งานนิทรรศการ “เบื้องหลังความโหดร้ายในอุตสาหกรรมไข่” : เมื่อเสียงจากแม่ไก่ในกรงเหนือกว่าคำพูดใดของมนุษย์
เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน นิทรรศการภาพถ่าย "เบื้องหลังความโหดร้ายในอุตสาหกรรมไข่" นี้ มิได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนแต่เป็นผลลัพธ์จากการลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บภาพเบื้องหลังฟาร์มไข่ไก่ในหลายประเทศมาตั้งแต่ปี 2565 โดยเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างซิเนอร์เจีย แอนนิมอล (Sinergia Animal) และเครือข่าย Open Wing Alliance (OWA) ซึ่งรวมองค์กรพิทักษ์สัตว์เกือบ 100 แห่งทั่วโลก
นิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ ถือเป็นการจัดแสดงภาพถ่ายระดับโลกที่รวบรวมชีวิตจริงจากฟาร์มอุตสาหกรรมพร้อมกันใน 7 ประเทศ ใน Global South หรือ กลุ่มประเทศโลกใต้ รวมถึงประเทศไทย ภายในงานจัดแสดงภาพถ่ายจาก 37 ประเทศทั่วโลก ที่เผยให้เห็นชีวิตจริงของแม่ไก่ที่ถูกกักขังในกรงเล็ก ๆ แคบ ๆ โดยแต่ละตัวมีพื้นที่น้อยกว่าขนาดหน้าจอ iPad (ไอแพด) ไร้อิสรภาพไม่มีแม้แต่พื้นที่ให้กางปีก หรือเดินได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเลี้ยงสัตว์ที่โหดร้ายที่สุดรูปแบบหนึ่งในปัจจุบัน
ศนีกานต์ รศมนตรี ผู้อำนวยการ ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล ประเทศไทย กล่าวว่า "เป้าหมายหลักของเราคือการเปิดเผยความจริงอันโหดร้ายที่แม่ไก่ต้องเผชิญในฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคได้เห็นถึงความทุกข์ทรมานที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังไข่ทุกฟอง และตั้งคำถามกับทางเลือกในการบริโภคของตน"
ภาพรวมสถานการณ์ความโหดร้ายในอุตสาหกรรมไข่ไก่ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ภูฏานสวิสเซอร์แลนด์ มีการแบนการใช้กรงตับแล้ว แต่ในเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีผู้ผลิตไข่รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสัดส่วนแม่ไก่ในระบบกรงสูงถึง63% หรือมากกว่า 3 พันล้านตัว รวมถึงประเทศไทยที่มีแม่ไก่เกือบ 95 ล้านตัว โดยอยู่ในระบบกรงกว่า 53 ล้านตัว ซึ่งผลิตไข่ไก่ประมาณ44 ล้านฟองต่อวัน เป็นการเลี้ยงในภาวะที่เร่งให้ออกไข่เฉลี่ยเกือบวันละ 1 ฟอง มากกว่าไก่ไข่ที่มีชีวิตปกติจะทำได้ถึงเกือบ 3,000% แต่ระบบนี้ยังถูกใช้อย่างแพร่หลาย แม่ไก่ในไทยต้องใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ในกรงแคบ โดยถูกบีบคั้นให้ผลิตไข่ฟองแล้วฟองเล่า เป็นการทรมานและทำลายวิถีธรรมชาติของสัตว์อย่างสิ้นเชิงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม: มากกว่าแค่เรื่องสวัสดิภาพสัตว์
นอกจากความโหดร้ายต่อสัตว์แล้ว ระบบอุตสาหกรรมไข่ไก่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ ฟาร์มที่เลี้ยงไก่จำนวนมากอยู่ในพื้นที่แออัด ทำให้แม่ไก่มีความเครียดสูง ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง งานวิจัยพบว่าภูมิคุ้มกันของสัตว์ปีกที่ลดลงมีความเชื่อมโยงกับโรคระบาดจากสัตว์สู่คน รวมถึงไข้หวัดนกซึ่งการระบาดในหลายประเทศก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เช่น บราซิล และยังมีรายงานผู้เสียชีวิตล่าสุดในกัมพูชา ไก่ที่มีชีวิตอยู่ในกรงสัมผัสกับมูลไก่และไก่ที่ตายเน่าเปื่อยตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดการแพร่พันธุ์ของแบคทีเรียชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อซัลโมเนลลา(Salmonella) ที่สามารถปนเปื้อนในไข่ได้ ในด้านสิ่งแวดล้อม ฟาร์มขนาดใหญ่เหล่านี้ปล่อยของเสียปริมาณมาก ทั้งน้ำเสียและก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ภาคปศุสัตว์ยังเป็นแหล่งกำเนิดแอมโมเนียจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำคัญของการก่อตัวของฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อผลิตอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลือง และการเผาตอซังพืช ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5
การเปลี่ยนผ่านของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ
การเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับที่มาของอาหารมากขึ้น หลายคนหันมารับประทานอาหารจากพืช (plant-based) และสนับสนุนสินค้าที่มีจริยธรรม ในภาคธุรกิจเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วปัจจุบันมีบริษัทกว่า 2,600 แห่งทั่วโลก ที่ประกาศเลิกใช้ไข่จากระบบกรงตับ แม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะยังไม่ก้าวหน้าเท่าหลายประเทศเช่น ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ หรือภูฏาน ที่ภาครัฐประกาศยกเลิกระบบกรง 100% ไปแล้ว แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงก็ได้ก่อตัวขึ้นทั้งจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจในประเทศ
ปัจจุบันมีบริษัทในประเทศไทยถึง 88 แห่งที่ประกาศนโยบายไข่ไก่ปลอดกรง (cage-free) อาทิZen Corporation Group, Minor Food, Minor Hotels, และ Sukishi Intergroup นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจระดับนานาชาติชั้นนำที่ดำเนินงานในไทยก็กำลังดำเนินการในทิศทางเดียวกัน และล่าสุดONYX Hospitality Group บริษัทบริหารจัดการโรงแรม รีสอร์ต และเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ แถวหน้าของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนมาใช้ไข่ไก่ปลอดกรง 100%
ขณะเดียวกัน ฟาร์มเลี้ยงไก่ในไทยหลายแห่งต่างหันมาใช้ระบบเลี้ยงแบบไม่ขังกรงเพิ่มขึ้น เช่นสงวนฟาร์ม และแสงทองสหฟาร์ม รวมถึงผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง CP และ Betagro ก็เริ่มปรับตัวให้มีสัดส่วนของไข่ไก่ปลอดกรง นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าบางแห่งได้เริ่มนำไข่ไก่ปลอดกรงมาวางจำหน่าย เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภค ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีของการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทอีกจำนวนไม่น้อยที่เคยให้คำมั่นสัญญาด้วยการประกาศนโยบายไข่ไก่ปลอดกรง แต่ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้ากับสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ Inspire Brands (ผู้บริหาร Dunkin' และ Baskin-Robbins), โรงแรมในเครือ Chatrium, IHG และ Marriott ซึ่งซิเนอร์เจีย แอนนิมอลไม่ได้เพียงเฝ้ารอ แต่ได้ลุกขึ้นจัดแคมเปญรณรงค์รวมถึงการส่งสาส์นถึงบริษัทผ่านงานนิทรรศการในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม ในขณะที่บางบริษัทได้มีความมุ่งมั่นที่จะทำตามคำมั่นสัญญา อย่าง IKEA ที่ได้รายงานความคืบหน้าว่าบริษัทใช้ไข่เปลือกที่ได้รับการรับรองว่าเป็นไข่ไร้กรง 100% จากฟาร์มในท้องถิ่นที่แม่ไก่มาจากการเลี้ยงแบบไม่ขังกรง และกำลังร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทยเพื่อจัดหาไข่ไก่เหลวจากไก่ในระบบปลอดกรง เพื่อทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริงในอนาคต
บทบาทของซิเนอร์เจีย แอนนิมอล
ในฐานะองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ซิเนอร์เจียแอนนิมอล มุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตร ตลอดจนภาคธุรกิจและภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไข่ไก่ปลอดกรง องค์กรทำงานด้านการรณรงค์ควบคู่ไปกับการสื่อสารสาธารณะอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการจัดเก็บรายชื่อผู้สนับสนุนผ่านเว็บไซต์ เพื่อขยายฐานการรับรู้และความร่วมมือ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ตรวจสอบความคืบหน้าของบริษัทต่างๆ ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเลิกใช้ไข่จากระบบกรง พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลความล่าช้าให้สาธารณะได้รับทราบ
“เราเชื่อมั่นว่า หากทุกคนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและได้เห็นภาพจริงของระบบอุตสาหกรรมสัตว์ จะเกิดพลังในการเลือกและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้จริง ด้วยเหตุนี้นิทรรศการ "เบื้องหลังความโหดร้ายในอุตสาหกรรมไข่" จึงถูกจัดขึ้นเพื่อเปิดเผยความจริงที่ซ่อนอยู่ กระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ และสร้างคำถามเกี่ยวกับทางเลือกที่ดีกว่าในการบริโภค นอกจากนี้ ซิเนอร์เจีย แอนนิมอลยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ภาคการเงินยุติการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ทำร้ายสัตว์” ศนีกานต์ กล่าว
ทำไมต้อง “ไก่”?
คุณศนีกานต์ เน้นย้ำอย่างหนักแน่นถึงความสำคัญของแม่ไก่ในฐานะสัตว์ฟาร์มที่มีจำนวนมหาศาลที่สุดในโลก ทว่ากลับถูกละเลยมากที่สุดเช่นกัน ด้วยจำนวนไก่ในประเทศไทยเกือบ 95 ล้านตัว และการที่ไข่ถูกใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารเกือบทุกชนิด ทำให้การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพอันยิ่งใหญ่ ที่จะขับเคลื่อนระบบอาหารทั้งหมดให้ก้าวไปสู่ทิศทางที่มีจริยธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง
การประเมินผลแคมเปญขับเคลื่อนทางสังคม: มิติเชิงปริมาณและคุณภาพ
การประเมินผลของแคมเปญขับเคลื่อนทางสังคมของซิเนอร์เจีย แอนนิมอลนั้น ดำเนินการอย่างรอบด้าน ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อวัดผลสำเร็จของการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง ในเชิงปริมาณ: เราพิจารณาจากจำนวนบริษัทที่ประกาศนโยบายเลิกใช้ไข่จากระบบกรงตับและหันมาใช้ไข่ไก่ cage-free ยอดผู้สนับสนุนแคมเปญ ยอดการแชร์ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์การเข้าถึงของสื่อมวลชน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เห็นได้อย่างชัดเจน ในเชิงคุณภาพ: เราดูจากรายงานความคืบหน้าของบริษัทที่ประกาศนโยบายไปแล้วว่ามีความคืบหน้าในทางปฏิบัติจริงไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ และได้ทำตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาหรือไม่ และเรายังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับทัศนคติของสังคม การรับรู้ประเด็นในวงกว้างและการก่อกำเนิดบทสนทนาใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องความเป็นธรรมในระบบอาหาร การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ก้าวที่ยั่งยืนในระยะยาว
บทบาทของผู้หญิงในงานขับเคลื่อนสังคม
คุณศนีกานต์ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในงานขับเคลื่อนสังคม โดยกล่าวว่า "ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ต่างก็สามารถทำงานรณรงค์และขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมได้เช่นเดียวกัน"
อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้หญิง เธอมองว่ามีข้อท้าทายเฉพาะตัว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องลงพื้นที่รณรงค์ ซึ่งอาจเผชิญกับความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการต้อนรับ แต่ในอีกด้านหนึ่ง "ความเข้าอกเข้าใจ" และ "การสื่อสารอย่างมีเมตตา" กลับกลายเป็นหัวใจสำคัญและเป็นจุดแข็งที่ช่วยให้การขับเคลื่อนประเด็นที่ละเอียดอ่อนและท้าทายเช่นนี้ประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น
เป้าหมายในอนาคต
คุณศนีกานต์ เผยถึงเป้าหมายอันชัดเจนขององค์กรว่า "เป้าหมายของเราคือการยกระดับระบบไข่ไร้กรงให้เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมไข่ไก่ การยุติระบบกรงตับให้หมดไป และในระยะยาว เราหวังจะเห็นระบบอาหารที่มีความเมตตาโปร่งใส และยั่งยืนมากขึ้น" เธอย้ำว่า แคมเปญนี้มิใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นเพียง"ก้าวแรก" ในการสร้างความเข้าใจด้านสวัสดิภาพสัตว์ โดยหากประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเด็นไก่ไข่แล้ว ซิเนอร์เจีย แอนนิมอลก็มีแผนที่จะขยายขอบเขตการทำงานไปสู่สัตว์ฟาร์มชนิดอื่น ๆ ต่อไป
สำหรับผู้ชมและผู้บริโภคที่ต้องการมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ง่ายที่สุดคือการเริ่มต้นจากการหันมาลองบริโภคอาหารจากพืช (plant-based) หรือการส่งเสียงถึงแบรนด์ต่างๆ ให้หันมาใช้ไข่ไก่จากระบบที่ไม่ขังกรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนหรือสมัครเป็นอาสาสมัครกับซิเนอร์เจีย แอนนิมอลเพื่อมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย
"และเป้าหมายสูงสุดคือ อยากเห็นประเทศไทยมีระบบอาหารที่ยั่งยืน และมีการใช้ไข่ไก่ปลอดกรงแบบ 100%" คุณศนีกานต์ทิ้งท้าย พร้อมเชิญชวนให้ผู้ชมไม่หยุดเพียงแค่การรับรู้ แต่ร่วมแบ่งปันเรื่องราวนี้กับคนรอบข้าง เพื่อขยายพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO