ภาษีทรัมป์ ฉุดทั่วโลกกระอัก! ขีดเส้นตาย 1 ส.ค.นี้
หุ้นวิชั่น
อัพเดต 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 0.19 น. • เผยแพร่ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา • HoonVision | หุ้นวิชั่น - หุ้น ข่าวหุ้น หุ้นไทยวันนี้ หุ้นวันนี้ หุ้นเด่น วิเคราะห์หุ้น ธุรกิจ การเงิน เศรษฐกิจ การลงทุน ดัชนีราคาหุ้นหุ้นวิชั่น - บล.กรุงศรี ระบุว่า เรามองความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการเจรจาการค้าจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลก โดยสัปดาห์นี้ยังเน้นติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า เป็นประเด็นหลัก หลังจากล่าสุด ปธน Trump ประกาศ อัตราภาษี 30% สำหรับสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโก ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.
โดยกล่าวว่า หาก EU หรือเม็กซิโกตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษี สหรัฐฯ จะเพิ่มอัตราภาษีในอัตราเท่ากับอัตรานั้น ๆ เพิ่มเข้าไปจากฐาน 30% ที่จะเรียกเก็บ ทางด้านสหภาพยุโรปและรัฐบาลเม็กซิโกได้แสดงความไม่พอใจและเตรียมมาตรการตอบโต้ โดยการเจรจาต่อรองเพื่อหาข้อตกลงจะดำเนินการต่อไปจนถึงวันที่ 1 ส.ค. นี้ โดยสถานการณ์ล่าสุด มีเพียง สหราชอาณาจักรและจีน ที่บรรลุข้อตกลงทางการค้าอย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯ
โดยล่าสุดรัฐบาลเวียดนามเปิดเผยว่าอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บกับสินค้านำเข้าจากเวียดนามระดับ 20% เพื่อแลกกับการยกเว้นภาษีทั้งหมดให้กับสินค้า สหรัฐฯ ที่ส่งมายังเวียดนามนั้น สูงกว่าระดับที่ตกลงกันไว้ที่ 11% จึงทำให้ต้องเจรจาเพิ่มเติมก่อน
ฟากข้อมูลเศรษฐกิจ สัปดาห์นี้ ติดตามการรายงาน GDP และดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจจีนเดือน มิ.ย. ที่คาดว่าหากชะลอลง จะเพิ่มโอกาสเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนเพิ่มเติมระหว่างการประชุม Politburo ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1 - 2 สัปดาห์นี้
นอกจากนี้ติดตามเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่คาดว่ามีโอกาสเร่งขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยแรงกดดันเงินเฟ้อจะส่งผลให้ Fed มีแนวโน้ม Hawkish มากขึ้น อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีการค้า เรามองจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป ภาพรวมยังสวนทางกับฝั่งยุโรปและเอเชียที่เรามองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงเร่งขึ้นจากแนวโน้มสินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไม่ได้ กระจายสู่ภูมิภาค
สำหรับภูมิภาคเอเชีย เรามอง BoJ ยังคงส่งสัญญานคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากความกังวลต่อผลกระทบจากภาษีการค้าที่จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพราคาเริ่มผ่อนคลายลงหลังราคาสินค้าเกษตรที่ปรับขึ้นชั่วคราวเริ่มกลับสู่ภาวะปรกติ
ฟากเศรษฐกิจเวียดนามและอินเดีย ดัชนีชี้นำการเติบโตของเศรษฐกิจยังสะท้อนภาพแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากภาษีการค้ายังคงมีอยู่ และทั้งสองประเทศยังคง พยายามเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง