‘บุรินทร์'เตือนไทยต้อง 'ปรับโครงสร้าง'รับศึกโลก เยียวยาอาจไม่ช่วย ถ้าแข่งขันไม่ได้
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวในงาน เสวนาโต๊ะกรม "Roundtable: The Art of (Re)Deal” ว่า ในมุมของนโยบายภาษี “ทรัมป์” มองว่าสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องมองมากขึ้นคือ ภายใต้ America First ของสหรัฐอเมริกา คืออเมริกาต้องมาก่อน และภายใต้ความต้องการลดทอนบทบาทจากจีนของสหรัฐ ดังนั้นเชื่อว่าประเทศในเซาท์อีสเอเชียจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และและอาจโดนหนัก
ภายใต้ความต้องการสร้างห่วงโซ่อุปทานละตินอเมริกาของสหรัฐ ที่โดนภาษีเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 10% สะท้อนว่าสหรัฐอาจไม่ได้สนใจที่จะให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอีกต่อไป ในขณะที่ประเทศไทยกำลังมองเพียงแข่งขันกับเวียดนามที่มีภาษีสูงกว่าไทย 10% หรือมาเลเซีย 10%แต่ในภาพใหญ่สหรัฐอาจ “ไม่เอาเซาท์อีสเอเชียแล้ว”
ดังนั้นประเทศไทย ควรต้องใช้จังหวะเวลานี้ในการปรับโครงสร้างของประเทศ เพราะหากย้อนดูเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยมีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะในภาคส่วนหลักอย่างการท่องเที่ยวและการส่งออก ที่ยังน่ากังวล
ดังนั้นแม้จะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ซอฟต์โลน (Soft loan) ก็อาจไม่สามารถช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้เสรี เพราะหากดูตัวอย่างในสหรัฐ ที่เคยให้ซอฟท์โลนแก่บริษัทโซลาร์ในรัฐแคลิฟอร์เนียประมาณ 500 กว่าล้านดอลลาร์ แต่บริษัทดังกล่าวก็ยังคงล้มละลายภายในเวลาไม่ถึง 5 ปี เหล่านี้สะท้อนว่าการเยียวยาที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอยู่นั้นจะยั่งยืนหรือไม่หรือช่วยธุรกิจได้จริงหรือไม่
นอกจากนี้หลายธุรกิจไทย ยังมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดน้อยลง ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายมากขึ้น หากต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างแท้จริง ธุรกิจเหล่านี้อาจจะสู้ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นคำถามคือ การช่วยเหลือจะต้องช่วยไปอีกนานแค่ไหน
แต่ขณะเดียวกัน มองว่าโมเดลการช่วยเหลือในต่างประเทศ หลายโมเดลที่ประสบความสำเร็จ อย่างในจีนที่มีการให้ซอฟต์โลน การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการแข่งขันกันเองอย่างเข้มข้นจนจีนกลายมาเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งส่งผลให้บริษัทจีนแข็งแกร่งขึ้นและกลายเป็นผู้นำของโลก
ดังนั้นมองว่า หากรัฐบาลไทยจะใช้ซอฟต์โลนในการช่วยเหลือและเยียวยา ควรเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งในที่สุดแล้วจะต้องสามารถแข่งขันได้ หรือมีการแข่งขันภายในประเทศด้วยตนเอง ไม่ควรให้ความช่วยเหลือไปเรื่อย ๆ เหมือนที่เคยทำกับภาคเกษตรของไทย
ซึ่งมองว่าเป็นการช่วยเหลือที่ไม่มีวันจบสิ้น เปรียบเสมือน “น้ำซึมบ่อทราย” ที่ทำให้เกษตรกรยังคงยากจน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ได้
ไทยอยู่ในสถานะเปรียบเปรียบเวียดนาม
ในด้านภาษี “ทรัมป์” วันนี้หากเทียบกับเวียดนาม ไทยกำลังเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด หากนักลงทุนต่างชาติจะเลือกมาลงทุนในภูมิภาคนี้ และต้องเลือกระหว่างไทยกับประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ซึ่งอาจโดนภาษี 20% ขณะที่ไทยโดน 36% มาเลเซีย 25% และสิงคโปร์ 10% เหล่านี้ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม หากดูผลกระทบด้านการส่งออกอาจจะยังไม่ชัดเจนมากนักในปีนี้ เพราะมีการส่งออกล่วงหน้า ไปเกือบหมดแล้ว และคาดว่าครึ่งหลังของปีการส่งออกอาจจะติดลบ แต่ผลกระทบที่แท้จริงจะปรากฏในระยะกลางและระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านเม็ดเงินลงทุนที่นักลงทุนกำลังรออยู่ ทำให้นักลงทุนอาจเกิดความไม่มั่นใจ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนและโครงการซื้อขนาดใหญ่ชะงักงันหลังจากนี้
สำหรับประเทศไทย ไม่เฉพาะผลกระทบภาษีทรัมป์เท่านั้น แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) ได้ ซึ่งทำให้ไทยยิ่งเสียเปรียบมากขึ้น
นอกจากนี้มองว่า ไม่เพียงแต่ประเด็นด้านภาษีทรัมป์ ที่ต้องน่ากังวล แต่ประเทศไทยยังมีประเด็นที่น่ากังวล เกี่ยวกับ ประเด็นที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff) ที่สหรัฐให้ความสนใจ ซึ่งหนึ่งด้านที่เป็นอุปสรรคสำหรับไทยคือ ไยถูกมองว่า พิธีการทางศุลกากรของไทยที่สหรัฐยุ่งยาก ซับซ้อน และอาจนำไปสู่การคอร์รัปชันได้ ดังนั้นครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถปรับปรุงได้ ไม่ใช่เพื่อสหรัฐเท่านั้น แต่เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าลงทุนสำหรับทั้งนักลงทุนต่างชาติและในประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่ากังวลคือ ประเทศไทยเริ่มมีความสำคัญน้อยลงในเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของไทยคิดเป็นประมาณ 1% ของโลก และการส่งออกก็อยู่ที่ 1% กว่า ๆเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่สหรัฐไม่ได้มองว่าประเทศไทยมีความสำคัญมากนักในการเจรจา
“ด้วยเหตุนี้เราต้องทำให้ตัวเองสำคัญและต้องใช้ วิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อนำไปสู่การแก้ไขและปฏิรูปประเทศในหลายด้าน ทั้งปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างจริงจังหรือปฏิรูปการศึกษา เพื่อผลิตแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นนโยบายระยะยาว”
นอกจากนี้มองว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทย ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ทั้งภาคเกษตรกรรมและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ภาคเกษตรกรรมไม่ควรถูกละทิ้ง และควรหาวิธีช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อไม่ให้วนอยู่ในวังวนเดิมๆ นอกจากนี้มองว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการเยียวยาคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ควบคุ่กับการลดข้อจำกัดต่างๆของภาครัฐ ทั้งจากปัจจุบันที่ไทยมีแรงงานที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าที่อื่น เช่น เวียดนามที่มีการลดจำนวนบุคลากร ดังนั้นควรมีการ Digitalization ของภาครัฐ อย่างจริงจัง ควรทำให้ทุกอย่างเป็น One-stop service เพื่อลดระบบราชการที่ยุ่งยาก ลดการคอร์รัปชัน และลดการเอื้อประโยชน์ต่อพรรคพวก
รวมถึงการแก้ปัญหากิโยติน Guillotine อย่างจริงจัง ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปและตัดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นออก
สิ่งที่สำคัญคือการส่งเสริมการแข่งขันและนวัตกรรม จำเป็นต้องมีการแข่งขันให้มากขึ้น เพราะหากไม่มีการแข่งขัน ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบอนุญาตโดยไม่ต้องแข่งขันกับใคร ก็จะไม่มีนวัตกรรม
เพราะการขาดการแข่งขันเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งประเทศ เนื่องจากธุรกิจไทยหลายแห่งยังคงทำเรื่องซ้ำๆ กัน และมักจะรับจ้างผลิตหรือเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain เท่านั้น โดยไม่มีแบรนด์ของตัวเอง
อีกทั้งมองว่าปัจจุบัน ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยอาจถูกปกป้องมากเกินไป ทำให้ไม่มีนวัตกรรมเกิดขึ้น
ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาการสนับสนุนในรูปแบบ Venture Capital สำหรับผู้ที่มีแนวคิดที่ดี พร้อมกับการสนับสนุนด้านกฎระเบียบและด้านการเงิน เพื่อให้สามารถสร้างธุรกิจได้จริง
รวมไปถึง การเปิดการแข่งขันอย่างยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติได้ ไม่ใช่เพียงเพราะรัฐบาลอุ้มไว้
สำหรับมุมมองค่าเงินบาท มองว่า สาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่าสวนทางกับพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นเพราะ ขาดการลงทุน แม้ว่าจะมีเงินออมของประเทศจำนวนมาก แต่ไม่มีที่ให้ลงทุน ทุกคนเริ่มหมดไอเดีย
ดังนั้นหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ไปสักพัก ค่าเงินบาทก็จะอ่อนค่าลงได้ ปัจจัยที่อาจทำให้ค่าเงินอ่อนลงในครึ่งปีหลังคือการส่งออกที่แย่ลง
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของภาครัฐ (Credit Rating) ที่อาจได้รับผลกระทบจากเพดานหนี้สาธารณะที่ 70%
“หากรัฐบาลไม่รีบจัดการปัญหาเหล่านี้ ธุรกิจต่างๆ อาจจะไม่รอดและไม่รอการแก้ไข และมากกว่าเยียวยาต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ อย่าเยียวยาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องแจกเงินแล้วทำให้แรงงานมีสกิลเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าบางโครงการแจกเงินไปไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ”