว เช่น กรณีของนางเมลิสสา ฮอร์ตแมน สส.รัฐมินนิโซตา ถูกยิงเสียชีวิตพร้อมสามีของเธอ ส่วนนายจอห์น ฮอฟฟ์แมน สว.รัฐมินนิโซตา และภริยา ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า เหตุยิงสังหารข้างต้นนั้น มีแรงจูงใจทางการเมือง
เมื่อเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้งเป็นประการต่างๆ เช่นนี้ ทาง “ยูกอฟ” บริษัทด้านการวิเคราะห์ วิจัยทางการตลาดในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ ก็ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น หรือโพลล์ ชาวอเมริกัน แล้วพบว่า ร้อยละ 45 ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม หรือเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ที่หวั่นวิตกกังวลว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกา อาจเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมืองในทศวรรษหน้า